ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
มีบางท่านที่อาจไม่เข้าใจว่าทำไมถ้าการนวดรักษาโรคต้อหินทำได้จริง ทำไม นพ.สมเกียรติ อธิคมกุลชัย จักษุแพทย์ผู้คิดค้นวิธีดังกล่าวจึงไม่ทำวิจัยเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงเหล่านั้นด้วยตัวเอง?
แม้ว่าในความจริงแล้วจะมีผู้ป่วยโรคต้อหินเรื้อรังมีอาการดีขึ้น และบางรายซึ่งตาบอดไปแล้วกลับมามองเห็นได้ แต่นั่นก็อยู่ในระดับ "เบาะแสที่มีผู้ป่วยหายจริง" เพื่อที่จะนำไปสู่งานวิจัย เพราะถ้าจะทำงานวิจัยแล้วจะต้องมีสถาบันรองรับ ที่ต้องมีความพร้อมทั้งทางเครื่องมือ อุปกรณ์ และเงินทุนวิจัย นั่นน่าจะเป็นเหตุผลถึงข้อสงสัยว่าเหตุใด นพ.สมเกียรติ อธิคมกุลชัย จึงได้เรียกร้องให้ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทยทำการวิจัยเพื่อพิสูจน์ความจริงในเรื่องนี้ว่าเป็นอย่างไร?
แม้ข้อเสนอของ นพ.สมเกียรติ อธิคมกุลชัย ที่ร่วมเสนอกับ โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) จะถูกปฏิเสธโดยคณะกรรมการพิจารณาอนุมัติโครงการวิจัย ของกรมการแพทย์ว่า
"ทุกวันนี้โรคต้อหินเรื้อรังสามารถรักษาได้ดีอยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องทำวิจัย"
แม้ นพ.สมเกียรติ อธิคมกุลชัย จะได้โต้แย้งในประเด็นนี้ว่า "การรักษาทุกวันนี้ แม้ผู้ป่วยจะรับการรักษาตามระบบแล้วก็ตาม ก็ยังคงมีผู้ป่วยตาบอดอย่างน้อย 10%" แต่คำโต้แย้งนี้ก็ไม่สามารถทำให้คณะกรรมการพิจารณาโครงการนี้อนุมัติได้
อย่างไรก็ตามความพยายามในการพิสูจน์ด้วยการวิจัยของ นพ.สมเกียรติ อธิคมกุลชัย ในครั้งที่ 2 ยังคงเดินหน้าต่อไป เกิดขึ้นในขณะที่ประชุมนอกสถานที่ของผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุข โดยมี นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธานในที่ประชุม และมีตัวแทนผู้ป่วย 3 ราย เข้าให้ข้อมูลผลการรักษาโรคต้อหินเรื้อรังด้วยการนวดตา โดย 2 ใน 3 เป็นแพทย์ที่ป่วยด้วยโรคต้อหินเรื้อรัง และ 1 ใน 2 รายนั้น ตาบอดไปแล้ว 1 ข้าง
ผลของการประชุม นพ.ประเวศ วะสี จึงได้แนะให้ "โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ" (Health Intervention and Technology Assessment Program) หรือเรียกสั้นๆว่า HITAP ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยภายใต้สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการประเมินประสิทธิผลของการรักษาโรคต้อหินดังกล่าว โดยเมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2550 ดร.นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ หัวหน้าโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ ทำหนังสือประธานราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย เพื่อขอเรียนเชิญราชวิทยาลัยจักษุแพทย์พิจารณาส่งผู้แทนเพื่อเข้าร่วมเป็นกรรมการและนักวิจัยในการศึกษาประสิทธิผลของการรักษาโรคต้อหินด้วยวิธีการนวดตา
