xs
xsm
sm
md
lg

จับตาห้ามขายเหล้ารอบสถานศึกษา รุ่งหรือร่วง!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย...สิรวุฒิ รวีไชยวัฒน์

ฟาดฟันกันมาตลอดระหว่างบริษัทน้ำเมาและกลุ่มรณรงค์ลดการดื่มสุรา ซึ่งทุกวันนี้แม้จะมีการออก พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มาตั้งแต่ปี 2551 และกฎหมายลูกอีกถึง 33 ฉบับ ก็ดูเหมือนว่าฝ่ายหลังจะดูท่าเป็นมวยรองอยู่ตลอดเวลา เพราะการจะคลอดกฎหมายแต่ละฉบับออกมา ล้วนกระทบไปถึงกลุ่มธุรกิจ ที่ต้องยอมรับว่ามีอิทธิพลต่อการออกกฎหมายอยู่ไม่น้อย

โดยเฉพาะการออกกฎหมายห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ ก็ถูกต่อต้านอย่างหนักหน่วงทั้งจากกลุ่มธุรกิจและนักดื่ม ทำให้การผลักดันกฎหมายดังกล่าวของสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (สคอ.) ซึ่งมี นพ.สมาน ฟูตระกูล ผอ.สคอ.เป็นหัวหอกนั้น ถูกดับฝันไปโดยปริยาย เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าจะไม่มีการห้ามขายโดยเด็ดขาด ขณะที่การประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เองก็ตีกลับให้ไปพิจารณาใหม่เช่นกัน

แม้จะชูประเด็นปัญหาอุบัติเหตุ เจ็บตายจำนวนมาก ที่เกิดจากการดื่มของมึนเมาเหล่านี้ในช่วงเทศกาล แต่แน่นอนว่าการห้ามขายย่อมกระทบต่อการท่องเที่ยวและเงินที่จะสะพัดภายในประเทศไทย ศึกครั้งนี้จึงกลายเป็นความพ่ายแพ้อย่างหมดรูป แต่ก็เป็นไปตามคาดการณ์ของหลายๆ ฝ่ายอยู่แล้วว่าไม่น่าจะฝ่ากระแสเสียงคัดค้านของสังคมได้

แต่ที่น่าจับตาคือ กฎหมายห้ามขายเหล้ารอบสถานศึกษา ซึ่งมีการผลักดันมานานพอสมควรเช่นกัน และส่วนใหญ่คนในสังคมก็ล้วนเห็นด้วยกับมาตรการนี้ เป็นอีกกฎหมายหนึ่งที่วงประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กลับไปศึกษาเพิ่มเติม ทำใฟ้กฎหมายนี้จึงไม่ถึงกำหนดคลอดออกมาเสียที ทั้งที่ผลการศึกษาก็ชัดเจนว่า ร้านเหล้านั้นประชิดติดขอบรั้วสถานศึกษาอยู่แล้ว

โดย น.ส.กนิษฐา ไทยกล้า อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ ม.เชียงใหม่ กล่าวในเวทีเสวนา “นโยบาย V.กลยุทธ์การตลาดของธุรกิจแอลกอฮอล์” ในงานประชุมวิชาการสุราระดับชาติ ครั้งที่ 8 จัดโดยศูนย์ปัญหาวิจัยสุรา และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า ที่ผ่านมามีการศึกษาว่าระยะทางเท่าไรในการกำหนดห้ามขายเหล้ารอบสถานศึกษาจึงจะเหมาะสม โดยพบว่า ภายใน 100เมตรมีร้านนั่งดื่มใกล้ ร.ร.อนุบาลถึง80% ระยะทางต่ำสุดคือไม่เกิน 4เมตรจากหน้าโรงเรียนก็สามารถเข้าถึงตู้ที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้แล้ว ขณะที่จำนวนร้านขายเหล้าในระยะรัศมี 300 เมตรรอบสถานศึกษากลับพบว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยปี2552 พบร้ายขายประมาณ 56.2% ปี2554 ลดลงเหลือ 55.2% แต่ปี 2557กลับพุ่งสูงถึง 61%
นายธีระ วัชรปราณี
เห็นได้ชัดว่าร้านเหล้ารอบสถานศึกษาผุดขึ้นมามาก แน่นอนว่าหากออกกฎหมายห้ามขายเหล้ารอบสถานศึกษาย่อมส่งผลกระทบ ส่วนจะเป็นสาเหตุที่ทำให้กฎหมายไม่สามารถคลอดออกมาได้หรือไม่ นายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) มีคำตอบ

