xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมยังไม่ยอมวิจัยเรื่อง การกดนวดตาเพื่อรักษาโรคต้อหินเรื้อรัง และจอประสาทตาเสื่อม (ตอนจบ) !?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ภายหลังบทความชุดนี้ได้ส่งไปยังถึงโรงพิมพ์ครบ 6 ตอน ก็ได้ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2557 นพ.ไพศาล ร่วมวิบูลย์สุข ประธานราชจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ได้กรุณาทำหนังสือเลขที่ รจท. 5/2558 เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงว่าเหตุใดงานวิจัยในเรื่องนี้ยังไม่คืบหน้า

อย่างไรก็แล้วแต่ข้อเท็จจริงเหล่านี้ในฐานะประชาชนและผู้ป่วยก็ควรจะได้รับข้อมูลรอบด้านเพื่อประกอบการตัดสินใจ

ประการแรก นพ.ไพศาล ร่วมวิบูลย์สุข ประธานราชจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ทำหนังสือออกเป็นหลายส่วน ส่วนแรกคือข้อเท็จจริงของการนวดตาเพื่อรักษาโรคต้อหินเรื้อรังและโรคจอประสาทตาเสื่อม เนื้อหากล่าวโดยสรุปคือ ประธานราชจักษุแพทย์แห่งประเทศไทยได้ตั้งคำถามถึงข้อสงสัยในเรื่องนี้ว่าวิธีการกดนี้เอามาจากไหน เช่น การกดเห็นแสงเพื่ออะไร การกด 2 นาทีครึ่งเพราะอะไร การกดมากกว่า 10 ครั้งเพราะอะไร กด 50 ครั้งกับ 200 ครั้งต่างกันอย่างไร กดกลางวันหรือกลางคืนต่างกันหรือไม่ และไม่เชื่อว่าการใช้คอมพิวเตอร์มีผลทำให้ต้อหินเพิ่มมากขึ้น เพราะความชุกและอุบัติการณ์ของโรคต้อหินยังคงเท่าเดิม และกล่าวว่าในทางจักษุวิทยาโรคจอประสาทตาเสื่อมที่เรียกว่า Retinitis Pigmentosa เป็นโรคทางพันธุกรรม ไม่เกี่ยวข้องกับการไหลเวียน

สำหรับข้อชี้แจงในเรื่องนี้ หากท่านผู้อ่านได้ติดตามมาอย่างต่อเนื่อง จะทราบว่าพื้นฐานสำคัญคือ

1. นพ.สมเกียรติ อธิคมกุลชัย เชื่อว่าเนื้อเยื่อของร่างกายของคนเราสามารถ Remodel ได้ การกดตาเป็นวิธีการเร่งระบายน้ำออกจากลูกตา โดยแรงกดจะไปถ่างช่องทางระบายน้ำออกจากลูกตา ทำให้ความดันในลูกตาลดลง และถ้ากดบ่อยๆนานๆเข้า ช่องทางระบายก็น่าจะขยายถาวร ความดันลูกตาก็จะลดลงถาวรได้เช่นกัน และผลการรักษาด้วยวิธีนี้ก็ได้ผลดังกล่าวจริงกับผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก

2.นพ.สมเกียรติ อธิคมกุลชัย ได้พิสูจน์โดยใช้ Magnifying Contact Lens พิสูจน์พบว่ามีเลือดแดงเข้ามาในขณะกดตา ซึ่งสอดคล้องกลับงานวิชาการของ ศาสตราจารย์โจเซฟ เฟลมเมอร์ ที่ศึกษา 30 กว่าปี ในงานวิจัยเรื่อง ต้อหินและระบบไหลเวียนเลือดของลูกตา และเขียนตำราเรื่องต้อหิน และระบุว่า ระบบไหลเวียนเลือดน่าจะเป็นสาเหตุสำคัญของโรคต้อหิน จึงเห็นว่าการกดนวดตามีพื้นฐานทางการแพทย์รองรับอยู่

