xs
xsm
sm
md
lg

แจง กม.คุมยาสูบฉบับใหม่ ไม่กระทบชาวไร่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิชาการแจงยิบ กม.คุมยาสูบฉบับใหม่ ไม่กระทบชาวไร่ยาสูบ เหตุส่วนใหญ่ผลิตส่งออกนอก ขายต่อโรงงานยาสูบแค่ 35% ชี้หากกระทบกับรายได้ เพราะโรงงานยาสูบเสียส่วนแบ่งการตลาดให้บุหรี่นอก ต้องลดทุนสู้ หันซื้อใบยาสูบจากแหล่งผลิตราคาถูกกว่าไทย

 
ผศ.ดร.ลักขณา เติมศิริกุลชัย ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนากำลังคนด้านควบคุมยาสูบ และรองประธานสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ กล่าวว่า ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของสภา แต่มีกลุ่มชาวไร่ยาสูบออกมาคัดค้านว่าได้รับความเดือดร้อน โดยอ้างว่ากฎหมายจะทำให้คนไทยสูบบุหรี่น้อยลง จนใบยาที่ปลูกไว้ไม่สามารถขายได้ ซึ่งข้อเท็จจริงแล้ว จากข้อมูลกระทรวงการคลัง พบว่า ในฤดูการผลิตปี 2552 - 2553 ประเทศไทยมีชาวไร่ ยาสูบ 61,058 ราย ผลิตใบยาได้ 62,448,781 กิโลกรัม โดยร้อยละ 64.8 เป็นใบยาสำหรับส่งออก และร้อยละ 35.2 รับซื้อโดยโรงงานยาสูบไทยจะเห็นว่า 2 ใน 3 ของผลผลิตใบยาสูบไทย เป็นผลผลิตสำหรับส่งออก ปัจจัยที่จะกระทบกับรายได้ของชาวไร่ยาสูบจะมาจากกลไกการตลาดโลกเป็นหลัก ส่วนความต้องการใบยาสูบของชาวไร่ จะกระทบต่อเมื่อสัดส่วนการนำเข้าบุหรี่ต่างประเทศมีมากกว่าความต้องการของบุหรี่จากโรงงานยาสูบ

ผศ.ดร.ลักขณา กล่าวว่า จากสถิติพบว่าจำนวนคนไทยสูบบุหรี่ลดลงจาก 12.2 ล้านคน ในปี 2534 เหลือ 10.77 ล้านคน ในปี 2556 ขณะที่ยอดจำหน่ายบุหรี่ซิกาแรตในปี 2534 เท่ากับ 1,942 ล้านซอง และ ในปี 2556 เพิ่มขึ้นเป็น 2,172 ล้านซอง หรือเฉลี่ยเท่ากับ 2,000 ล้านซองต่อปี ส่วนโรงงานยาสูบเสียส่วนแบ่งตลาดให้บริษัทบุหรี่ต่างประเทศ จากที่เคยครองตลาดในประเทศ 100% ในปี 2534 เหลือประมาณ 75% ในปี 2556 ​ข้อมูลดังกล่าวเป็นหลักฐานยืนยันว่า ช่วง 23 ปีที่มีการรณรงค์ควบคุมยาสูบจึงไม่ใช่ปัจจัยที่จะส่งผลต่ออาชีพชาวไร่ยาสูบไทย ส่วนยาสูบไทยในส่วนที่รับซื้อโดยโรงงานยาสูบลดลง เพราะโรงงานยาสูบไทยเสียส่วนแบ่งตลาดบุหรี่ให้แก่บริษัทบุหรี่ต่างประเทศ

"​ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อชาวไร่ยาสูบไทยในอนาคต น่าจะประกอบด้วย 1. โรงงานยาสูบไทยเสียส่วนแบ่งการตลาดบุหรี่ต่างประเทศมากขึ้น 2. ต้นทุนการผลิตใบยาสูบในประเทศสูงขึ้นมากกว่าประเทศอื่นๆ ทำให้การส่งออกลดลงตามกลไกการตลาด 3. โรงงานยาสูบไทยหันไปซื้อใบยาสูบจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีราคาถูกกว่าเพื่อลดต้นทุน เพื่อความอยู่รอดในการแข่งขันกับบุหรี่ต่างประเทศ 4. แนวโน้มทั่วโลก โดยประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้น จำนวนชาวไร่ยาสูบจะลดลง เนื่องจากต้นทุนที่สูงขึ้น ทำให้บริษัทผู้ผลิตหันไปซื้อใบยาจากแหล่งที่ถูกกว่า การปลูกยาสูบจึงถูกย้ายไปสู่ประเทศที่ยากจนกว่า การออก พ.ร.บ.​ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ จึงไม่มีส่วนที่เกี่ยวกับการทำไร่ การบ่มใบยาและการค้าใบยาสูบ แต่เป็นการออกเพื่อป้องปกเยาวชน และสุขภาพประชาชนเท่านั้น” ผศ.ดร.ลักขณา กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น