xs
xsm
sm
md
lg

สปช.ค้านแก้ กม.บัตรทองให้ ปชช.ร่วมจ่าย ชี้ยิ่งเหลื่อมล้ำ กีดกันคนจนเข้าถึงการรักษา เสี่ยงล้มละลาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุภัทรา นาคะผิว ภาพจาก www.thaihealth.or.th
สปช. ค้านแนวคิด สนช. เสนอแก้ กม. บัตรทองให้ประชาชนร่วมจ่าย ชี้ถอยหลังกลับไปเหมือน 12 ปีที่ผ่านมา ทำประชาชนล้มละลายจากการรักษา กีดกันคนกำลังทรัพย์ไม่พอให้ไม่เข้าถึงบริการการรักษา

วันนี้ (8 ม.ค.) น.ส.สุภัทรา นาคะผิว สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงกรณี นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เตรียมเสนอแก้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เพื่อเปิดทางให้ประชาชนร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล มีใจความเพื่อเตือนสติ สนช. และ คสช. การให้ประชาชนร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล จะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพมากขึ้น ส่งผลให้ประชาชน คนยากจนเข้าไม่ถึงการรักษา เพราะไม่มีเงินร่วมจ่าย ภาวะล้มละลายจากการรักษาพยาบาลจะกลับมาอีก ถอยหลังกลับไปจุดเดิมเมื่อ 12 ปีที่ผ่านมา ทั้งที่ปัจจุบันประชาชนร่วมจ่ายผ่านภาษีและค่าใช้จ่ายอื่นๆ อยู่แล้ว เช่น ค่ารถ ค่าอาหาร ค่าคนดูแล เป็นต้น หากจะให้มีการร่วมจ่าย กลุ่มแรกคือ ข้าราชการ เพราะมีรายได้มากกว่า ใช้งบต่อหัวมากกว่าบัตรทองถึงเกือบ 4 เท่า

ทั้งนี้ จากรายงานผลการประเมินสมรรถนะระบบบริการสุขภาพเพื่อเปรียบเทียบการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพและความเป็นธรรมด้านสุขภาพจำแนกตามสิทธิ พบว่า ค่าเฉลี่ยของการรับบริการผู้ป่วยนอกต่อคน และผู้ป่วยในต่อคน ของผู้ป่วยสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพและประกันสังคมขอรับบริการต่ำกว่าระบบสวัสดิการข้าราชการอย่างมาก และจากการสำรวจค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในการไปโรงพยาบาลของผู้ป่วยหลักประกันสุขภาพ ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและองค์กรเครือข่ายพบว่า การไปรับบริการแต่ละครั้งนั้น ผู้ป่วยมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ นอกเหนือจากการรักษาพยาบาล คือ ขาดรายได้ และค่าใช้จ่ายในการเดินทาง

การใช้บริการแบบผู้ป่วยนอก ขาดรายได้ 181 บาท และค่าเดินทาง 113 บาทต่อครั้ง ส่วนการใช้บริการแบบผู้ป่วยใน ขาดราย 461 บาท และค่าเดินทาง 157 บาทต่อครั้ง ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างมีรายได้เฉลี่ยเพียงวันละ 210 บาท เท่านั้น จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ประชาชนจำนวนมากตัดสินใจไม่ไปรับบริการ ดังนั้น หากต้องร่วมจ่ายจะยิ่งกีดกันคนที่ไม่มีกำลังมากพอในการเข้าถึงระบบสุขภาพ

รศ.ดร.วิทยา กุลสมบูรณ์ กรรมาธิการสาธารณสุข สปช. กล่าวว่า ประเทศไทยได้ผ่านระยะที่ประชาชนทุกคนมีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพไปแล้วและเป็นไปด้วยดี ควรเริ่มสู่ระยะการปฏิรูปเพื่อเพิ่มคุณภาพ มาตรฐาน และ ความเท่าเทียม ต้องมองภาพรวมทั้งประเทศ แนวคิดที่จะให้มีการร่วมจ่ายในระบบหลักประกัน หรือ แยกเงินเดือนออกจากงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพ จะเป็นการสวนทางย้อนศร สับสนในหลักการหลักคิด อาจทำให้โกลาหล ยุ่งเหยิงและ การปฏิรูปเพื่อการพัฒนาจะหยุดชะงักในที่สุด

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น