3.นพ.สมเกียรติ อธิคมกุลชัย ได้ใช้วิธีการกดนวดตา โดยให้เห็นแสง 2 นาทีครึ่งต่อรอบ และทำมากกว่า 10 ครั้งต่อวัน นั้น ความจริงยังมีเงื่อนไขรายละเอียดเพิ่มเติมอีกหลายประการ เช่น ต้องกดไม่ให้เกิดอาการปวด และเมื่อกดไปเรื่อยๆแสงเหล่านั้นจะค่อยๆหายไป สิ่งที่เกิดขึ้นมานั้นก็น่าจะเป็นเพราะได้รับข้อมูลและสั่งสมประสบการณ์จากผู้ป่วยจริงที่มีอาการดีขึ้น ทั้งผู้ป่วยต้อหินเรื้อรังและโรคจอประสาทตาเสื่อม และข้อสำคัญที่น่ายินดีไปกว่านั้นคือมีผู้ป่วยที่ตาบอดไปแล้ว 3 วันกลับมามองเห็นได้อีกครั้งอีกด้วย

เนื่องจากเรื่องนี้เป็นนวัตกรรมที่เกิดขึ้นและมีผู้ที่ได้รับประโยชน์ การที่จะตั้งคำถามว่าทำไมไม่เป็นอย่างนั้น หรือทำไมเป็นอย่างนี้ การจะหาคำตอบเหล่านั้นได้ก็น่าจะอยู่บนพื้นฐานงานวิจัยเชิงเปรียบเทียบที่มีการควบคุมและป้องกันอาการยาหลอก อย่างไรก็ตามไม่สำคัญเท่ากับว่า “มีเบาะแส” ที่ผู้ป่วยที่มีตัวตนจริงได้รับประโยชน์จากวิธีการนี้ หากราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทยมีความจริงใจและเห็นแก่ประโยชน์ของผู้ป่วย ก็ควรจะเปลี่ยนจากคำถามมาช่วยกันวิจัยเพื่อหาข้อเท็จจริงและหากคำตอบให้ได้ข้อยุติในเรื่องนี้จริงหรือไม่?

ประการที่สอง นพ.ไพศาล ร่วมวิบูลย์สุข ประธานราชจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ชี้แจงเรื่องอันตรายของการกดนวดตาว่า การนวดตาจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของรูปทรงของน้ำวุ้นตา หากเกิดขึ้นนานๆอาจทำให้น้ำวุ้นตาที่เปลี่ยนแปลงนี้ดึงจอประสาทตา ทำให้จอประสาทตาฉีกขาดและหลุดออก หรือในรายที่มีเบาหวานเข้าจอประสาทตาจนมีเส้นเลือดผิดปกติเกิดขึ้นระหว่างน้ำวุ้นตาและจอประสาทตา ซึ่งอาจเกิดขึ้นโดยผู้ป่วยเบาหวานไม่รู้ตัว การกดตาจะทำให้เกิดการฉีกขาดของเส้นเลือดนี้ทำให้เกิดเลือดออกในน้ำวุ้นตา การกดนวดตาที่แรงเกินไปหรือกดเป็นประจำ อาจทำให้เลนส์แก้วตาเคลื่อนหลุดได้ และนอกจากนี้การกดตาอาจทำให้ต้อหินแย่ลงแทนที่จะช่วยรักษา เพราะจะทำให้ความดันตาเพิ่มขึ้นได้จากการกด การที่ผู้ป่วยต้อหินหยุดการใช้ยาหยอดหรือยารับประทานเพื่อคุมความดันตาที่ใช้อยู่ประจำ แต่หันมาใช้วิธีนวดตานี้แทน อาจทำให้ความดันตาสูงขึ้นจากเดิม จากที่เคยคุมได้จากยา และทำให้มีความเสี่ยงต่อตาบอดมากขึ้น ซึ่งมีผู้ป่วยตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

สำหรับเรื่องนี้ นพ.สมเกียรติ อธิคมกุลชัย ได้ให้ความเห็นต่อข้อโต้แย้งนี้ว่า ถ้าลูกตามีรูระบายน้ำในลูกตาอุดตัน การกระตุ้นทางกายภาพด้วยการกดจะเพิ่มแรงดันลูกตาจริงยิ่งกดยิ่งขึ้น ถ้าเกิดขึ้นจากการตรวจพบเช่นนี้ก็ควรจะใช้การผ่าตัด ซึ่งกรณีดังกล่าวมีอยู่น้อยมาก แต่ลูกตาส่วนใหญ่แทบทุกคนนั้นมีรูระบายน้ำคนไข้ส่วนใหญ่ที่กดตาแล้วจะพบว่าหลังกดนวดตากลับพบว่าแรงดันตาลดลง ซึ่ง นพ.สมเกียรติ อธิคมกุลชัย ไม่ปฏิเสธว่าเรื่องดังกล่าวการควรได้รับการตรวจและได้รับคำแนะนำจากจักษุแพทย์อยู่

