xs
xsm
sm
md
lg

ควรตรวจมะเร็งเต้านมด้วยแมมโมแกรมเมื่อจำเป็นเท่านั้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รศ.ดร.ภญ.นุศราพร เกษสมบูรณ์
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

การศึกษาล่าสุดชี้ให้เห็นว่าการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมโดยใช้แมมโมแกรมอาจจะไม่มีประสิทธิภาพในการลดอัตราตายจากมะเร็งเต้านม

ข้อมูลจากมูลนิธิถันยรักษ์ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ระบุว่า มะเร็งเต้านมเป็นเนื้อร้ายที่พบมากที่สุดในผู้หญิง และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของผู้หญิงไทยมากเป็นอันดับสองรองจากมะเร็งปากมดลูก การตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นวิธีการเบื้องต้นที่จะช่วยให้ผู้หญิงทุกคนป้องกันตนเองจากมะเร็งเต้านม เป็นการตรวจ เพื่อให้รู้สึกถึงธรรมชาติของเต้านม และสังเกตด้วยตนเองว่ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นในบริเวณเต้านมของตนหรือไม่ โดยควรตรวจเดือนละครั้ง เริ่มตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป

ปัจจุบันผู้หญิงหลายคนอาจจะนิยมตรวจความผิดปกติของเต้านม โดยใช้เทคโนโลยีของเครื่องเอกซเรย์เต้านม หรือ แมมโมแกรม ซึ่งเป็นการถ่ายภาพรังสีเต้านม เพื่อตรวจหาความผิดปกติของเนื้อเยื่อเต้านม
ภาพจาก health.upyim.com
ผลการวิจัยเชิงสังเคราะห์โดยทีมวิจัยของ Cochrane Collaboration เรื่อง การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยแมมโมแกรม พบว่า จากผลการวิจัย 7 ฉบับ ที่ทำการวิจัยในผู้หญิงในช่วงอายุ 39 - 74 ปี จำนวนกว่า 600,000 ราย โดยแบ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับการตรวจด้วยแมมโมแกรม และ กลุ่มที่ไม่ได้รับการตรวจด้วยแมมโมแกรม ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าการตรวจคัดกรองไม่ได้ลดอัตราการตายจากมะเร็งเต้านม

(http://summaries.cochrane.org/CD001877/BREASTCA_screening-for-breast-cancer-with-mammography)

งานวิจัยนี้ สรุปว่า หากผู้หญิง 2,000 ราย ได้รับการตรวจแมมโมแกรมอย่างสม่ำเสมอเป็นเวลา 10 ปี จะมีผู้หญิงเพียง 1 รายเท่านั้น ที่จะได้รับประโยชน์จากการตรวจ โดยเธอจะไม่เสียชีวิตจากมะเร็งเต้านม

แต่จะมีผู้หญิงมากกว่า 200 ราย ที่ผลการตรวจจะเป็นผลบวกลวง (คือ จริงๆ ไม่เป็นมะเร็ง แต่ทำแมมโมแกรมแล้วบอกว่าเป็น มะเร็ง หรือ แสดงผลในขั้นต้นว่าน่าจะเป็นมะเร็งเต้านม จึงต้องมีการตรวจยืนยันอีกครั้ง โดยวิธีอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น การตรวจชิ้นเนื้อ) แต่เมื่อตรวจยืนยันอีกครั้ง กลับไม่พบว่าเป็นมะเร็งเต้านม ดังนั้นสิ่งที่ผู้หญิงกลุ่มนี้ต้องเผชิญ คือ ความวิตกกังวลอย่างมากระหว่างรอผลตรวจอีกครั้ง

นอกจากนี้ การตรวจแมมโมแกรมเป็นการตรวจโดยฉายรังสีไปยังเนื้อเยื่อเต้านม เพื่อดูเงาก้อนเนื้อในแผ่นฟิล์ม หากตรวจบ่อยๆ ย่อมเพิ่มความเสี่ยงจากการรับรังสี

ดังนั้น ผู้หญิงที่ต้องการตรวจแมมโมแกรม ควรจะได้รับทราบข้อมูลอย่างรอบด้าน ทั้งประโยชน์และความเสี่ยงจากการตรวจแมมโมแกรม และพิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจที่จะตรวจแมมโมแกรม

หมายเหตุ : 1 Cochrane Collaboration เป็นองค์กรอิสระ ไม่แสวงหากำไร ทำหน้าที่ให้บริการฐานข้อมูลผลการวิจัยเชิงสังเคราะห์ (Systematic reviews) โดยนักวิจัยส่วนใหญ่เป็นบุคลากรทางด้านการแพทย์ที่อาสาสมัครร่วมทำงานกับ Cochrane Review Group และมีทีมบรรณาธิการที่ทำหน้าที่ประเมินและคอยดูแลการทำวิจัยเชิงสังเคราะห์ให้ได้มาตรฐาน


 
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น