xs
xsm
sm
md
lg

คสช.ปฏิรูปตำรวจส่อเหลว ชาวบ้านฝันค้าง!?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผ่าประเด็นร้อน

หวังว่าคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ฉบับที่ 87-89/2557 เกี่ยวกับการปรับปรุงโครงสร้างการบริหารงานตำรวจ ที่เกี่ยวกับคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) และคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เป็นเพียงมาตรการชั่วคราวเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าสำหรับการบริหารองค์กรของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อรองรับผู้บัญชาการตำรวจคนใหม่ และรองรับการแต่งตั้งระดับตำแหน่งรองลงมา หลังจากที่มีการเกษียณอายุราชการในปลายเดือนกันยายนนี้เท่านั้น หลังจากนั้นเมื่อมีสภาปฏิรูปประเทศ มีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีรัฐบาลใหม่ จะมีการเสนอร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงโครงสร้างและการบริหารงานตำรวจใหม่หรือเปล่า

แต่ถ้าไม่มี หรือมีการนำเสนอคำสั่ง คสช.ดังกล่าวเปลี่ยนแปลงมาเป็นกฎหมายใช้บังคับเหมือนกับประกาศคณะปฏิวัติเหมือนในอดีตแล้วละก็ถือว่าเป็นข่าวร้ายสำหรับประชาชนแน่นอน

ดังนั้นต้องภาวนาว่านี่ไม่ใช่การเริ่มต้นปฏิรูปวงการตำรวจ เป็นเพียงการออกมาตรการมาใช้ชั่วคราวเท่านั้น

แน่นอนว่าในคำสั่งดังกล่าวย่อมได้รับการขานรับด้วยความยินดีจากนายตำรวจที่จะมีส่วนได้เสียกับตำแหน่งในอนาคต เพราะเป็นการเพิ่มอำนาจให้กับผู่บัญชาการตำรวจแห่งชาติทั้งในเรื่องของการเสนอชื่อแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่เพื่อสืบทอดต่อไป รวมไปถึงการมีอำนาจในการแต่งตั้งโยกย้ายนายตำรวจในตำแหน่งที่ถัดลงมา ที่สำคัญก็คือมีการ “รวมศูนย์อำนาจ” ยิ่งกว่าเดิมเสียอีก

พิจารณาจากโครงสร้างใหม่เริ่มจาก คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ก่อน จากเดิมมีกรรมการรวม 11 คน เปลี่ยนแปลงเป็นเหลือแค่ 7 คน โดยมีการเปลี่ยนแปลง คือฝ่ายการเมือง 2 คนคือนายกรัฐมนตรี และรองนายกฯ ที่นายกฯ มอบหมายให้ดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และเพิ่มฝ่ายข้าราชการประจำ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ส่วนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากเดิม 4 คนก็เหลือ 2 คนให้คัดเลือกจากวุฒิสภา แล้วมีผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นกรรมการและเลขานุการ แต่ที่สำคัญก็คือ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจะเป็นคนเสนอชื่อผู้บัญชาการตำรวจฯคนใหม่ให้พิจารณา แม้ว่าจะจำกัดเฉพาะระดับรอง ผบ.ตร.และจเรตำรวจฯเท่านั้นก็ตาม

แม้ว่าดูเผินๆ ก็จะเห็นว่าอาจเป็นการลดอำนาจของฝ่ายการเมืองลงบ้างในเรื่องการเสนอชื่อผู้บัญชาการตำรวจคนใหม่ แต่ก็ไปเพิ่มอำนาจ “รวมศูนย์” กับฝ่ายข้าราชการประจำโดยเฉพาะอำนาจของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเข้ามาแทน

ที่น่าสนใจก็คือ คราวนี้มีการเพิ่มปลัดกระทรวงกลาโหมเข้ามาเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง อ้างว่าเพื่อยึดโยงกับงานด้านความมั่นคง แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่งนี่อาจเป็นการแทรกแซงโดยฝ่ายกองทัพ

ขณะเดียวกัน เมื่อมาพิจารณาถึงโครงสร้างใหม่ของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) บ้าง จากเดิมมีจำนวน 22 คน ให้เหลือแค่ 13 คน โดยกรรมการโดยตำแหน่งก็ยังเหมือนเดิมแต่เพิ่มปลัดกระทรวงกลาโหม และตัดกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่เลือกมาจากภายในจากตำรวจและจากคณะกรรมการโดยตำแหน่งออกไป แล้วให้วุฒิสภาเลือกเข้ามา 2 คน มองเผินๆ ก็ดูกะทัดรัด กระฉับกระเฉง แต่ความหมายก็คือเป็นความกระทัดรัดแบบกระชับอำนาจของพวกตำรวจและนักการเมืองด้วยกันเอง เป็นการให้อำนาจกับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมากกว่าเดิม

จากเดิมที่ให้อำนาจกับฝ่ายการเมืองแบบเบ็ดเสร็จมีการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง แต่คราวนี้เปลี่ยนเป็นแทรกแซงจากฝ่ายข้าราชการประจำโดยเฉพาะจากฝ่ายกองทัพที่อ้างเรื่องความมั่นคงเข้ามา

เป้าหมายเฉพาะหน้าก็คือใครจะได้เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่ และ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ รักษาราชการแทน ผบ.ตร. จะเสนอชื่อใคร ระหว่าง พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ และ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง

จากโครงสร้างใหม่ผลจากคำสั่ง คสช.ดังกล่าวทำให้ ก.ต.ช. และ ก.ตร.ชุดปัจจุบันต้องพ้นสภาพไปทันที ทำให้เหลือกรรมการโดยตำแหน่งเท่านั้น กระชับและรวบรัดกว่าเดิมอีก

อย่างไรก็ดี หวังว่านี่คือมาตรการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพียงชั่วคราวเท่านั้น เพื่องานบริหารในสำนักงานตำรวจแห่งชาติเดินไปข้างหน้าแบบไม่ติดขัด ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ แต่ถ้าบอกว่านี่คือการปฏิรูปตำรวจแล้ว ก็ต้องบอกว่าผิดหวังอย่างแรง เพราะมั่นใจว่านี่ไม่ใช่ความต้องการของชาวบ้านส่วนใหญ่ที่ต้องการให้มีการกระจายอำนาจในการบังคับบัญชาและการแต่งตั้งให้คุณให้โทษ เพราะภารกิจของตำรวจแตกต่างจากกองทัพ เนื่องจากต้องเกี่ยวข้องกับประชาชนประจำวัน เป็นการอำนวยความยุติธรรมต้นน้ำ

และที่สำคัญที่สุดประชาชนต้องเป็น “นาย” ตำรวจ ต้องทำให้ตำรวจเกรงใจประชาชนให้ได้ ไม่ใช่เกรงใจผู้บังคับบัญชาที่ให้คุณให้โทษได้อย่างเดียว!!
กำลังโหลดความคิดเห็น