xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องไม่ย่อยของ “กองทุนย่อย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ

ข่าวคราวเรื่อง “กองทุนย่อย” ที่ปรากฏทางสื่อคงสร้างความสับสนงุนงงให้กับประชาชนที่เสพข่าวสารไม่มากก็น้อย กองทุนย่อยดังกล่าวไม่ใช่กองทุนในตลาดหลักทรัพย์ ไม่เกี่ยวข้องใดๆกับระบบการเงินการธนาคาร แต่เป็นงบประมาณที่เตรียมไว้จ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาลให้กับประชาชนที่เจ็บไข้ได้ป่วยในโรคที่มีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลสูง อาจเป็นเพราะต้องใช้เครื่องมือเครื่องใช้ทางการแพทย์ชั้นสูงหรือใช้ยาที่มีราคาแพง หรือโรคที่นานๆจะพบคนเป็นโรคดังกล่าวเสียที ต้นทุนยาจึงสูง โรคในกลุ่มนี้ภาษาวิชาการเรียกว่า High Cost Rare Case

หลายท่านทำประกันชีวิตไว้กับ บ.เอกชนและหลายท่านก็พ่วงการทำประกันสุขภาพเอาไว้ด้วย เผื่อเจ็บไข้หรือล้มหมอนนอนเสื่อจะได้มีใครสักคนมาช่วยจ่ายค่าหยูกค่ายาหรือช่วยจ่ายค่าใช้จ่ายในบ้าน แต่ความช่วยเหลือดังกล่าวจะมีเพดานกำหนดไว้ จะเป็นเท่าไรก็ขึ้นอยู่กับกรมธรรม์หรือเบี้ยประกันในแต่ละปีตามที่ตกลงกันไว้ตั้งแต่เริ่มต้น บางเงื่อนไขอาจมีเงินชดเชยรายวันหากยังนอนพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล แต่ก็มีเพดานกำหนดเช่นกันว่าไม่เกินกี่วัน ข้อกำหนดดังกล่าวมีขึ้นเพื่อป้องกันความเสี่ยงทางการเงินของบริษัทรับประกันสุขภาพ เสี่ยงมากหรือน้อยก็ขึ้นกับวงเงินการทำประกันมีมากหรือน้อย มีมากเสี่ยงน้อย มีน้อยเสี่ยงมาก บริษัทประกันสุขภาพข้ามชาติที่มีสาขาอยู่ในหลายประเทศจึงมีความได้เปรียบ เพราะสามารถรวมเงินจากการทำประกันตั้งเป็นกองทุนขนาดใหญ่ จึงมีความมั่นคงและมีความเสี่ยงลดลง

“หลักประกันสุขภาพ” จึงต่างจาก “ประกันสุขภาพ” เพราะใช้หลักการที่เรียกว่า “เฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข” งบประมาณส่วนใหญ่จะจัดสรรแบบเหมาจ่ายไปยังโรงพยาบาลต่างๆตามฐานประชากรสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการบริการสุขภาพ เพื่อใช้ทั้งการส่งเสริม รักษา ป้องกัน และฟื้นฟูแก่ประชาชนในพื้นที่ ใครเจ็บไข้ได้ป่วยก็ใช้เงินก้อนนี้ดูแล หากเกินวงเงินของตนเองก็ใช้วงเงินในส่วนของคนอื่นที่ไม่เจ็บป่วยมาเฉลี่ยกัน จะเฉลี่ยได้มากน้อยเท่าไรก็ขึ้นกับจำนวนประชากรที่ดูแล ยิ่งมีประชากรในพื้นที่มาก ก็จะเฉลี่ยกันได้ดียิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม บางพื้นที่อาจมีประชาชนที่เป็นโรคยากๆที่ต้องใช้งบประมาณในการรักษาสูง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจที่ต้องใช้ยาละลายลิ่มเลือด ผู้ป่วยโรคเลือดออกง่ายฮีโมฟีเลียที่ต้องรับ Factor 8 เป็นประจำมีค่าใช้จ่ายกว่าแสนห้าหมื่นบาทต่อปี ซึ่งจะเป็นปัญหาค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาล ทางออกของเรื่องนี้คือ การตั้งวงเงินเป็นกองทุนไว้ที่ส่วนกลาง โดยเฉลี่ยจากวงเงินที่จัดสรรให้กับโรงพยาบาลแต่ละแห่ง เช่น หักเงินตามจำนวนประชากรหัวละ 4 บาท มาตั้งเป็นกองทุนสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยฮีโมฟีเลีย ใครรักษาผู้ป่วยก็เรียกเก็บค่าใช้จ่ายไปยังส่วนกลาง หรือถือเป็นการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขในระดับประเทศ วิธีนี้มีข้อเสียตรงที่โรงพยาบาลจะได้รับงบประมาณแบบเหมาจ่ายลดลงบ้าง แต่มีข้อดีคือโรงพยาบาลจะลดภาระค่าใช้จ่ายหรืออีกนัยคือมีการทำประกันความเสี่ยงเพราะบอกไม่ได้ว่าจะมีผู้ป่วยที่เป็นโรคค่าใช้จ่ายสูงมากน้อยเพียงไรในแต่ละปี และที่สำคัญคือเป็นหลักประกันสุขภาพให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าจะเข้าถึงบริการที่ดีมีคุณภาพยิ่งขึ้น

ปัจจุบันสำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณเป็นปลายปิด ให้ตัวเลขตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ ได้แค่ไหนแค่นั้น การบริหารจัดการจึงไม่สามารถที่จะจ่ายให้แบบปลายเปิดได้ ความยากคือ จะบริหารการเงินการคลังอย่างไรให้สามารถใช้งบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยโรงพยาบาลสามารถให้บริการได้อย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน

แต่ไม่ว่าจะบริหารการเงินการคลังอย่างไร ก็ต้องไม่ทิ้งหลักการสำคัญของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าคือ ประชาชนต้องเข้าถึงบริการสุขภาพได้ตามความจำเป็นโดยไม่มีภาระทางการเงินเป็นอุปสรรคในการเข้าถึง ที่สำคัญบริการรักษาพยาบาลที่ประชาชนได้รับต้องไม่ใช่แบบยถากรรม หรือต้องรอคิวการรักษายาวนาน จนต้องเสียชีวิตเพราะรักษาไม่ทัน ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น ดังนั้น แม้ประชาชนจะมีหลักประกันสุขภาพ คือไม่ต้องล้มละลายจากการต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลจำนวนมาแล้ว บริการที่ได้รับนั้นก็ต้องมีคุณภาพมาตรฐานและต้องเป็นบริการที่ประชาชนเข้าถึงได้โดยง่ายด้วย

ด้วยเหตุนี้ การจะจัดสรรงบประมาณแบบไหน และใครเป็นคนดูแลก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่สิ่งสำคัญคือต้องไม่ทิ้งหลักการของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าดังกล่าวข้างต้น ซึ่งนี่เป็นหัวใจสำคัญ

เรื่องกองทุนย่อยจึงเป็นเรื่องไม่ “ย่อย” เพราะเหตุนี้แล...

 
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น