xs
xsm
sm
md
lg

เริ่มต้นปีด้วยการกินพืชผักสีเขียว / ดร.ฉัตรภา หัตถโกศล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อพูดถึงการกินพืชผักสีเขียวอาจไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับหลายคน เนื่องจากพืชผักสีเขียวมักจะมีรสชาติที่ขม ฝาด เฝื่อน หรือเหม็นเขียว ทำให้หลายต่อหลายคนไม่ชอบที่จะกินพืชใบเขียวจึงทำให้ไม่ได้รับประโยชน์ทางโภชนาการอย่างสูงที่มีอยู่ในพืชใบเขียว

สารพฤกษเคมีที่มีอยู่ในพืชสีเขียว คือ คลอโรฟีลล์โดยยิ่งมีสีเขียวเข้มมากก็ยิ่งจะมีคลอโรฟีลล์มากขึ้นเท่านั้น และมีประโยชน์สูงขึ้น ผลจากการศึกษาพบว่าคลอโรฟีลล์สามารถช่วยให้ร่างกายลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง โดยที่คลอโรฟีลล์จะทำให้สารก่อมะเร็งในอาหารไม่ให้ถูกดูดซึมอาหาร ลดการเกิดโรคมะเร็งที่ระบบทางเดินอาหาร และมะเร็งที่ตับ

คลอโรฟีลล์ช่วยให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายให้มากขึ้น ยังมีงานวิจัยที่พบว่า คลอโรฟีลล์จากผักใบเขียวจะทำให้สมองสดใส และความจำดีขึ้น รวมถึงมีส่วนช่วยในการลดความเครียด และความอ่อนล้าของสมองลงได้ นอกจากนี้ พบว่าสารคลอโรฟีลล์ยังทำหน้าที่ในการจับกับโลหะหนักที่ปนเปื้อนมากับอาหาร และขับออกนอกร่างกาย ไม่ใช่เพียงสารคลอโรฟีลล์เท่านั้น ในพืชผักสีเขียวยังอุดมไปด้วยแร่ธาตุแคลเซียม เหล็ก วิตามินเอ วิตามินบี และมีใยอาหารสูง

แนวทางการเพิ่มพืชผักสีเขียว

เติมผักสีเขียวที่เป็นผักสดลงในน้ำผลไม้ปั่น หรือสมูทตี จะช่วยให้ลดกลิ่นเหม็นเขียว และทำให้รับประทานได้ง่ายขึ้น เช่นการเติมผักขม ผักกาดหอมลงไปปั่นรวมกับผลไม้พวกสับปะรด หรือแอปเปิล หรือกล้วย ก็จะทำให้ไม่ได้รสของผักสีเขียว เมื่อชินแล้วอาจเติมผักสีเขียวที่มีกลิ่นได้มากขึ้น เช่น คะน้า ผักบุ้ง ผักกวางตุ้ง ใบโหรพพา บล็อกโคลี ตำลึงในปริมาณที่มากขึ้นก็จะยิ่งช่วยทำให้ได้รับผักใบเขียวมากขึ้น

หั่นผักใบเขียวเป็นชิ้นเล็กๆ หรือปั่นรวมกับเนื้อสัตว์ อาหารบางชนิด เช่น หมูบด ไก่บด หรือแม้แต่ทอดมัน หากทำที่บ้านเองสามารถประยุกต์เติมผักใบเขียวใส่ลงไปเพื่อเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการได้มากขึ้น เช่น หมูบดสามารถใส่ต้นหอมสับ ใบขึ้นฉ่าย ผักขม หรือกลุ่มทอดมันสามารถใส่ใบโหรพา ถั่วพู ใบมะกรูด พริกหวาน เพิ่มเติมลงไปได้

ผัดผักรวม หรือต้มจับฉ่าย หลายคนอาจมีผักใบเขียวที่ไม่ชอบรับประทานเมื่อนำมารวมกับผักอย่างอื่นเช่นการนำมาผัดรวมหรือในการทำต้มจับฉ่ายก็จะช่วยทำให้รับประทานผักเขียวอย่างอื่นได้หลากหลายยิ่งขึ้น เช่น อาจมีการใส่มะระเพิ่มลงในต้มจับฉ่ายจะช่วยลดความขมของมะระลง

เพิ่มการใส่ต้นอ่อนของพืชใบเขียวเช่น ยอดอ่อนทานตะวัน ยอดอ่อนข้าวสาลี ลงในสลัด หรือโรยกับข้าวต้ม

นำเอาสาหร่ายมาปรุงประกอบอาหารให้หลากหลายเช่น นำเอาสาหร่ายมาทำแกงจืด ยำ ซุป อบกรอบโรยข้าว แต่ควรระวังในเรื่องความเค็มหากสาหร่ายที่มีรสเค็มสูงไม่ควรใช้เครื่องปรุงที่จะยิ่งทำให้เค็มมากยิ่งขึ้น

ลองเมนูใหม่ๆ เพื่อให้ได้ลองรับประทานคู่กับผักใบเขียวต่างๆ เช่น อาหารพวกเมี่ยง น้ำพริก เพื่อให้ได้ลองทานผักแกล้มใบเขียว เช่น ชะพลู ผักกาดเขียว ผักชีไทย ผักชีฝรั่ง ผักแผ้ว มะเขือพวง มะเขือเปราะ แตงกวา ใบสะระแหน่ ใบบัวบก

ดอกไม้สีเขียวนำมาปรุงประกอบอาหารได้หลากหลาย เช่น ดอกชมจันทร์ สามารถนำมาผัดน้ำมันหอย ทำแกงส้ม ดอกขจร นำมาผัดกับไข่ นำมายำ หรือใส่แกงต่างๆ กระเจี๊ยบเขียว ก็นำมาผัด ลวกรับประทานกับน้ำพริก

ผักใบเขียวที่มีขายอยู่อาจมีการปนเปื้อนของสารตกค้างซึ่งอาจเป็นสารเคมีจากยาฆ่าแมลง เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา เชื้อไวรัส หรือสารโลหะหนักอื่นๆ ที่ปะปนมากับผักและผลไม้ ซึ่งสารเหล่านี้จะสามารถก่ออันตรายต่อสุขภาพ ดังนั้น จึงควรล้างผักให้สะอาดเสียก่อนนำมารับประทาน

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น