xs
xsm
sm
md
lg

โรงพยาบาลขาดทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 
โดย...ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ
 
เฮนรี่ ฟอร์ด ลูกชายชาวไร่ในเมืองดีทรอยต์ มลรัฐมิชิแกน สหรัฐอเมริกา เริ่มต้นชีวิตการทำงานด้วยอายุเพียง15 ปี ด้วยการเป็นช่างซ่อมนาฬิกา เรียนรู้ด้านเครื่องยนต์กลไกด้วยการเป็นเด็กฝึกงาน ขยับเป็นช่างซ่อมเครื่องจักรไอน้ำและเลื่อนชั้นเป็นหัวหน้าวิศวกร จนกระทั่งสามารถพัฒนารถยนต์สี่ล้อคันแรกได้สำเร็จในปี 2412 และก่อตั้งบริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ ในปี 2446 ด้วยอายุ 40 ปี และกลายเป็นบริษัทที่ใหญ่และทรงอิทธิพลในอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ของสหรัฐอเมริกาและของโลกมาอย่างยาวนานกว่า 111 ปี
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ
 
แต่ทว่า ปีที่แล้วบริษัท Ford Motor ประกาศเตรียมหยุดการผลิตรถยนต์ทุกรุ่นจากโรงงานในประเทศออสเตรเลีย หลังประสบกับภาวะขาดทุนอย่างหนักติดต่อกันถึง 5 ปี คิดเป็นมูลค่ากว่า 600 ล้านดอลล่าร์ออสเตรเลีย ส่งผลให้บริษัทเตรียมหยุดการผลิตรถยนต์ทุกรุ่นจากโรงงานในออสเตรเลียและจะทยอยปิดตัวลงทั้งหมดภายใน 3 ปี ด้วยสาเหตุจากภาวะเศรษฐกิจซบเซาในอเมริกาและการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ออสเตรเลีย ทำให้ฟอร์ดประสบกับปัญหาต้นทุนที่สูงขึ้นจนไม่สามารถแข่งขันได้
 
ขาดทุน หมายถึง “รายจ่าย” มากกว่า “รายรับ” และเมื่อพบปัญหาก็ต้องหาทางแก้ไขก่อนที่ปัญหาจะลุกลามไปมากกว่านี้
นั่นคือการแก้ไขปัญหาในภาคเอกชน แต่สำหรับบริการสาธารณะที่เป็นรัฐสวัสดิการเช่น โรงพยาบาลรัฐ เราจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร
 
หากพิจารณา “รายรับ” ของโรงพยาบาลรัฐ จำแนกได้ 4 แหล่ง ได้แก่ 1. รายรับจากการให้บริการข้าราชการและครอบครัว 2. รายรับจากผู้ประกันตน 3. รายรับจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และ 4. รายรับอื่นๆ เช่น คนไข้จ่ายเงินสด เงินบริจาค การให้บริการชาวต่างชาติ ฯลฯ ส่วน “รายจ่าย” มีมากมายหลายประการ เริ่มตั้งแต่เงินเดือนเจ้าหน้าที่ ค่ายา ค่าวัสดุ/อุปกรณ์ทางการแพทย์ ค่าทำนุบำรุงอาคารสถานที่ ฯลฯ
 
ที่เป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างกว้างขวางกันตอนนี้ คือ สปสช. จัดสรรเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่เป็นรายรับหลักสำหรับโรงพยาบาลส่วนใหญ่ไม่เพียงพอ จริงหรือไม่
 
คำตอบในคำถามนี้ ต้องเริ่มจากงบประมาณในภาพรวมเพียงพอหรือไม่ ถ้ารัฐสนับสนุนงบประมาณให้ไม่เพียงพอตั้งแต่ต้นก็ย่อมทำให้งบประมาณที่จัดสรรไปให้กับโรงพยาบาลไม่เพียงพอไปด้วย แต่คำว่าไม่เพียงพอไม่ได้หมายถึงการขาดทุน การจะบอกว่าโรงพยาบาลขาดทุนหรือไม่ ต้องดูทั้งโครงสร้างรายรับและโครงสร้างรายจ่ายในภาพรวม ที่ผ่านมา พบว่า มีโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีการให้บริการน้อยกว่าศักยภาพที่ควรจะเป็น อีกส่วนหนึ่งเป็นโรงพยาบาลที่อยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร เสี่ยงภัย หรืออยู่ตามเกาะแก่งต่างๆ รพ. กลุ่มนี้มักเป็น รพ. ขนาดเล็กมักจะมีประชากรที่อยู่ในความรับผิดชอบไม่มาก ทำให้กลไกการจัดสรรงบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย และไม่อยู่ในฐานะที่จะหารายได้จากแหล่งอื่นเช่น ข้าราชการหรือประกันสังคม และหากพิจารณาถึงค่าใช้จ่ายที่จำเป็นและมีผลต่อภาวะการเงินของโรงพยาบาลกลุ่มนี้ จะพบว่าค่าใช้จ่ายที่สำคัญประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร ค่าใช้จ่ายด้านยาและวัสดุอุปกรณ์สำหรับให้บริการผู้ป่วย
 
