xs
xsm
sm
md
lg

กินผักวันละ 6 ทัพพี ช่วยเลี่ยงมะเร็ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ห่วงคนไทยกินผักน้อย รมช.สาธาาณสุข แนะควรกินวันละ 6 ทัพพี ช่วยลดเสี่ยงลดโรคเรื้อรัง สกัดมะเร็งบางชนิด ย้ำกินผักหลากหลายตามฤดูกาล เลี่ยงสารเคมีตกค้างในผัก กรมอนามัยรับตรวจพบสารตกค้างบ่อย แนะล้างให้สะอาดก่อนกิน

นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ผักมีใยอาหารช่วยทำความสะอาดลำไส้ ช่วยลดการดูดซึมไขมันและคอเลสเตอรอลในเลือด มีวิตามินและแร่ธาตุ ช่วยปรับสมดุลเอนไซม์และฮอร์โมนในร่างกายให้ทำงานมีประสิทธิภาพ รวมถึงมีสารพฤกษเคมีช่วยต้านมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งเต้านม และยังมีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยต้านการอักเสบของเซลล์และเพิ่มภูมิคุ้มกันของร่างกาย การกินผักควรกินให้หลากหลายตามฤดูกาล ช่วยให้ได้รับคุณค่าที่เพียงพอและลดการสะสมของสารเคมีชนิดใดชนิดหนึ่งไม่ให้มีมากเกินไปในร่างกาย ที่สำคัญ ไม่ควรกินผักนอกฤดูกาล เพราะมีแนวโน้มของการใช้สารเคมีมากกว่า และมีคุณค่าทางโภชนาการน้อยกว่าผักตามฤดูกาล

เพื่อสุขภาพที่ดีควรกินผักและผลไม้อย่างน้อยวันละ 400 กรัม เพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ เช่น หัวใจขาดเลือด เส้นเลือดในสมองตีบ และมะเร็งบางชนิด ปัญหาคือคนไทยกินผักน้อยลง โดยเฉพาะเด็กไทยร้อยละ 58.9 ไม่ได้กินผักทุกวัน กินผักเพียงวันละ 2 ช้อนครึ่งเท่านั้น ขณะที่กรมอนามัยแนะนำให้ผู้ใหญ่กินผักถึง 18 ช้อนต่อวันหรือ 6 ทัพพี” รมช.สาธารณสุข กล่าว

ด้าน นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ปัญหาการตกค้างของสารเคมีหรือยาฆ่าแมลงนั้น เนื่องจากสามารถอยู่ในธรรมชาติได้นานไม่สลายตัวง่าย ก่อให้เกิดปัญหาสารพิษตกค้างและเป็นอันตรายมาก เมื่อได้รับสารนี้ในปริมาณมากจะทำให้เวียนศีรษะ หน้ามืด ท้องร่วง อาจเกิดหัวใจวายและตาย แต่ถ้าได้รับในปริมาณน้อยๆ ค่อยๆ สะสมในร่างกายจะเป็นสาเหตุให้เกิดโรคมะเร็ง ซึ่งทุกวันนี้ยังมีการตรวจพบการตกค้างอยู่ในพืชผักเสมอ โดยเฉพาะผักสด 10 ชนิดที่จำหน่ายในท้องตลาด ได้แก่ กวางตุ้ง คะน้า ถั่วฝักยาว พริก แตงกวา กะหล่ำปลี ผักกาดขาวปลี ผักบุ้งจีน มะเขือ และผักชี ทั้งยังตรวจพบการปนเปื้อนของเชื้ออีโคไลและเชื้อซาลโมเนลลา ซึ่งเป็นเชื้อก่อโรคอาหารเป็นพิษในผักที่นิยมรับประทานเป็นผักแกล้มแบบสดๆ เช่น ผักกาดหอม ต้นหอม ผักชี กะหล่ำปลี ผักชีฝรั่ง โหระพา สะระแหน่ ใบบัวบก ถั่วพู แตงกวา ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการใช้ปุ๋ยจากมูลสัตว์ในการเพาะปลูก โดยเชื้อเหล่านี้จะอาศัยอยู่ในลำไส้ของสัตว์และถูกขับถ่ายออกมากับมูลของสัตว์ เมื่อนำปุ๋ยจาก มูลสัตว์มาใช้ในการเกษตรเชื้อโรคนี้ก็อาจปนเปื้อนในผลผลิตได้

ก่อนกินหรือนำผักมาปรุงอาหาร ต้องล้างให้สะอาดทุกครั้ง เพื่อป้องกันสารเคมีตกค้างหรือการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค ให้ล้างผ่านน้ำก๊อกที่ไหลนาน 2 นาที หรือแช่ในน้ำผสมเกลืออัตราส่วน 2 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 4 ลิตร หรือน้ำผสมน้ำส้มสายชูอัตราส่วนครึ่งถ้วยตวงต่อน้ำ 4 ลิตร หรือ น้ำผสมโซเดียมไบคาร์บอเนต (เบคกิ้งโซดา) อัตราส่วน 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 4 ลิตร แช่ทิ้งไว้ 10 - 15 นาที จากนั้นล้างด้วยน้ำเปล่า 2 ครั้ง สำหรับผักบางชนิด เช่น คะน้า กะหล่ำ ถั่วฝักยาว หากมีคราบขาวจับที่กาบใบหรือฝักมากเกินไปล้างน้ำหลายๆครั้ง และคลี่ใบถูหรือล้างด้วยการเปิดน้ำไหลผ่านอย่างน้อย 2 นาที” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น