xs
xsm
sm
md
lg

WHO เผยโฉมแนวทางใหม่ในการป้องกัน “มะเร็งปากมดลูก” ทั้งสะดวกและถูกกว่าเดิม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - วันนี้ (3 ธ.ค.) องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เผยโฉมแนวทางใหม่ในการรักษาโรคมะเร็งปากมดลูก ซึ่งทำให้การปกป้องสตรีจากโรคที่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่ส่วนใหญ่แล้วสามารถป้องกันได้ชนิดนี้ สามารถทำได้ง่ายขึ้น ด้วยค่าใช้จ่ายที่น้อยลง

ทั้งนี้ มีการประมาณการว่า ในแต่ละปี มีจบชีวิตด้วยโรคมะเร็ง 270,000 คน โดยร้อยละ 85 ของผู้เสียชีวิตเป็นประชากรในประเทศกำลังพัฒนา ที่มีโอกาสในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างจำกัด และต้องดิ้นรนแสวงหาเงินค่าวัคซีนป้องกันโรค

ระหว่างเปิดตัวแนวทางใหม่ในการรักษา ณ ที่ประชุมมะเร็งโลก เมืองเมลเบิร์น ออสเตรเลีย องค์การอนามัยโลกได้แนะนำให้เด็กสาวอายุตั้งแต่ 9 ถึง 13 ปีเข้ารับวัคซีนป้องกันเชื้อ ฮิวแมนพาพิลโลมาไวรัส (HPV) 2 เข็ม ลดลงจากที่ก่อนหน้านี้ แพทย์เคยแนะนำให้ฉีดวัคซีน 3 เข็ม

วัคซีนดังกล่าวช่วยป้องกันการติดเชื้อฮิวแมนพาพิลโลมาไวรัส อันเป็นต้นตอของโรคมะเร็งปากมดลูกส่วนใหญ่ และผลการศึกษาชี้ว่า การลดวัคซีนลงเหลือ 2 เข็มนั้นให้ประสิทธิภาพเทียบเท่ากับการฉีดวัคซีน 3 เข็ม

WHO ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงนี้จะช่วยให้ขั้นตอนการให้วัคซีนทำได้ง่ายขึ้น ทั้งยังช่วยลดค่าใช้จ่าย

นาตาลี บรูเตต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันและควบคุมมะเร็งปากมดลูกระดับแถวหน้าขององค์การอนามัยโลกกล่าวว่า “แนวทางในการป้องกันมะเร็งปากมดลูกล่าสุดของ WHO จะช่วยรักษาชีวิตของเด็กสาวและผู้หญิงทั่วโลกเอาไว้ได้”

“แม้ว่าเราจะไม่มีปาฏิหาริย์ แต่การที่เราได้เครื่องมือป้องกันและรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ราคาย่อมเยาลง ก็จะช่วยบรรเทาปัญหาด้านงบประมาณสาธารณสุข โดยเฉพาะในประเทศที่มีรายได้ต่ำ”

เธอกล่าวเสริมว่า การค้นพบครั้งนี้มีส่วนช่วย “กำจัดโรคมะเร็งปากมดลูกได้เป็นอย่างมาก”

นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลกยังแนะนำด้วยว่า ทันทีที่ผู้หญิงเข้ารับการตรวจหามะเร็งปากมดลูก แล้วพบว่าตนเองปลอดภัย เธอสามารถเว้นช่วงก่อนกลับมาตรวจซ้ำได้อย่างน้อย 5 ปี ซึ่งจะช่วยลดค่ารักษาพยาบาลลงไปได้มาก

ทั้งนี้ ประเทศต่างๆ มากมายได้แนะนำให้ผู้หญิงที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปเข้ารับการตรวจหาโรคมะเร็งปากมดลูกทุกๆ 2 ปี

ในปัจจุบัน มีการประมาณการว่า สตรีทั่วโลกป่วยเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกมากกว่าหนึ่งล้านคน โดยจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุข เพื่อการป้องกัน การรักษาเพื่อขจัดโรค หรือการดูแลเพื่อบรรเทาอาการได้

แม้ว่าในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา อัตราโรคมะเร็งปากมดลูกในประเทศที่พัฒนาแล้วได้ลดฮวบลงไป ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการโครงการตรวจคัดกรองและรักษา แต่อัตราผู้ป่วยในประเทศกำลังพัฒนากลับไต่ระดับสูงขึ้น ซึ่งบ่อยครั้งเกิดจากการที่ผู้หญิงเหล่านี้ถูกจำกัดโอกาสในการเข้าถึงระบบรักษาพยาบาล

มาร์ลีน เทมเมอร์แมน ผู้อำนวยการฝ่ายงานอนามัยและการวิจัยด้านการเจริญพันธุ์ของ WHO ชี้ว่า การเลือกปฏิบัติต่อคนต่างเพศ และความไม่เท่าเทียมทางสังคม เช่น ฐานะ ชนชั้น การศึกษา และศาสนา ล้วนแล้วแต่มีส่วนทำให้เกิดปัญหา

เธอกล่าวเตือนทิ้งท้ายว่า “หากเราไม่จัดการกับปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศ และให้การรับรองสิทธิในการรักษาพยาบาลแก่ผู้หญิงทุกคน ก็จะต้องมีสตรีที่เสียชีวิตจากโรคมะเร็งปากมดลูกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ”


กำลังโหลดความคิดเห็น