xs
xsm
sm
md
lg

ศาลไม่รับฎีกา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ฟ้อง รพ.พญาไท

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


ศาลฎีกาสั่งไม่รับฎีกา “ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์” ฟ้องแพ่ง รพ.พญาไท-คณะแพทย์ทำคลอดลูกชายพิการ เรียกค่าเสียหาย 57 ล้าน ชี้ยื่นฎีกาเกินกำหนดเวลา 30 วัน



ที่ห้องพิจารณา 416 ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก วันนี้ (11 ธ.ค.) ศาลอ่านคำสั่งศาลฎีกา ที่นายพิทักษ์พงค์ ล้อเสริมวัฒนา หรือน้องเซนต์ อายุ 23 ปี ผู้เสียหายทางการแพทย์ โจทก์คดีผู้บริโภค หมายเลขดำที่ ผบ.1821/2552 อุทธรณ์คำสั่งที่ศาลชั้นต้นไม่รับฎีกาและคำขออนุญาตฎีกาของโจทก์ คดีที่ยื่นฟ้องคดีผู้บริโภค เรียกค่าเสียหาย 57 ล้านบาท กับบริษัทประสิทธิ์พัฒนา จำกัด (มหาชน) เจ้าของ รพ.พญาไท 1, พญ.ยรรยงค์ มังคละวิรัช และ นพ.สันติ สุทธิพินทวงศ์ จำเลยที่ 1-3 จากกรณีเมื่อปี 2534 ร่วมกันทำคลอดเป็นเหตุให้นายพิทักษ์พงค์ติดเชื้อทำให้เกิดความผิดปกติทางร่างกายขายาวไม่เท่ากัน เกิดความผิดปกติกระดูกสันหลังเคลื่อน โพรงไขสันหลังตีบแคบ และหมอนรองกระดูกเคลื่อนกดทับไขสันหลังและเส้นประสาท ที่เป็นความเสียหายใหม่ โดยใช้สิทธิยื่นฟ้องคดีตามบทบัญญัติ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551

ขณะที่ ฝ่าย รพ.พญาไท จำเลย ยื่นคำคัดค้านอ้างว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำกับสำนวนที่เคยฟ้องคดีศาลแพ่ง ที่ศาลวินิจฉัยว่าคดีขาดอายุความแล้ว ส่วนโจทก์ได้คัดค้านคำให้การฝ่ายจำเลยว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นความเสียหายใหม่ ต่อเนื่องจากความเสียหายเดิมอันเป็นผลจากการกระทำของจำเลย ส่วนประเด็นการฟ้องซ้ำนั้นศาลยังไม่เคยพิจารณาวินิจฉัยว่าจำเลยได้กระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ จึงขอให้ศาลยกคำคัดค้านของจำเลย

ขณะที่ศาลแพ่ง มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2552 ให้ยกฟ้องคดี เนื่องจากเห็นว่า โจทก์ บรรยายฟ้องว่าพวกจำเลยได้ทำประมาท เป็นเหตุให้โจทก์พิการ โดยความเสียหายที่เกิดขึ้น เป็นผลสืบเนื่องจากมูลคดีหมายเลขแดง ที่ 12300/2543 ที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาเป็นที่สิ้นสุดให้ยกฟ้อง รพ.พญาไท 1 กับพวกไปแล้ว เพราะคดีหมดอายุความแพ่ง 1 ปี จึงเป็นกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาที่สิ้นสุดและเป็นกรณีที่มีคู่ความเดียวกัน ดังนั้นฟ้องโจทก์คดีผู้บริโภคนี้จึงเป็นการฟ้องซ้ำ และเมื่อพบว่าโจทก์เคยยื่นฟ้องจำเลยในคดีแพ่ง ก่อนที่จะมี พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ดังนั้นเมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาในคดีแพ่งเป็นที่สิ้นสุดว่าคดีขาดอายุความแล้ว ฟ้องโจทก์คดีผู้บริโภคนี้จึงขาดอายุความด้วย ต่อมาโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษายกฟ้องดังกล่าว โดยศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภค พิพากษายืนยกฟ้อง โจทก์จึงยื่นฎีกาและคำร้องขออนุญาตฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่ศาลแพ่งซึ่งเป็นศาลชั้นต้น มีคำสั่งไม่รับฎีกา โจทก์จึงยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกาดังกล่าว

