xs
xsm
sm
md
lg

7 วันปีแพะเดือดตาย 341 ศพ อุบัติเหตุเจ็บตายลดลง เชียงใหม่ทุบสถิติแชมป์เช่นเคย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สรุป 7 วันอันตรายปีใหม่ 2558 เกิดอุบัติเหตุ 2,997 ครั้ง ตาย 341 ศพ เจ็บ 3,117 คน ภาพรวมพบอุบัติเหตุ เจ็บ ตาย ลดลงทั้งหมด 5% “สิงห์บุรี-นครพนม” ไร้ตาย ด้าน “เชียงใหม่” แชมป์เจ็บตายสูงสุด ด้าน สธ. พอใจผลการออกช่วยเหลือผู้บาดเจ็บฉุกเฉิน ถึงพื้นที่เกิดเหตุไวใน 10 นาที ขณะที่ผลออกตรวจเหล้าพบทำผิดกฎหมายเพียบกว่า 1,100 ราย

วันนี้ (6 ม.ค.) นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย แถลงข่าวสรุปผลสถิติอุบัติเหตุช่วง 7 วันอันตรายเทศกาลปีใหม่ 2558 ว่า วันที่ 5 ม.ค. ถือเป็นวันสุดท้ายของการรณรงค์ มอบความสุขทั่วไทย สัญจรปีใหม่ ปลอดภัยทุกคน พบว่า เกิดอุบัติเหตุ 265 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 40 คน และบาดเจ็บ 274 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด คือ ขับรถเร็วเกินกำหนด ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุกคือ รถมอเตอร์ไซค์ โดยสุราษฎร์ธานี เกิดอุบัติเหตุมากสุด 12 ครั้ง สำหรับสถิติรวม 7 วันตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค. 2557 - 5 ม.ค. 2558 เกิดอุบัติเหตุรวม 2,997 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 341 คน และบาดเจ็บ 3,117 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสุงสุดยังคงเป็น การเมาสุรา ร้อยละ 37.30 รถจักรยานยนต์เกินอุบัติเหตุมากที่สุด ร้อยละ 82.26 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 64.06 ช่วงเวลา 16.01 - 20.00 น. เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด ร้อยละ 30.36 จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตเหลือเพียง 2 จังหวัด ได้แก่ สิงห์บุรี และ นครพนม โดยจังหวัดเชียงใหม่ยังคงเป็นแชมป์เกิดอุบัติเหตุสูงสุด 133 ครั้ง เสียชีวิตสะสมสูงสุด 18 ราย และบาดเจ็บสะสมสูงสุด 129 คน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หากเปรียบเทียบ 7 วันอันตรายช่วงปีใหม่ 2557 ที่ผ่านมา พบว่า การเกิดอุบัติเหตุ เสียชีวิต และบาดเจ็บลดลง โดยปี 2557 เกิดอุบัติเหตุ 3,174 ครั้ง เสียชีวิต 366 ราย บาดเจ็บรวม 3,345 ราย

นายวิบูลย์ กล่าวว่า พอใจภาพรวมการดำเนินงานและมาตรการของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน (ศปถ.) ที่สามารถลดจำนวนการเกิดอุบัติเหตุและการสูญเสียลงได้ แม้จะไม่ได้กำหนดตัวเลขเป้าหมาย โดยพบว่า ยอดอุบัติเหตุลดลง ร้อยละ 5.5 ยอดผู้เสียชีวิตลดลงร้อยละ 7 และยอดผู้บาดเจ็บลดลงร้อยละ 6.7 ซึ่งหลังจากนี้จะเดินหน้ารณรงค์ปลูกจิตสำนึกในการใช้รถใช้ถนนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สถิติอุบัติเหตุตลอดทั้งปีของประเทศลดลงด้วย

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า จากสถิติยังพบว่าเมาแล้วขับยังคงเป็นสาเหตุหลัก รถจักรยานยนต์เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด ทางหลวง และถนนในหมู่บ้านมีสัดส่วนเกิดอุบัติเหตุใกล้เคียงกัน ศปถ.จะนำข้อมูลต่างๆ มาวิเคราะห์แนวทางแก้ปัญหาต่อไป และปรับกลยุทธ์ให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ และเสนอแนะเชิงนโยบายต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.)

ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า การจัดบริการทางการแพทย์รับมืออุบัติเหตุจราจรช่วง 7 วันฉลองปีใหม่ 2558 พบว่า จัดหน่วยแพทย์ฉุกเฉินออกปฏิบัติการวันละ 1,549 คัน ตลอด 7 วัน รักษาพยาบาลและนำส่งผู้บาดเจ็บโดยรวมร้อยละ 32 ส่วนผู้บาดเจ็บที่มีอาการหนักพบว่า เกือบครึ่งถูกนำส่งโดยทีมแพทย์ระดับสูง โดยทีมแพทย์ฉุกเฉินสามารถออกปฏิบัติการไปปฐมพยาบาลช่วยเหลือผู้บาดเจ็บในที่เกิดเหตุภายใน 10 นาที ได้มากกว่าร้อยละ 80 และนำส่งห้องฉุกเฉินโรงพยาบาล 7,685 ราย และมีผู้บาดเจ็บนอนรักษาในโรงพยาบาลรวม 3,117 ราย เฉลี่ยบาดเจ็บ 1 ราย ในทุกๆ 3 นาที แนวโน้มลดลงกว่าปีที่ผ่านมา ผู้ป่วยไม่แออัดในหอผู้ป่วย แพทย์พยาบาลปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยทุกคนได้อย่างดี เพราะภาระงานไม่หนักมาก เป็นผลมาจากความร่วมมือในการป้องกันอุบัติเหตุจากทุกหน่วยงาน มาตรการรับมือในปีนี้จึงเดินมาอย่างถูกทาง โดย สธ. จะประเมินผลในภาพรวม และสร้างความพร้อมในการรับมือเทศกาลสงกรานต์ต่อไป