“กฎหมายนี้มีการผลักดันมาประมาณ 5-6 ปีแล้ว แต่ยังติดปัญหาอยู่เนื่องจากไปมีผลกระทบต่อร้านเหล้าที่ขอใบอนุญาตเปิดร้านมาก่อน ซึ่งในวงคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็มีการหารือถึงเรื่องนี้ เพราะเป็นห่วงว่าเมื่อบังคับใช้แล้วจะเกิดผลกระทบ นอกจากนี้ ยังต้องมาตีความกันว่ารอบสถานศึกษาในที่นี้จะต้องกำหนดให้ชัดเจนหรือไม่ว่าเป็นสถานศึกษาในระดับใด”

ในมุมมองของภาคประชาสังคมนั้น เห็นว่า เรื่องนี้ยังมีทางออกอยู่ โดยนายธีระ เสนอว่า เรื่องลักษณะของสถานศึกษาก็ดูตามความเสี่ยง อย่าง ร.ร.ประถมความเสี่ยงต่ำก็อาจจะไม่นับ อาจจะกำหนดเพียงแค่มหาวิทยาลัยก็พอ เพราะกลยุทธ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็จะมุ่งไปที่วัยรุ่น เยาวชน ส่วนความกังวลเมื่อประกาศใช้แล้วจะกระทบต่อร้านเดิมที่ขอใบอนุญาตแล้วนั้น การจะให้ไปยกเลิกก็คงไม่ได้ ก็เสนอว่าก็ยังสามารถเปิดร้านต่อไปได้ แต่หากทำผิดกฎหมาย เช่น จำหน่ายเหล้าให้แก่เยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี การขายเกินเวลาตามที่กำหนดต่างๆ เป็นต้น จะต้องถูกยกเลิกใบอนุญาตทันที หรือหากต้องการเลิกกิจการ ก็ห้ามมีการต่อใบอนุญาตร้านเหล้าเข้ามาในพื้นที่โดยรอบสถานศึกษาอีก

“ระยะทางรอบสถานศึกษาก็มีการศึกษากันมามาก ซึ่งมองว่าระยะทางยิ่งห่างก็ยิ่งดี เพราะเท่ากับว่าเป็นการจัดโซนนิ่งเฉพาะ และเปิดโอกาสให้ธุรกิจอื่นได้เข้ามาประกอบกิจการ เช่น ร้านหนังสือ ร้านนม เป็นต้น ซึ่งระยะห่าง 700 เมตรถือว่าเหมาะสม แต่ก็มีอีกหลายข้อเสนอเข้ามาเช่น 500 เมตร 300 เมตร ก็คงต้องมาดูข้อมูลกันในที่ประชุมว่าจะเลือกหรือกำหนดที่ระยะทางเท่าไร แต่เราเชื่อว่ายิ่งกำหนดระยะไกลจะยิ่งมีประโยชน์ในการควบคุมการจำกัดการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของวัยรุ่น เรื่องทั้งหมดเหล่านี้ ควรมีการถกเถียงและหาทางออกอย่างจริง”

อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญหนึ่งที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตไว้คือ การที่มีร้านขายเหล้ามากจนเกินไป จนผู้บริโภคเข้าถึงง่าย ก็เพราะมาจากการออกใบอนุญาตง่ายดายเกินไป ทั้งที่จริงไม่ควรง่ายเช่นนั้น เรื่องนี้ นายรัฐปกรณ์ นิภานันท์ ฝ่ายกฎหมายการศึกษา 1 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้ข้อมูลว่า กรมสรรพสามิตที่ออกใบอนุญาตฯ นั้น ไม่เคยลงไปตรวจสอบร้านค้าเหล่านี้เลยว่าทำถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ แต่กลับมีการออกใบอนุญาตเป็นจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันมีมากถึง 6 แสนใบ แต่กลับมาอ้างว่าเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ ซึ่งเมื่อพูดเช่นนี้ก็เท่ากับว่าไม่มีความรับผิดชอบ เพราะการออกใบอนุญาตฯ ได้นั้น ต้องตรวจดูแต่ละร้านก่อนว่าสมควรได้รับหรือไม่ หากทำไม่ถูกก็ไม่สามารถออกให้ได้

ส่วนภายในปี 2558 จะสามารถคลอดกฎหมายดังกล่าวออกมาได้หรือไม่นั้น นายธีระ มองว่า ขึ้นอยู่กับว่าคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะจริงจังต่อเรื่องนี้แค่ไหน รวมถึงมองว่าเป็นวาระเร่งด่วนหรือไม่ แต่โดยส่วนตัวมองว่าเป็นนโยบายที่ปกป้องเยาวชน อย่างไรก็ตาม ในยุครัฐบาล คสช.ถ้าอยากจะเห็นการปกป้องเยาวชน ก็น่าจะทำให้มาตรการนี้ จึงวิงวอนขอให้คิดถึงลูกหลานของพวกเรา เพราะเขายังไม่มีวุฒิมากพอ จึงต้องออกมาตรการปกป้อง

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น