xs
xsm
sm
md
lg

หมอแจง พิษกลูตาไธโอนไม่ทำผิวหนังอักเสบทั่วตัว คาดสาเหตุอื่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หมอยันผู้ป่วยผิวหนังอักเสบ เกิดแผลคล้ายปานดำทั่วตัวไม่น่าเกิดจากการกิน “กลูตาไธโอน” เหตุชนิดกินดูดซึมยาก ไม่เกิดอันตราย ระบุแบบฉีดร้ายแรงกว่า เสี่ยงทำลายจอประสาทตา คาดเกิดจากสาเหตุอื่น

นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ รองผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีผู้ป่วยคล้ายโรคผิวหนังอักเสบรุนแรงเปิดเผยต่อสื่อว่า เกิดจากการกินกลูตาไธโอน ว่า อาการแพ้หรือผลข้างเคียงจากการรับประทานกลูตาไธโอนเกินขนาดพบได้น้อยมาก เนื่องจากคุณสมบัติของกลูตาไธโอนแบบชนิดรับประทานที่เป็นอาหารเสริม มีการดูดซึมในร่างกายได้ยาก อีกทั้งกลูตาไธโอนจัดเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่ร่างกายสามารถสังเคราะห์ได้ การรับประทานโดยปกติจะมีแพทย์กำหนดควบคุม อาการแพ้ที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยรายนี้เชื่อว่าน่าจะมาจากสาเหตุอื่น ไม่น่าใช่จากกลูตาไธโอนที่เป็นอาหารเสริมรับประทาน

ในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ตามร้านสะดวกซื้อจะพบการซื้อขายกลูตาไธโอน ที่เป็นชนิดแบบรับประทานเป็นเรื่องปกติ บางยี่ห้อมีการกำหนดให้รับประทานจำนวนมากถึง 9 เม็ด ซึ่งขึ้นอยู่กับขนาดของตัวยาด้วย สิ่งที่เป็นอันตรายคือกูลตาไธโอนชนิดฉีด เพราะมีฤทธิ์ดูดซึมได้รวดเร็วกว่าการรับประทาน หากฉีดเข้าร่างกายในปริมาณที่มากเกินที่กำหนด ความหวังที่จะมีผิวขาวขึ้น ยับยั้งการทำงานของเม็ดสี ทำให้ผิวขาว ยังอาจส่งผลให้การมองเห็นเม็ดสีของดวงตา มีความผิดเพี้ยน เสี่ยงเกิดอันตรายต่อจอประสาทตา” รอง ผอ.สถาบันโรคผิวหนัง กล่าว

นพ.จินดา กล่าวว่า การนำเข้าและรับรองกลูตาไธโอนในไทย อย. ดูแลควบคุมเฉพาะชนิดรับประทาน หรืออาหารเสริมเท่านั้น ส่วนแบบฉีดห้ามมิให้มีการนำเข้าเด็ดขาด ที่พบเห็นแบบฉีดในปัจจุบันนี้เป็นของที่ผิดกฎหมาย โดยกลูตาไธโอนชนิดฉีดในวงการแพทย์จะใช้ในการรักษาอาการของโรคตับ เพื่อช่วยในการขับของเสียของจากร่างกายเท่านั้น แต่หากได้รับมากเกินไปก็ส่งผลเสียได้เช่นกันเกิดสารอนุมูลอิสระ ส่วนในผู้ป่วยรายนี้เชื่อว่า อาจมีอาการข้างเคียง หรือโรคอื่น และจะต้องมีการตรวจชิ้นเนื้อด้วย เพื่อทราบสาเหตุของการเกิดโรคที่แน่ชัด

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น