สำหรับการใช้ยาหยอดตาที่ใช้สำหรับโรคต้อหินส่วนใหญ่เป็นยาลดการสร้างน้ำซึ่งจะเป็นผลทำให้ความดันตาลดลง แต่ก็มีผลเสียด้วยเพราะผลข้างเคียงคือยาประเภทนี้มีสารกันบูด ทำให้เยื่อตาขาวและผิวกระจกตาดำอักเสบจนอาจทุกทรมานจากการเป็นแผลได้ แต่ถ้าเป็นการใช้ยารับประทานก็จะมีผลข้างเคียงทำให้เกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะหรือทางเดินปัสสาวะ ยังไม่นับการแพ้ยาที่อาจทำให้เกิดอาการช็อคได้เช่นกัน

ดังนั้น นพ.สมเกียรติ อธิคมกุลชัย จึงมีความเห็นว่าการกดนวดตาเป็นการเร่งระบายน้ำออกซึ่งเป็นผลทำให้ความดันตาลดลง ถ้าอยู่ภายใต้คำแนะนำและการตรวจให้ถี่ถ้วนของจักษุแพทย์ก็จะสามารถบรรเทาอาการต้อหินได้ และหากความดันตาปกติแล้วก็จะสามารถหยุดใช้ยาได้ในที่สุด เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยทั้งในด้านผลการรักษา และลดผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากยาได้ และลดค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยได้ ซึ่งย่อมจะเกิดประโยชน์ต่อผู้ป่วยเป็นที่ประจักษ์


ข้อสำคัญการอ้างอิงทางวิชาการที่ ประธานราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทยได้กล่าวถึงว่ามีอันตรายนั้น กลับหมายถึงการขยี้ตา (Eye rubbing) และการใช้นิ้วจิ้มกดตา (Digital Massage) ไม่เหมือนกับการกดนวดรักษาตาของ นพ.สมเกียรติ อธิคมกุลชัย ที่ใช้อุ้งมือที่มีความอ่อนนุ่มกว่า จึงย่อมไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้แต่ประการใด

แต่ความสำคัญยิ่งกว่าคือประธานราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ควรจะอ้างอิงในสิ่งที่ไม่เหมือนกันมาเผยแพร่ให้ประชาชนสับสนหรือไม่ อย่างไร !?

ประการที่สาม นพ.ไพศาล ร่วมวิบูลย์สุข ประธานจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ชี้แจงกรณีการวิจัยเรื่องการนวดตากล่าวโดยสรุปว่า การวิจัยที่จะจัดทำขึ้นเป็นไปได้ยาก และมีความสุ่มเสี่ยงที่จะขัดกับหลักจริยธรรมของการวิจัยในมนุษย์ หากเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นอยู่กับผู้เข้าร่วมวิจัย จะต้องมีการกำหนดมาตรการในการรักษาภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นด้วย และราชวิทยาลัยฯจึงเลือกที่จะเป็นตัวกลางประสานให้ นพ.สมเกียรติ ที่ได้พบกับหน่วยงานที่สามารถช่วยสนับสุนให้ทำวิจัยเรื่องการนวดตาได้ ซึ่ง ASTV สามารถสอบถามความคืบหน้าเอาเองได้ และกล่าวว่า นพ.สมเกียรติ ได้รับการยืนยันจากศาสตราจารย์โจเซฟ เฟลมเมอร์ จากสวิสเซอร์แลนด์ ที่จะทำการวิจัยร่วมกัน ดังนั้น นพ.สมเกียรติ จึงสามารถทำงานวิจัยระดับนานาชาติได้ ซึ่งมีโอกาสจะได้รับการยอมรับจากนานาชาติมากกว่าการวิจัยในประเทศไทย นพ.สมเกียรติควรแสดงความน่าเชื่อถือของการรักษาวิธีนี้ โดยให้ข้อมูลความคืบหน้าในการวิจัยร่วมกับศาสตราจารย์ท่านนี้มาเสนอในบทความด้วย