แต่ผลที่ได้รับก็คือราชวิทยาลัยจักษุแพทย์ได้ปฏิเสธความร่วมมือ จึงไม่สามารถเดินหน้าวิจัยเพื่อพิสูจน์ความจริงในเรื่องนี้ได้ต่อไป
ความพยายามครั้งที่ 3 นพ.สมเกียรติ จึงได้นำตัวแทนผู้ป่วยโรคต้อหินและโรคจอประสาทเสื่อม จำนวน 6 คน เข้าพบ ศาสตราจารย์ คลินิก นายแพทย์อภิชาติ สิงคาลวณิช หัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยา ศิริราชพยาบาล เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2552 โดยผู้ป่วยหนึ่งรายคือ คุณกาญจนา ปานข่อยงาม เป็นรองเลขาธิการสภาวิจัยแห่งชาติ ได้กล่าวร้องขอให้ อาจารย์อภิชาติ สิงคาลวณิช ให้ช่วยดำเนินการวิจัยพิสูจน์คุณประโยชน์ของการนวดตา เพื่อให้สามารถนำไปช่วยเหลือผู้ป่วยอื่นๆที่ยังรองความหวังว่าจะมีวิธีการรักษาใหม่ ที่จะช่วยผู้ป่วยเหล่านั้นไม่ให้ตาบอด ซึ่งอาจารย์อภิชาติแจ้งว่าต้องปรึกษาและขอความเห็นจากคณาจารย์ในภาควิชาดูก่อน
ด้วยเหตุผลนี้ นพ.สมเกียรติ อธิคมกุลชัย จึงได้ยื่นจดหมายร้องต่อเหล่าคณาจารย์ภาควิชาจักษุวิทยา ศิริราชพยาบาล โดย นพ.สมเกียรติ ได้แจ้งรายชื่อบุคคลต่างๆพร้อมเบอร์โทรศัพท์มือถือ ที่ได้รับผลการรักษาด้วยวิธีการนวดตาหลายคน หลายอาชีพ เช่น นักเทคนิกการแพทย์ ครู เด็ก ฯลฯ โดยได้ขอร้องแทนผู้ป่วยโรคจอประสาทตาเสื่อมทั่วโลก ขอให้เหล่าคณาจารย์ในภาควิชาจักษุวิทยา ศิริราชพยาบาล ได้โปรดรับพิจารณาที่จะพิสูจน์ข้อเท็จจริงเหล่านี้ให้กระจ่าง
แต่เรื่องการร้องขอก็จบลงด้วยความเงียบและวังเวงต่อไป !!!
แต่ นพ.สมเกียรติ ได้เดินหน้าทำหนังสือเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2553ถึง ศาสตราจารย์ นายแพทย์ สมศักดิ์ โล่เลขา เลขาธิการแพทยสภาในขณะนั้น แต่ผลปรากฏว่า ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่เลขา ก็ได้แต่เพียงโทรศัพท์มาคุยด้วย โดยแจ้งว่าไม่สามารถก้าวล่วงราชวิทยาลัยจักษุแพทย์ที่เป็นองค์กรทางกฎหมายและมีอำนาจเบ็ดเสร็จ สามารถชี้ผิด ชี้ถูกในทุกเรื่องของการทำเวชปฏิบัติทางด้านจักษุวิทยา และนี่คือจุดสำคัญที่ทำให้จักษุแพทย์ส่วนใหญ่ ไม่มีใครกล้าให้ความร่วมมือในการทำวิจัยพิสูจน์ความจริงในเรื่องนี้
นพ.สมเกียรติ อธิคมกุลชัย จึงเปรียบเสมือนตัวประหลาดในวงการจักษุแพทย์ เพราะแม้แต่การทำงานก็แทบจะไม่มีที่ยืนในวงการจักษุแพทย์ แม้ว่าบ้านจะอยู่ที่กรุงเทพมทหานคร แต่โรงพยาบาลส่วนใหญ่ก็ไม่รับเข้าทำงานเพราะไม่ต้องการมีปัญหากับราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย จน นพ.สมเกียรติ ได้ออกไปทำงานที่โรงพยาบาลเอกชัย จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อสร้างฐานผู้ป่วยและดำเนนการคิดค้นต่อยอด จนในที่สุดประสบความสำเร็จในการรักษาโรคของระบบประสาทตาของผู้ป่วยจำนวนมาก
