xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมยังไม่ยอมวิจัยเรื่อง การกดนวดตาเพื่อรักษาโรคต้อหินเรื้อรังและจอประสาทตาเสื่อม !? (ตอนที่ 4)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ภายหลังจาก นพ.เทวัญ ธานีรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักแพทย์ทางเลือก และ พญ.วิลาวัณย์ จึงประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาแพทย์แผนไทยในขณะนั้น ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง และเชิญ นพ.สมเกียรติ และผู้ป่วยที่เคยรับการรักษาด้วยการนวดตาเข้าไปให้ข้อมูล จนได้ข้อมูลข้อเท็จจริงทั้งหมด จึงเป็นจุดเริ่มต้นครั้งใหม่ที่ นพ.สมเกียรติ อธิคมกุลชัย จะได้มีโอกาสเข้าไปนำเสนอวิธีการรักษาด้วยวิธีการนวดตาแก่ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทยเป็นครั้งแรก หลังความพยายามมาอย่างยาวนานกว่า 7 ปี

กระแสตอบรับของผู้ป่วยโรคต้อหินเรื้อรังและโรคจอประสาทตาเสื่อมได้ผลดีขึ้นจากเทคนิคการนวดตานั้น ทำให้ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทยไม่สามารถปกปิดเรื่องนี้ต่อไปได้แล้ว จึงได้เชิญประชุมร่วมเพื่อแก้ไขปัญหานี้ ในช่วงต้นเดือนเมษายน พ.ศ. 2554

การประชุมในครั้งนั้นประกอบไปด้วย ผู้อำนวยการสำนักแพทย์ทางเลือก คณะผู้แทนแพทยสภา ผู้อำนวยการกองประกอบโรคศิลปะ ผู้ป่วยโรคต้อหินที่รักษาด้วยการนวดตา (นพ.เอกชัย จุละจาริตต์ อดีตผู้อำนวจการศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางกายแพทย์แห่งชาติ) และ นพ.สมเกียรติ อธิคมกุลชัย ซึ่งประธานราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทยได้ขอให้ทุกฝ่ายหยุดให้สัมภาษณ์ และได้ถามความประสงค์ของ นพ.สมเกียรติ อธิคมกุลชัย ในฐานะผู้คิดค้นเทคนิกการนวดตาเพื่อรักษาโรคต้อหินและจอประสาทตาเสื่อม และสำนักแพทย์ทางเลือกว่าต้องการอะไร

ซึ่งนพ.สมเกียรติ ยังคงยืนยันเหมือน 7 ปีที่ผ่านมาว่าต้องการให้ทางราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ทำการวิจัยยืนยันผลเพื่อพิสูจน์ว่าการนวดตามีประโยชน์หรือมีโทษต่อผู้ป่วย ซึ่งผลปรากฏว่าประธานราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทยได้รับข้อตกลง แต่ นพ.ปริญญ์ โรจนพงศ์พันธุ์ ประธานฝ่ายวิชาการในเวลานั้น ซึ่งเป็นจักษุแพทย์ทางด้านต้อหินได้ต่อรองให้ทำวิจัยโรคจอประสาทตาเสื่อม (RP) ก่อน และยังไม่ให้วิจัยโรคต้อหิน !!!


ไม่มีใครให้เหตุผลที่แท้จริงได้ว่าทำไมจึงเลือกให้ทำวิจัยเรื่องโรคจอประสาทตาเสื่อมก่อน และยังไม่ให้วิจัยโรคต้อหิน?

แต่ในมุมของผลประโยชน์แล้วเป็นที่ทราบกันในวงการจักษุแพทย์ว่าการรักษาโรคต้อหินคือกล่องดวงใจที่สำคัญ และนำไปสู่การแสวงหาผลประโยชน์มหาศาลจากการผ่าตัดโรคต้อกระจกอีกทอดหนึ่ง ดังนั้นหากสมมุติว่ามีวิธีการนวดตาแล้วรักษาโรคต้อหินเรื้อรังได้อย่างเรียบง่ายและราคาไม่แพง คนป่วยพึ่งพาตนเองได้ ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ในวงการจักษุแพทย์ได้ใช่หรือไม่?