สำหรับกรณีนี้ นพ.สมเกียรติ อธิคมกุลชัย ให้ความเห็นว่า จริยธรรมที่เกิดขึ้น ก็ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและความเป็นจริงที่เกิดขึ้นว่าอยู่ในบริบทใด กรณีการรักษาของ นพ.สมเกียรติ อธิคมกุล นั้นได้เห็นผู้ป่วยที่ยากจน และรวมถึง “ผู้ป่วยจำนวนมาก”ที่ได้รับความทุกข์ทรมานจนใกล้จะตาบอดหรือตาบอดไปแล้วแม้จะใช้แพทย์แผนปัจจุบันไปแล้วก็ไม่ดีขึ้น เมื่อการนวดตาสามารถทำให้มีอาการดีขึ้นได้ก็ต้องเข้าช่วยเหลือตามประสบการณ์และผลงานในการรักษาในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นนคำว่า “ธรรมจรรยา”ในเรื่องนี้ จึงน่าจะควรอยู่ที่ว่าหากมีความจริงใจจริงก็ควรช่วยกันเร่งและสนับสนุนให้งานวิจัยออกมาเป็นข้อสรุปโดยเร็วจากผู้ที่เข้ามารักษาจริงในปัจจุบันกับ นพ.สมเกียรติ อธิคมกุลชัย ว่าเป็นผลอย่างไร เพื่อสร้างโอกาสให้กับผู้ป่วยอีกจำนวนมาก จริงหรือไม่? ทั้งในแง่ “ประสิทธิผลและความปลอดภัย” สำหรับการให้ความร่วมมือของ ศาสตราจารย์โจเซฟ เฟลมเมอร์ แม้จะให้กำลังใจ นพ.สมเกียรติ อธิคมกุลชัย แต่เนื่องจากศาสตราจารย์โจเซฟ เฟลมเมอร์ ทำงานอยู่ในสถาบันที่อุปถัมภ์โดยบริษัทยา จึงไม่สามารถมาสนับสนุนโดยปราศจากทุนสนับสนุนงานวิจัยโดยไม่ต้องใช้ยาหรือเครื่องมือแพทย์ได้

ประการสำคัญที่สุดเมื่อมีรายงานว่าผู้ป่วยโรคต้อหินเรื้อรังและจอประสาทตาเสื่อมมีอาการดีขึ้น โดยเฉพาะบางรายที่ตาบอดไปแล้วกลับมามองเห็นได้ การวิจัยเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริง หากผลการวิจัยได้พิสูจน์ได้ว่าการกดนวดตาผู้ป่วยได้รับประโยชน์จริง ก็ย่อมจะสร้างคุณูปการอันใหญ่หลวงต่อประชาชนและผู้ป่วยโรคนี้ ในขณะเดียวกันหากการวิจัยสามารถหาข้อยุติหรือพิสูจน์ได้ว่าการนวดตาด้วยวิธีนี้ได้เกิดผลร้ายกับใครด้วยเงื่อนไขใด ก็จะนำไปสู่บทสรุปถึงอันตราย หรือเป็นข้อห้าม หรือต้องควรระวัง ได้ต่อไปอย่างเป็นรูปธรรม หากมีความจริงใจ การที่จักษุแพทย์จะร่วมวิจัยในเรื่องดังกล่าวย่อมจะช่วยเปิดโอกาสให้กับผู้ป่วย และช่วยป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ด้วย จริงหรือไม่?

จากเรื่องราวที่กล่าวมาถึง 7 ตอน ด้วยพฤติการณ์ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา รวมไปถึงหนังสือขอให้พิสูจน์ข้อเท็จจริงและทวงถามของราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีถึง 2 ฉบับ แล้วยังไม่มีความคืบหน้าใดๆในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงสังคมไทยย่อมสามารถที่จะใช้วิจารณญาณได้ว่าเกิดอะไรขึ้นในช่วงระยะเวลายาวนานที่ไม่ได้มีการวิจัยในเรื่องนี้ และอาจจะตัดสินได้ว่าประชาชนตาดำๆควรจะเชื่อใคร?



กำลังโหลดความคิดเห็น