xs
xsm
sm
md
lg

ยันแก้ ม.41 คุ้มครองผู้เสียหายทุกสิทธิไม่แก้ปัญหา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“หมอไพโรจน์” ติงแพทยสภาทำสังคมเข้าใจผิด กม. คุ้มครองผู้เสียหายฯ ย้ำแก้ไขมาตรา 41 ขยายการคุ้มครองผู้เสียหายทุกสิทธิช่วยไม่ได้ทั้งหมด ยืนยัน กม. ดีจริงทั้งต่อแพทย์และคนไข้

วันนี้ (11 ธ.ค.) นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ในฐานะอดีตกรรมการแพทยสภา กล่าวถึงกรณีแพทยสภาค้านร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการบริการสาธารณสุข พ.ศ. ... เนื่องจากแพทย์ส่วนใหญ่ไม่รับร่างดังกล่าว ว่า ตนเป็นหนึ่งในผู้ที่ผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าว และมีการพิจารณาถึงตัวกฎหมายแล้วว่าส่งผลดีต่อแพทย์ ซึ่งตรงกันข้ามกับที่แพทยสภาออกมาโจมตี และระบุว่า แพทย์ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย อย่างไรก็ตาม ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวมีการพูดกันมานาน และผ่านการประชาพิจารณ์มาหลายครั้ง ขณะนี้มีร่างกฎหมายอยู่ 2 ฉบับ คือ อยู่ที่คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) หากจะผลักดันก็สามารถทำได้ทันที

นพ.ไพโรจน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา แพทยสภามักออกมาทำให้สังคมเข้าใจผิดว่า ร่างพ.ร.บ. นี้ ไม่ส่งผลดีต่อแพทย์ ทำให้ปัญหาการฟ้องร้องระหว่างแพทย์และคนไข้ยังคงมี ส่วนการเสนอการแก้ไขมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 เพื่อขยายการช่วยเหลือผู้เสียหายทุกทั้งสิทธิ และขยายวงเงินช่วยเหลือเพิ่มขึ้นนั้น ไม่ได้ช่วยทั้งหมด เพราะมาตรา 41 ไม่ได้ระบุถึงการเยียวยาทางแพ่งกรณี ผู้เสียหายไม่สามารถเลี้ยงดูบุตรหลาน หรือบิดามารดาได้ ซึ่งจำเป็นต้องเยียวยาในส่วนนี้ แต่ในมาตรา 41 ไม่มี สุดท้ายผู้เสียหายก็อาจฟ้องร้องอีก แต่ในทางกลับกัน ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายฯ จะมีการครอบคลุมทางแพ่ง แม้จะไม่สามารถกำหนดว่าให้ครอบคลุมการฟ้องร้องทางอาญา แต่เมื่อทางแพ่งสิ้นสุด มีการเจรจาแล้วทุกอย่างก็จบ ผู้เสียหายก็จะไม่ฟ้องร้อง ทั้งนี้ ต้องเข้าใจก่อนว่า การเขียนในกฎหมายว่าห้ามฟ้องร้องทางอาญา เป็นการจำกัดสิทธิเกินไป เรื่องนี้แพทยสภาก็ทราบดี ดังนั้น อยากให้ทางแพทยสภาให้ข้อมูลรอบด้านด้วย

ด้าน ศ.คลินิก นพ.อำนาจ กุสลานันท์ ประธานฝ่ายกฎหมายและจริยธรรม แพทยสภา กล่าวว่า การที่เสนอร่างแก้ไขมาตรา 41 และ 42 ใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 เพราะมีการแก้ไขตัวข้อกฎหมายให้ครอบคลุมกรณีฟ้องแพ่งและอาญา โดยในมาตรา 41 ให้มีการขยายการคุ้มครองประชาชนทั้งประเทศทั้ง 3 กองทุนสุขภาพภาครัฐ และเสนอแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 42 คือ เมื่อรับเงินช่วยเหลือแล้วให้ยุติการฟ้องร้องทั้งทางแพ่ง และ อาญา ซึ่งเรื่องนี้ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการ (บอร์ด) แพทยสภาตั้งแต่ปี 2555 และในปี 2557 ก็ได้เสนอเข้าบอร์ด โดยขั้นตอนต่อไปจะนำเสนอ รมว.สาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อพิจารณาเรื่องนี้ต่อไป

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น