“วัชรพล” รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ย้ำปฏิรูปตำรวจเน้นกระจายอำนาจ ยันแนวคิดที่เสนอ สนช.ไปไม่มีการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบบุคคลในบอร์ด ก.ตร.
วันนี้ (3 ธ.ค.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงการปฏิรูปตำรวจ ภายหลังคณะกรรมาธิการ ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เผยแนวคิดปรับโครงสร้างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยยุบ ตร.และคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ โดยให้หน่วยงานตำรวจไปอยู่ภายใต้ท้องถิ่นว่า สปช.เพียงแค่เสนอแนะอยากเห็นตำรวจกระจายอำนาจ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของ กมธ.ตำรวจฯที่เสนอแนวคิดการปฏิรูปตำรวจว่าต้องกระจายอำนาจ โดยล่าสุดคณะอนุกรรมาธิการตำรวจ ใน กมธ.ตำรวจ ที่ตนเป็นประธานได้เสนอแนวคิดการปฏิรูปตำรวจ ผ่าน กมธ.ไปยัง สนช.แล้ว จากนั้นจะเสนอ สปช.ต่อไป ซึ่งแนวคิดทั้งของคณะอนุฯ และสปช.จะต้องนำมาถกแล้วตกผลึกเป็นแนวคิดร่วมกัน จากนั้นต้องมีเวทีประชาพิจารณ์
พล.ต.อ.วัชรพลกล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่ถึงเวลาพูดเรื่องการยุบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตอนนี้ ทั้ง สนช. สปช.และ ตร.ต่างมีคณะทำงานเสนอแนวคิดการปฏิรูปตำรวจ จากนี้ก็ต้องนำแนวคิดจากทุกชุดมาหาข้อสรุปร่วมกัน โดย สปช.จะร่างกรอบใหญ่ในรัฐธรรมนูญ การปฏิรูปตำรวจต้องเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจสังคม ภูมิศาสตร์ของประเทศด้วย โดยมีการนำตัวอย่างของประเทศอื่นๆ ที่มีการปฏิรูปตำรวจเช่นกันมาปรับใช้
“แนวคิดการปฏิรูปตำรวจที่คณะอนุฯ เสนอไป คือ มีการกระจายอำนาจ โดยยังมีสำนักงานตำรวจแห่งชาติยังคงอยู่ แต่ปรับรูปแบบให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น การทำให้เป็นรูปแบบกระทรวงก็ยังเป็นเพียงแนวคิด ตอนนี้เปิดรับทุกแนวคิดไม่ปิดกั้น ซึ่ง ตร.จำต้องพิจารณาว่าแนวคิดใดตอบโจทย์ และคุ้มค่า "พล.ต.ท.วัชรพลกล่าว
รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะอนุฯ ชุดที่ตนเป็นประธานได้เสนอแนวคิดไปว่าตำรวจต้องกระจายอำนาจ ยกฐานะกองบัญชาการ (บช.) หลักๆ เป็นนิติบุคคล เพื่อ บช.มีอำนาจในการบริหารจัดการอย่างเต็มที่ สร้างความชำนาญการเจริญเติบโตในสายงาน ไม่ใช่วิ่งข้ามไปข้ามมา บช.มีงบประมาณตัวเอง บริหารบุคลากรตัวเอง มีตัวชี้วัดของตัวเอง โดยยังมี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้บังคับบัญชา ตอนนี้ ตร.มี 30 กองบัญชาการ แนวคิดที่เสนอไปจะให้กองบัญชาการหลักๆที่อยู่ในพื้นที่ ทำงานใกล้ชิดสัมผัสประชาชน เป็นนิติบุคคล โดยโครงสร้างใหญ่ยังไม่เปลี่ยน ยังอยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี ซึ่งมองเหมือนกระทรวงศึกษาธิการที่ให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคล
ผู้สื่อข่าวถามถึงการเสนอให้ตำรวจขึ้นการบังคับบัญชากับองค์กรส่วนท้องถิ่น พล.ต.อ.วัชรพลกล่าวว่า ประเทศไทยเป็นรัฐเดี่ยวที่ยังปกครองโดยรัฐบาลเดียว ไม่ได้แบ่งเป็นรัฐต่างๆ แต่ในที่สุดประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าตำรวจควรเป็นอย่างไรเพื่อให้สามารถดูแลชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้ ซึ่งแนวคิดการปฏิรูปที่แตกต่างเสนอได้แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับความเหมาะสม
พล.ต.อ.วัชรพลกล่าวถึงแนวคิดเกี่ยวกับ ก.ตร.ว่า ในความเห็นส่วนตัวที่ตนเป็นอดีตข้าราชการตำรวจ มองว่าเรื่องคณะกรรมการตำรวจการมีผู้ทรงคุณวุฒิเป็นเรื่องดีจะได้มีความเห็นหลากหลาย แต่หากมองว่าการบริหารบุคคลเป็นปัญหาก็ควรมีกฎกติกา มารยาท การให้ความดีความชอบที่โปร่งใสตรวจสอบได้ ทั้งนี้ไม่ขึ้นกับบุคคลหรือการมีหรือไม่มีฝ่ายการเมืองในบอร์ด แนวคิดที่เสนอ สนช.ไปก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบบุคคล เรื่องความเป็นธรรมแต่งตั้งโยกย้ายขึ้นอยู่กับการประเมินผล กฎ กติกาในการพิจารณาที่ต้องสร้างความเชื่อมั่นแก่ตำรวจ