แต่อย่างไรก็ตาม รพ. ในกลุ่มนี้ได้มีการสนับสนุนงบประมาณเป็นการเฉพาะตั้งแต่เริ่มโครงการโดยรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณเป็นพิเศษเพื่อจัดสรรให้โดยเฉพาะมาเป็นระยะ และในปี 58 นี้ บอร์ด สปสช.ได้มีมาตรการในการสนับสนุนงบประมาณโดยเน้นไม่ให้ รพ. กลุ่มกันดาร เสี่ยงภัย หรือประชากรเบาบาง ได้รับผลกระทบจากข้อจำกัดของงบประมาณด้วยมาตรการหลัก 5 ข้อ ได้แก่
 
1. งบค่าตอบแทนกำลังคนด้านสาธารณสุข จำนวน 3,000 ล้านบาท ที่จัดให้เป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่เป็นค่าตอบแทนให้กับบุคลากรของหน่วยบริการสังกัด สป.สธ. ซึ่งมติอนุการเงินการคลังวันที่ 25 พ.ย. 58 กำหนดให้การจัดสรรต้องคำนึงถึงกรณีหน่วยบริการที่อยู่ในพื้นที่กันดารและเสี่ยงภัยและหน่วยบริการที่มีปัญหาสภาพคล่อง
 
2. งบค่าใช้จ่ายเพื่อเพิ่มสำหรับหน่วยบริการที่จำเป็นต้องให้บริการประชาชนในพื้นที่กันดารและพื้นที่เสี่ยงภัย หรือที่เรียกว่าพื้นที่ Hardship จำนวน 464,804 ล้านบาท ซึ่งจะจัดสรรให้หน่วยบริการในพื้นที่กันดาร เสี่ยงภัยตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 136 แห่ง ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการจัดสรรวงเงินให้ รพ. กลุ่มนี้เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาสภาพคล่อง
 
3. นอกจากงบประมาณนอกระบบเหมาจ่ายรายหัวทั้งสองรายการข้างต้น หากพบว่ามี รพ. ในพื้นที่เบาบางบางแห่งขาดสภาพคล่อง บอร์ดก็อนุญาตให้จัดสรรงบประมาณในงบเหมาจ่ายรายหัวในส่วนของงบผู้ป่วยนอก เพื่อช่วยในพื้นที่ดังกล่าว แต่ต้องผ่านความเห็นชอบของอนุการเงินการคลัง เพื่อป้องกันการจัดสรรตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจ
 
4. เพื่อให้หน่วยบริการได้ช่วยเหลือกันระหว่างเขตพื้นที่จริง ก็ได้มีการกันเงินไว้อีกจำนวนหนึ่ง จำนวน 1,800 ล้านบาท เพื่อปรับช่วยเหลือพื้นที่ที่มีปัญหาภาระเงินเดือนสูงเมื่อเทียบกับพื้นที่อื่น ซึ่งอนุการเงินการคลังได้เสนอให้มีการใช้ข้อมูลเงินทุกระบบ คือรายได้ทุกแหล่งและรายจ่ายที่จำเป็นทุกหมวดเพื่อได้เห็นปัญหาในภาพรวมและเพื่อการแก้ไขปัญหาในระยะยาว เนื่องจากปีก่อนหน้านี้ เมื่อพูดถึงปัญหาสภาพคล่องของหน่วยบริการ ก.สธ. มักจะเสนอรายได้ รายจ่ายเฉพาะในส่วนของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งทำให้ข้อมูลที่แท้จริงไม่ถูกนำมาพิจารณา กล่าวคือ พื้นที่บางแห่งเมื่อได้รับเงินช่วยเหลือภาระเงินเดือนไป กลับพบว่ามีเงินเหลืออันเกิดจากรายได้จากระบบประกันสุขภาพอื่น
 
5. รพ. ที่อยู่ในพื้นที่กันดาร เสี่ยงภัยและเบาบาง มักจะมีประเด็นเรื่องค่าใช้จ่ายบุคลากรที่มากเมื่อเทียบกับงบประมาณหรือรายได้ที่คาดว่าจะได้รับ ในปี 58 บอร์ดได้ตระหนักและให้ความสำคัญในเรื่องนี้ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงภัยภาคใต้ที่มีค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรมากกว่าภาคอื่นอย่างชัดเจน และในปีก่อนๆ ต้องมีการช่วยเหลืองบประมาณจากส่วนอื่นมาช่วย จึงได้มีมติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 58 ที่จะขอเสนองบประมาณพิเศษเฉพาะโรงพยาบาลในพื้นที่ภาคใต้ทั้งระบบ เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับงบประมาณส่วนอื่น ซึ่งอาจจะทำให้เกิดปัญหาหากต้องมาช่วยในส่วนนี้ นอกจากนี้ การจัดสรรงบประมาณสำหรับพื้นที่ดังกล่าวเพิ่มเติมจากต้นสังกัด จะร่วมทำให้สภาพคล่องดียิ่งขึ้น
 
เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเบ็ดเสร็จและให้เกิดความยั่งยืน รมว.สธ. จึงได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการปรับปรุงสถานะทางการเงินของหน่วยบริการสังกัด สป.สธ. โดยมีนายแพทย์ยุทธ โพธารามิก เป็นประธาน มีตัวแทนจากผู้ทรงคุณวุฒิและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทำหน้าที่ในการหาข้อเท็จจริงและเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน
 
จะรักษาโรค ก็ต้องตรวจและวินิจฉัยให้ชัดเจนก่อนว่าปัญหาอยู่ตรงไหน เพื่อกำหนดวิธีรักษา และจัดยาให้ถูกกับอาการใช่ไหมครับ

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น