ทั้งนี้ ศาลฎีกาได้ประชุมปรึกษาหารือกันแล้ว เห็นว่า คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภค เป็นที่สุด ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 49 วรรคสอง เว้นแต่จะมีการยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อขอฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย โดยการยื่นคำร้องเพื่อขออนุญาตฎีกานั้นต้องยื่นพร้อมกับฎีกาคดีของโจทก์ ภายในกำหนด 1 เดือนนับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ฯ ตามพ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคฯ มาตรา 51 วรรคหนึ่ง ซึ่งกรณีนี้ปรากฏว่า โจทก์ยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาเกินกำหนดเวลาดังนั้นเป็นการยื่นที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาจึงมีคำสั่งให้ยกคำร้องขออนุญาตฎีกาและไม่รับฎีกาโจทก์

แต่ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคฯ เกี่ยวกับการฎีกา กำหนดว่าให้ศาลฎีกาเท่านั้น ที่มีอำนาจในการอนุญาต หรือไม่อนุญาตฎีกา และรับหรือไม่รับฎีกา ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาและยกคำขออนุญาตฎีกาของโจทก์นั้น จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นควรมีคำสั่งใหม่ให้ถูกต้อง โดยให้ยกคำสั่งของศาลชั้นต้นที่มีคำสั่งไม่รับฎีกาและยกคำขออนุญาตฎีกาของโจทก์

ภายหลังนางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา มารดาผู้เสียหายและประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่าวว่า ศาลฎีกามีคำสั่งไม่รับฎีกา แต่ขณะเดียวกันศาลฎีกาก็ได้สั่งให้ยกเลิกคำสั่งเดิมของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ด้วยที่ไม่รับคำร้องฎีกาเพราะ การยื่นฎีกาคดีบริโภค หากจะยื่นฎีกาประเด็นข้อเท็จจริงก็จะต้องให้ศาลฎีกาอนุญาตก่อนเท่านั้น ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์สั่งไม่รับฎีกาจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ แต่ในส่วนที่ยื่นฎีกาเมื่อพ้นกำหนด ปัญหาก็มาจากทนายความไม่ได้ยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาภายใน 30 วันจึงเป็นผลให้ศาลฎีกามีคำสั่งไม่รับฎีกา ซึ่งระหว่างจะยื่นฎีกาช่วงที่เกิดอุทกภัยพอดี ตนพยายามติดตามคดีโทรสอบถามตลอดว่าได้ยื่นคำร้องขอฎีกาหรือยัง โดยทนายความที่มาช่วยดูแลคดีเรา ก็มาจากกระทรวงยุติธรรม เคยเป็นประธานที่ปรึกษาผู้ใหญ่ในกระทรวงยุติธรรม แต่ก็ยังพลาดและตกม้าตายตอนจบแบบนี้ ดังนั้นเมื่อคดีแล้วเราต้องติดตามจากทนายความด้วย ซึ่งหลังจากนี้จะหาวิธีต่อไปว่าจะมีการเยียวยาอะไรได้หรือไม่ โดยตนพยายามจะไม่กล่าวโทษกับทนายความ แต่เมื่อผลออกมาเช่นนี้ ต้องตั้งสติและมองว่าทางออก อาจมี 3 ทาง คือ 1. เราจะยังสามารถนำมติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติปี 2551 ไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนดำเนินคดีอาญาได้หรือไม่ 2. สามารถยื่นฟ้องกระทรวงยุติธรรมได้หรือไม่ ที่ทนายความได้ทำให้เกิดความเสียหายเพราะเราเสียโอกาสในการต่อสู้คดี และ 3. เราจะยังสามารถดำเนินคดีอาญาต่อแพทย์ทั้งสองได้หรือไม่ ซึ่งตลอดเวลาเราพยายามหลีกเลี่ยงมาตลอดที่จะไม่ดำเนินคดีอาญา แต่ถ้ายังสามารถดำเนินคดีทางแพ่งได้ ก็จะเดินหน้าต่อไปด้วย หลังจากสู้คดีมากว่า 20 ปี เราก็มีความหวังจะให้นำข้อเท็จจริงสู่กระบวนการพิจารณาพิสูจน์ข้อเท็จจริง และอยากให้จะเป็นบรรทัดฐานสังคมต่อไป













กำลังโหลดความคิดเห็น