จนในที่สุดความสำเร็จในการช่วยเหลือไม่ให้คนตาบอดได้มีการพูดและเผยแพร่ไปถึงสื่อมวลชน จนผู้สื่อข่าวได้ไปสัมภาษณ์ นพ.ศักดิ์ชัย วงศ์กิตติรักษ์ ประธานราชวิทยาลัยจักษุแพทย์ในขณะนั้น ซึ่งได้ให้สัมภาษณ์ว่า:
"การนวดตายังไม่ได้ผ่านการวิจัยพิสูจน์ข้อเท็จจริง และห้ามผู้ป่วยโรคต้อหินกระทำการนวดตา เพราะจะทำให้ตาบอด"
นอกจากนี้ยังได้ส่งเรื่องให้กองการประกอบโรคศิลป์ดำเนินการเอาผิดฐานโฆษณาะอวดอ้างการรักษา และส่งเรื่องให้แพทยสภาพเอาผิดทางจริยธรรม ถึงกระนั้นทั้งสองหน่วยงานก็ยังไม่สามารถดำเนินการเอาผิดได้ น่าจะเป็นเพราะ 2 สาเหตุสำคัญ คือ ประการที่หนึ่งเป็นเรื่องที่สังคมต้องการทราบความเป็นจริง และประการที่สองแพทย์ที่มีใบประกอบโรคศิลปทุกคนสามารถใช้ศาสตร์การนวดกับผู้ป่วยได้อยู่แล้วตามกฎกระทรวงสาธารณสุขที่ลงนามโดย นายกร ทัพพะรังสี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
ต่อมาเมื่อผู้สื่อข่าวไปสัมภาษณ์นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งยังไม่ทราบข้อมูลแน่ชัด ได้สั่งการห้ามรักษาด้วยการนวดตา ทำให้เครือข่ายผู้ป่วยโรคจอประสาทตาเสื่อม รวมตัวประท้วงที่ตึกสำนักงานปลัดกระทรวงสาธาณสุข
นพ.เทวัญ ธานีรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักแพทย์ทางเลือก และ พญ.วิลาวัณย์ จึงประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาแพทย์แผนไทยในขณะนั้น ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง และเชิญ นพ.สมเกียรติ และผู้ป่วยที่เคยรับการรักษาด้วยการนวดตาเข้าไปให้ข้อมูล จนได้ข้อมูลข้อเท็จจริงทั้งหมด ก่อนนำเสนอให้แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จึงทำให้เรื่องนี้ยุติลง
เมื่อราชวิทยาลัยจักษุแพทย์ไม่สามารถปกปิดเรื่องนี้ต่อไปได้แล้ว จึงได้เชิญประชุมร่วมเพื่อแก้ไขปัญหานี้ ในช่วงต้นเดือนเมษายน พ.ศ. 2554 โดยได้เชิญผู้อำนวยการสำนักแพทย์ทางเลือก คณะผู้แทนแพทยสภา ผู้อำนวยการกองประกอบโรคศิลปะ ผู้ป่วยโรคต้อหินที่รักษาด้วยการนวดตา (นพ.เอกชัย จุละจาริตต์) และ นพ.สมเกียรติ อธิคมกุลชัย ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ได้วิธีการรักษาด้วยวิธีการนวดตาได้มีโอกาสเข้าไปให้ข้อมูลแก่ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย
แต่แม้จะเป็นความสำเร็จในการเข้าไปนำเสนอการนวดตาเพื่อรักษาโรคต้อหินเรื้อรังและโรคจอประสาทตาเสื่อมได้เป็นครั้งแรก แต่ก็ไม่ใช่ว่าอุปสรรคและขวากหนามจะจบลงเพียงเท่านี้