“เรื่องที่จะต้องเพิ่มความจริงจังอย่างต่อเนื่องคือ การดื่มแล้วขับ เป็นสาเหตุอุบัติเหตุถึง 1 ใน 3 สูงเป็นอันดับ 1 ทุกปี และผู้บาดเจ็บร้อยละ 83 เกิดกับผู้ใช้รถจักรยานยนต์ โดยขณะนี้ สธ. ได้เสนอกฎหมายลูกเพื่อควบคุมการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อีก 7 ฉบับ อาทิ ห้ามขายห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บริเวณสถานีรถไฟ บนขบวนรถไฟในสถานีขนส่ง ในท่าเรือโดยสารสาธารณะ ในสถานที่ที่อยู่ในกำกับดูแลใช้สอยของของราชการวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ เป็นต้น ขณะนี้อยู่ระหว่างนำเสนอนายกรัฐมนตรีลงนาม คาดว่าจะมีผลบังคับใช้เดือนนี้” รมว.สาธารณสุข กล่าว

ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า ผลการออกตรวจการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตาม พ.ร.บ.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตลอด 10 วัน ตั้งแต่ 27 ธ.ค. 2557 - 5 ม.ค. 2558 ใน 29 จังหวัดครอบคลุมทุกภาค ตรวจทั้งสิ้น 1,109 ราย พบผู้กระทำผิดและดำเนินคดี 325 ราย ที่เหลือตักเตือน 784 ราย ความผิดที่พบมากอันดับ 1 คือโฆษณาสื่อสารการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จำนวน 173 ราย รองลงมาคือขายโดยไม่มีใบอนุญาต 68 ราย ขายในสถานที่ต้องห้ามคือปั๊มน้ำมัน ศาสนสถาน ร้านขายยา สถานที่ราชการสวนสาธารณะ 33 ราย ขายด้วยวิธีการต้องห้ามคือเร่ขาย/ลดแลกแจกแถม 30 ราย ขายให้บุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปี จำนวน 25 ราย ขายนอกเวลาที่กฎหมายกำหนด จำนวน 17 ราย

นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า จากการออกตรวจหลายจังหวัดมีคดีที่น่าสนใจ โดยเฉพาะในส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ที่จ.สุราษฎร์ธานี มีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีจำนวนมาก ส่วนใหญ่มีอายุตั้งแต่ 13 - 19 ปี โดยพบทั้งที่บริเวณจัดกิจกรรมโฆษณาสื่อสารการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ลานเบียร์หน้าห้างสรรพสินค้าต่อหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่จำนวนมากที่ดูแลความเรียบร้อย เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เชิญตัวผู้รับผิดชอบลานเบียร์ ตัวแทนจำหน่ายในพื้นที่และตัวแทนห้างสรรพสินค้า และเด็กอายุ 16 - 17 ปี ไปดำเนินคดีที่สถานีตำรวจทันที ต่อมาเมื่อเดินทางไปตรวจร้านเหล้าในบริเวณตัวเมืองสุราษฎร์ธานี พบเด็กอายุ 13 - 19 ปี จำนวนมากกว่า 40 คนจากลูกค้าประมาณ 50 คน บางรายดื่มทั้งเหล้าปั่นและสูบบารากู่อยู่ในร้านดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเชิญตัวผู้ขายไปดำเนินคดีที่โรงพัก ซึ่งจากเวลาที่ทางทีมออกตรวจสอบเพียง 4 - 5 ชั่วโมง พบว่ามีการขายให้เด็กกว่า 50 ราย รวมทั้งมีการขายและดื่มในวัดชื่อดังในอ.เมือง จ.กาญจนบุรี ได้ดำเนินคดีตามกฎหมาย 7 ราย ซึ่งจะได้ขอความร่วมมือเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ให้กวดขันผู้ประกอบการปฏิบัติตามกฎหมาย และร่วมมือกันรันผิดชอบต่อสังคมมากขึ้นและกวดขันตลอดปี

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค. 2557 - 4 ม.ค. 2558 ศูนย์ร้องเรียนปัญหาสุรา กรมควบคุมโรค ได้รับแจ้งจากประชาชนผ่านเบอร์โทร. 02 590 3342 รวม 79 ครั้ง โดยร้องเรียนการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี 2 ครั้ง ขายนอกเวลา 15 ครั้ง ที่เหลือเป็นการสอบถาม เรื่องการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันปีใหม่ จำนวน 42 ครั้ง และสอบถามเรื่องการต่อใบอนุญาตจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น