เอเอฟพี – ผู้พิพากษาศาลรัฐบาลกลางรับรองแผนปรับโครงสร้างหนี้18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ของเทศบาลเมืองดีทรอยต์ ศูนย์กลางอาณาจักรรถยนต์ในสหรัฐฯ ซึ่งประสบภาวะล้มละลายครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกันเมื่อปีที่แล้ว และนับเป็นการเปิดทางให้เมืองยานยนต์แห่งนี้สามารถลืมตาอ้าปากได้อีกครั้ง
ผู้พิพากษา สตีเวน โรดส์ มีคำวินิจฉัยวานนี้(7)ว่า แผนปรับโครงสร้างเป็นไปตามเงื่อนไขของมาตรา 9 ในกฎหมายล้มละลายของสหรัฐฯ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อประคับประคองสภาพการคลังของเมืองดีทรอยต์และรัฐมิชิแกนให้กลับมาแข็งแกร่งดังเดิม
“วันนี้ถือเป็นวันแห่งประวัติศาสตร์สำหรับเมืองดีทรอยต์และรัฐของเราด้วย” ผู้พิพากษา เจรัลด์ โรเซน ซึ่งรับหน้าที่ผู้ไกล่เกลี่ยกรณีการล้มละลายของเมืองดีทรอยต์ เปิดแถลงข่าว
ดีทรอยต์ยื่นขอความคุ้มครองจากการล้มละลายเมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2013 หลังเทศบาลเมืองต้องแบกรับหนี้สินสูงกว่า 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ฐานภาษีของเมืองร่อยหรอลงทุกวัน เนื่องจากพลเมืองผิวขาวและชนชั้นกลางอพยพหนีไปอยู่ชานเมืองกันมากขึ้น
หลังจากพิจารณาอยู่นานหลายสัปดาห์ ในที่สุดศาลก็ได้อนุมัติแผนปรับโครงสร้างซึ่งยกหนี้ระยะยาวให้แก่เมืองดีทรอยด์ประมาณ 1 ใน 3 หรือ 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลการคลังของเมือง และกำหนดมาตรการปรับโครงสร้างเพื่อลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ลง
สื่อสหรัฐฯรายงานว่า เงินทุนบางส่วนที่ถูกปล่อยโดยแผนปรับโครงสร้างหนี้จะนำไปฟื้นฟูภาคบริการสาธารณะของดีทรอยต์ที่กำลังย่ำแย่หนัก เช่น ตำรวจ และหน่วยดับเพลิง เป็นต้น นอกจากนี้ก็จะนำไปแก้ไขความเสื่อมโทรมของเมือง ซึ่งเวลานี้มีบ้านเรือนและอาคารถูกทิ้งร้างถึง 80,000 หลัง
“นี่ไม่ใช่จุดจบ และไม่ใช่จุดเริ่มต้นของจุดจบด้วยซ้ำ แต่อาจจะเป็นจุดจบของการเริ่มต้นก็เป็นได้” ผู้พิพากษา โรเซน อ้างวาทะของอดีตนายกรัฐมนตรี วินสตัน เชอร์ชิล ที่พูดไว้หลังจากอังกฤษมีชัยชนะระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2
เมืองซึ่งเป็นบ้านเกิดของ 3 ค่ายรถยักษ์ใหญ่อย่าง เจเนอรัล มอร์เตอร์ส, ฟอร์ด มอเตอร์ และ ไครสเลอร์ เริ่มปรากฏสัญญาณเสื่อมโทรมตั้งแต่ 60 ปีที่แล้ว หลังสถิติอาชญากรรมพุ่งสูงและประชาชนอพยพย้ายออกมากขึ้นเรื่อยๆ
พนักงานรัฐทั่วอเมริกาต่างจับตาสถานการณ์ในดีทรอยต์อย่างใกล้ชิด เพราะเกรงว่าพวกเขาเองก็จะต้องถูกตัดเงินบำนาญหลังเกษียณ หากรัฐหรือเมืองที่อาศัยอยู่มีหนี้สินล้นพ้น