แต่ปัญหาสำคัญที่สุดในการประชุมครั้งนั้นคือ "สถาบันใดจะเสนอทำวิจัยโรคนี้ ?" ปรากฏว่าในที่ประชุมต่างเงียบและวางเฉยรวมถึงกลุ่มโรงเรียนแพทย์ จนคุณหมอปานเนตร ปางพุฒิพงศ์ ได้เสนอตัวให้ โรงพยาบาล เมตตาประชารักษ์ (โรงพยาลวัดไร่ขิง) กรมการแพทย์ เป็นสถาบันที่จะทำวิจัยพิสูจน์ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ เนื่องจากทางโรงพยาลวัดไร่ขิง ได้รับมอบหมายจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ให้สึกษาการผ่าตัดฝังชิพช่วยเหลือผู้ป่วยโรคจอประสาทตาเสื่อม (RP) ที่บอดสนิดแล้ว

แต่กระบวนการวิจัยหลังจากการประชุมดังกล่าวก็ไม่ได้รับความร่วมมือหรือมีความคืบหน้าอย่างจริงจังจากทุกภาคส่วน งานวิจัยจึงยังไม่ก้าวหน้า และเมื่อเวลาก็ได้ล่วงเลยมาปีเศษ นพ.สมเกียรติ อธิคมกุลชัย ได้รับคำแนะนำจากผู้ป่วยโรคต้อหินเรื้อรังท่านหนึ่งคือ นายสหัส พุกกะมาน ที่ปรึกษาสำนักพระราชวัง ให้ทำหนังสือถึงคุณหญิงอารยา พิบูลนครินทร์ ราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และนายสหัส พุกกะมาน ก็ได้นำจดหมายส่งให้คุณหญิงอารยาด้วยตัวเอง โดยหนังสือดังกล่าวลงวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2555 และในหนังสือดังกล่าวยังคงระบุรายชื่อผู้ป่วยพร้อมเบอร์โทรศัพท์มือถือให้ทำการตรวจสอบผู้ป่วยที่มีอาการดีขึ้นจากการนวดตาหลายคน โดยความตอนหนึ่งในจดหมายมีใจความตอนหนึ่งว่า:

"ข้าพเจ้าได้ทราบข่าวว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ได้เคยรับสั่งให้หน่วยงาน สวทช.พัฒนาวิจัยชิพขึ้นมา เพื่อให้โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ทำการศึกษาวิธีผ่าตัดฝังชิพดังกล่าวให้แก่ผู้ป่วยที่ตาบอดสนิทแล้วจากโรคจอประสาทตาเสื่อมอาร์พี นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่ผู้ป่วยโรคอาร์พีที่ตาบอดสนิทแล้วทั้งสองตาเป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตามเมื่อมีการค้นพบเทคนิคการนวดตาที่สามารถหยุดการดำเนินโรคได้แน่นอนแล้วในประเทศไทย ข้าพเจ้าใคร่ขอเสนอความคิดเห็นว่า ควรจะมีการประชาสัมพันธ์ข้อมูลของโรคนี้ให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบ เพื่อสนับสุนการค้นหาผู้ป่วยรายใหม่และช่วยเหลือผู้ป่วยรายเก่าที่ตายังไม่บอด ให้เข้าถึงการรักษาด้วยเทคนิกการนวดตา ก็จะทำให้ไม่มีผู้ป่วยตาบอดรายใหม่จากโรคนี้อีกต่อไป"

ต่อมาคุณหญิงอารยา พิบูลนครินทร์ ราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ส่งจดหมายสอบถามข้อเท็จจริงและความคืบหน้าในการวิจัยไปยังกระทรวงสาธารณสุขเพื่อติดตามผล ถึง 2 ฉบับ

โดยฉบับแรกเป็นหนังสือเลขที่ รล ๐๐๑๐/๘๗๙๕ ลงวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2555 จากคุณหญิงอารยา พิบูลนครินทร์ ราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นำเรียน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยเนื้อความในจดหมายระบุว่า :

