สปสช. พร้อมหนุนนโยบาย “ทีมหมอครอบครัว” ของ สธ. เทงบกว่าพันล้านบาท สร้างกลไกการเงินเป็นงบจ่ายตามคุณภาพบริการ ด้านหมออนามัยย้ำต้องพัฒนาหมออนามัยในพื้นที่ด้วย
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สปสช. พร้อมสนับสนุนนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่จะจัดตั้ง “ทีมหมอครอบครัว” ซึ่งเป็นการทำงานของสหวิชาชีพและบุคลากรสาธารณสุขในระดับพื้นที่ เพื่อดูแลสุขภาพของชาวบ้านแบบถึงครอบครัว เน้นการส่งเสริมป้องกันโรค โดยจะสนับสนุนกลไกทางการเงินสำหรับโรงพยาบาลที่มีทีมหมอครอบครัว คือ จะมีเกณฑ์เงื่อนไขต่างๆ เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล( รพ.สต.) แห่งหนึ่งมีประชากร 5 พันคน มีผู้หญิงที่ควรตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก 100 คน หากทุกคนมารับการตรวจทั้งหมด ก็ถือว่าโรงพยาบาลนั้นให้บริการครอบคลุมผ่านเกณฑ์เงื่อนไข หรือกรณีหญิงตั้งครรภ์มาฝากครรภ์อย่างทั่วถึงในแต่ละพื้นที่ก็ถือว่าตรงตามเกณฑ์ ถือเป็นผลมาจากคำแนะนำของทีมหมอครอบครัวในการดึงชาวบ้านเข้ารับบริการ
“กลไกทางการเงินในส่วนนี้เรียกว่า งบจ่ายตามคุณภาพการบริการ แต่ไม่ได้หมายความว่าเฉพาะโรงพยาบาลที่มีทีมหมอครอบครัวเท่านั้นถึงจะได้รับงบส่วนนี้ เราเน้นที่ผลลัพธ์ที่เกิดกับประชาชน เพราะเมื่อมีทีมหมอครอบครัว ซึ่งจะทำงานคลุกคลีกับชาวบ้าน จากอดีตคนไทยขาดที่ปรึกษาการแพทย์ ยิ่งชาวบ้านยิ่งไม่มี หากมีจะทำให้ประชาชนรู้สึกอบอุ่นมากขึ้นด้วย ต่อไปทุกคนจะมีหมอ
ประจำตัว ดูแลสุขภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ งบประมาณด้านนี้จะอยู่ที่ประมาณพันกว่าล้านบาท ซึ่งแต่เดิมสปสช.มีการใช้ในด้านต่างๆ อยู่แล้ว แต่ครั้งนี้จะปรับบทบาทให้เข้ากับการเดินหน้านโยบายทีมหมอครอบครัวมากขึ้น โดยจะร่วมกันทำงานกับ สธ.และหน่วยงานต่างๆ เพื่อเดินหน้าเรื่องนี้” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
นายสาคร นาต๊ะ นายกสมาคมหมออนามัย กล่าวว่า นโยบายนี้เป็นเรื่องดี เพราะประชาชนจะได้รับการดูแลโดยทีมหมอครอบครัวที่มีศักยภาพ แต่สิ่งสำคัญต้องมีการพัฒนาหมออนามัยในพื้นที่ เพราะเป็นกลุ่มที่ถึงตรงชาวบ้าน โดยมีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวเป็นผู้สนับสนุน ส่วนทีมสหวิชาชีพก็จะเป็นกลุ่มมาเสริมมากกว่า ซึ่งตรงนี้ยังไม่เห็นรายละเอียดถึงการแบ่งการทำงานที่ชัดเจน คงต้องรอดูรายละเอียด และการแถลงนโยบายดังกล่าวก่อน
ด้าน นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.) กล่าวว่า ถือเป็นนโยบายที่ดีในการดูแลประชาชนทุกคน แต่สิ่งสำคัญต้องมุ่งพัฒนาทีมหมอครอบครัวที่อยู่ในระดับพื้นที่หรือ เจ้าหน้าที่อนามัยด้วย เพราะคือคนทำงานที่คลุกคลีกับชุมชนอย่างแท้จริง จนเรียกกันว่า หมอใกล้บ้าน หรือหมออนามัย และพยาบาลชุมชน ต้องให้ความสำคัญกับพวกเขา เนื่องจากที่ผ่านมา ทีมหมอครอบครัวที่ทำหน้าที่สนับสนุนในการให้คำแนะนำด้านการแพทย์ต่างๆ จะเป็นทีมจากโรงพยาบาลชุมชน มีแพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักกายภาพบำบัด ฯลฯ เมื่อลงพื้นที่ไปสนับสนุนการทำงานของทีมในระดับพื้นที่ จะเกิดความรู้สึกแบ่งแยก ระหว่างหมอใหญ่ และหมออนามัย ทำให้ชาวบ้านเกิดคำถามขึ้นว่า จะสามารถเชื่อหมออนามัยได้หรือไม่ และที่ผ่านมาก็มีสถานการณ์ที่บั่นทอนกำลังใจหมออนามัยมาก เช่น เมื่อทีมสนับสนุนลงพื้นที่ กลุ่มหมอในระดับพื้นที่กลับทำหน้าที่เพียงจัดคิวคนไข้ เตรียมอาหาร เสิร์ฟน้ำเสิร์ฟกาแฟ พอทีมหมอครอบครัวกลับไปก็ทิ้งภาระงานทั้งกรอกข้อมูล เช็กสต๊อกยา เคลียร์ทะเบียนคนไข้ และทำรายงาน ซึ่งหากปล่อยเช่นนี้จะกลายเป็นเพียงการเยี่ยมบ้านคนไข้เท่านั้น และลดทอนศักดิ์ศรี ศักยภาพของหมออนามัยและพยาบาลชุมชน
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่