ศูนย์ข่าวขอนแก่น-สปสช.ผนึกกระทรวงสาธารณสุข และมหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดประชุมวิชาการ “รักษาด้วยใจ หายด้วยเทคโนโลยี” หวังพัฒนาระบบเครือข่ายบริการกลุ่มโรคที่มีอันตรายสูง และกลุ่มโรคที่มีปัญหาในพื้นที่จังหวัดร้อยแก่นสารสินธุ์ หวังให้บริการรักษาผู้ป่วย และประชาชนเข้าถึงง่าย มีระบบบริการที่มีมาตรฐานเดียวกันทุกสิทธิ ลดความเหลื่อมล้ำรักษาพยาบาล
วันนี้ (17 ต.ค.) ที่ห้องประชุมโรงแรมเซ็นทาราขอนแก่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดประชุมวิชาการ “รักษาด้วยใจ หายด้วยเทคโนโลยี” โดยมี นายแพทย์วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานเปิดประชุม เพื่อพัฒนาระบบเครือข่ายบริการกลุ่มโรคที่มีอันตรายสูง และกลุ่มโรคที่มีปัญหาในพื้นที่ มีบุคลากรที่เกี่ยวข้องจากโรงพยาบาลชุมชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าร่วมประชุมคับคั่ง
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2552 สปสช.มีนโยบายสนับสนุนการดำเนินงาน การพัฒนาระบบเครือข่ายบริการกลุ่มโรคที่มีอันตรายสูง และกลุ่มโรคที่มีปัญหาในพื้นที่ โดยประสานความร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อเชื่อมโยงการบริการแบบครบวงจร ตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ จนถึงตติยภูมิ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับบริการที่มีมาตรฐานอย่างทั่วถึง ทันเวลา และมีประสิทธิภาพ โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในแต่ละพื้นที่อย่างคุ้มค่า และเป็นไปตามมาตรฐานการรักษาในแต่ละระดับหน่วยบริการ
ปี 2558 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และกระทรวงสาธารณสุข ได้ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว จึงมีนโยบายสนับสนุนการพัฒนาระบบเครือข่ายบริการสุขภาพพัฒนามาตรฐานการให้บริการ พัฒนาระบบบริการในแต่ละเขตพื้นที่ โดยกระจายอำนาจการบริหารงบประมาณลงสู่ระดับเขต ผ่านกลไกคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพเขต (อปสข.) พัฒนาศักยภาพ อปสข. ให้มีศักยภาพในการค้นหาความจำเป็นด้านสุขภาพ การวางแผนด้านสุขภาพ การบริหารจัดการ การกำกับติดตาม การประเมินผลลัพธ์ด้านสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ สนับสนุนและร่วมกับหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง
ด้าน นพ.พิเชฏฐ ลีละพันธ์เมธา ผู้อำนวยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 7 ขอนแก่น กล่าวว่า ปัจจุบันโรคที่มีการเสียชีวิตสูง และโรคที่เป็นปัญหาในพื้นที่ “ร้อยแก่นสารสินธุ์” (ร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์) ประกอบด้วย โรคหลอดเลือดสมอง โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน โรคมะเร็งเต้านม สตรีตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูง ทารกแรกเกิด และการดูแลประคับประคอง ซึ่งทีมสุขภาพได้พัฒนาการดูแลผู้ป่วย 6 กลุ่มข้างต้นให้ได้ผลดี มีมาตรฐานเดียวกัน และสามารถเข้าถึงได้ง่าย เพื่อทำให้ประชาชนและผู้ป่วยเข้าถึงระบบบริการที่มีมาตรฐานเดียวกันทุกสิทธิ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการรักษาพยาบาล
แม้ว่าการพัฒนาเครือข่ายบริการทั้ง 6 เครือข่ายข้างต้น จะมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ และกำลังคน แต่สมาชิกในเครือข่ายทุกคนได้ทุ่มเททั้งแรงกาย แรงใจเต็มที่ในการทำงานทุกขั้นตอน ทั้งที่ไม่มีค่าตอบแทนเพิ่มเติม เพราะต้องการให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ดี มีคุณภาพ และทั่วถึงในทุกพื้นที่ ตามหลักการทำงาน รักษาด้วยใจ หายด้วยเทคโนโลยี
ด้าน รศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หัวหน้าเครือข่ายบริการโรคหลอดเลือดสมอง กล่าวว่า โรคหลอดเลือดสมอง หรือที่ประชาชนทั่วไปเรียกว่า โรคอัมพาต เป็นโรคที่พบบ่อย และก่อให้เกิดความพิการ และเสียชีวิตสูง การรักษาที่ดีที่สุดคือ ป้องกันไม่ให้เกิดโรค แต่หากเกิดโรคแล้วต้องรีบเข้าสู่ระบบบริการ Stroke Fast Track หรือทางด่วนโรคหลอดเลือดสมองให้เร็วที่สุด
การรักษาผู้ป่วยโรคอัมพาตชนิดสมองขาดเลือดที่ดีที่สุดคือ การให้ยาละลายลิ่มเลือดฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำภายในระยะเวลา 270 นาที นับตั้งแต่มีอาการ จนกระทั่งได้รับการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือด ผู้ที่มีอาการสงสัยว่าเป็นโรคอัมพาต ต้องรีบเข้ารักษาที่โรงพยาบาลทันที ซึ่งทุกโรงพยาบาลของรัฐในภาคอีสานมีความสามารถในการรักษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