"ด้วยนายแพทย์สมเกียรติ อธิคมกุลชัย จักษุแพทย์ประจำโรงพยาบาลเอกชัย ตำบลโคกขาม อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร มีหนังสือขอให้นำความกราบบังคมทูลสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขอพระราชทานพระราชวินิจฉัยเรื่องการรักษาผู้ป่วยโรคต้อหินเรื้อรังด้วยเทคนิคการนวดตา ซึ่งนายแพทย์สมเกียรติ เป็นผู้ค้นพบ โดยเทคนิคดังกล่าวสามารถช่วยเหลือโรคต้อหินให้ผู้ป่วยโรคต้อหินรักษาด้วยวิธีที่มีความสุข รอดพ้นจากการพิการตาบอด และจากผลสำเร็จในการคิดค้นดังกล่าว ได้นำไปสู่การคิดค้นต่อยอดเพื่อรักษาผู้ป่วยโรคจอประสาทตาอุดตัน โรคเส้นเลือดแดงจอประสาทตาอุดอัน โรคไมเกรน และโรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีก จึงมีความห็นว่าควรจะผลักดันเทคนิคการนวดตาให้แพร่หลายเพราะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งทั้งในด้านการรักษา การป้องกัน การส่งเสริมสุขภาพและฟื้นฟูดวงตาแก่ผู้ป่วยด้วยโรคดังกล่าว แต่นายแพทย์สมเกียรติฯไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะประชาสัมพันธ์เทคนิคการนวดตาให้เป็นที่แพร่หลายได้ ดังความละเอียดสำเนาหนังสือที่แนบมาพร้อมนี้

จึงเรียนมาเพื่อขอได้โปรดพิจารณาข้อเท็จจริง และดำเนินการพิสูจน์ข้อเท็จจจริงว่าเป็นไปได้หรือไม่ ทั้งนี้หากมีความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะประการใด กรุณาแจ้งให้ทราบด้วย จักขอบคุณยิ่ง เพื่อจะได้นำความกราบบังคมทูลประกอบพระราชวินิจฉัยต่อไป"


เวลาผ่านไปอีก 7 เดือน คุณหญิงอารยา พิบูลนครินทร์ ราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ภายหลังไม่ได้มีความคืบหน้าเรื่องการพิสูจน์ข้อเท็จจริง จึงได้ทำหนังสือเลขที่ รล๐๐๑๐/๓๙๐๐ ลงวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 นำเรียนปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นครั้งที่ 2 ความว่า :

"ตามหนังสือที่อ้างถึง ขอให้กระทรวงสาธารณสุขพิจารณาสอบข้อเท็จจริง กรณีนายแพทย์สมเกียรติ อธิคมกุลชัย จักษุแพทย์ประจำโรงพยาบาลเอกชัย ตำบลโคกขาม อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร มีหนังสือขอให้นำความกราบบังคมทูล สมเด็จพระเทพรันตนราชสุดาฯ สบามบรมราชกุมารี ขอพระราชทานวินิจฉัยเรื่องการรักษาผู้ป่วยโรคต้อหินเรื้อรังด้วยเทคนิกการนวดตา โดยเทคนิคดังกล่าวสามารถช่วยเหลือให้ผู้ป่วยด้วยโรคต้อหินเรื้อรังด้วยเทคนิคการนวดตา โดยเทคนิคกดังกล่าวสามารถช่วยเหลือให้ผู้ป่วยด้วยโรคต้อหินรักษาด้วยวิธีที่มีความสุข รอดพ้นจากการพิการตาบอดและสามารถนำไปคิดค้นต่อยอดเพื่อรักษาผู้ป่วยโรคจอประสาทตาเสื่อมอาร์พี โรคศูนย์กลางจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ โรคศูนย์กลางจอตาบวมน้ำ โรคเส้นเลือดดำจอประสาทตาอุดตัน โรคเส้นเลือดแดงจอประสาทตาอุดตัน โรคไมเกรน และโรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีกความแจ้งอยู่แล้วนั้น

บัดนี้เวลาได้ล่วงเลยมาพอสมควรแล้ว กองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ยังมิได้รับทราบผลการพิจารณาสอบข้อเท็จจริง เพื่อกราบบังคมทูลทราบฝ่าละอองพระบาท

จึงเรียนมาเพื่อขอได้โปรดเร่งรัดในการพิจารณาสอบข้อเท็จจริง หรือหากช่วยเหลือราษฎรแล้วประการใด กรุณาแจ้งให้ทราบด้วย จักขอบคุณยิ่ง เพื่อจะได้นำความกราบบังคมทูลประกอบพระราชวินิจฉัยต่อไป"


แต่เวลาได้ผ่านไป 10 ปีแล้ว ความพยายามในการให้มีการวิจัยเพื่อพิสูจน์เรื่องการนวดตาว่าช่วยเหลือโรคต้อหินเรื้อรังและโรคจอประสาทตาเสื่อมว่าได้ผลหรือไม่ ก็ยังไม่คืบหน้าแต่ประการใด?


กำลังโหลดความคิดเห็น