xs
xsm
sm
md
lg

ชีวิตเร่งรีบ! ฟาดจานด่วน เมินผักผลไม้ เสี่ยงมะเร็ง ชวนปลูกผักปลอดสาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สสส. ชี้ชีวิตเร่งรีบ ทำกิน “ผัก - ผลไม้” น้อย หันฟาดอาหารจานด่วน ทำร่างกายขาดสมดุลอาหาร ก่อโรคเรื้อรังเพียบ ทั้งเบาหวาน หัวใจ มะเร็ง ชวนคนปลูกผักส่งเสริมชาว อ.สามพราน ปลูกผักผลไม้ปลอดสารพิษ สร้างค่านิยมอาหารเพื่อสุขภาพ ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ได้กว่าวันละ 1 ตัน

วันนี้ (1 ธ.ค.) ที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน จ.นครปฐม รศ.นพ.ปัญญา ไข่มุก ประธานคณะกรรมการกำกับทิศทางแผนอาหารเพื่อสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมรณรงค์ “รวมพล ชวนคนปลูกผัก” ภายใต้โครงการบ้านแสนรักษ์ ซึ่งเป็นโครงการเกษตรอินทรีย์ครบวงจรใน อ.สามพราน จ.นครปฐม ให้เป็นพื้นที่ต้นแบบของการเปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกพืชมาเป็นพืชปลอดสารเคมี

โดย รศ.นพ.ปัญญา กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยบริโภคผักผลไม้ปริมาณน้อยจากวิถีชีวิตที่เร่งรีบ โดยหันมาบริโภคอาหารจานด่วนมากขึ้น ทำให้ขาดความสมดุลของสารอาหาร ซึ่งการบริโภคผักและผลไม้น้อยในคนไทยเป็นสาเหตุของภาระโรคในอันดับต้นๆ ก่อให้เกิดการสูญเสียทางสุขภาพ ส่งผลต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคมะเร็ง เป็นต้น สสส. โดยแผนงานอาหารเพื่อสุขภาวะ จึงได้ริเริ่มโครงการเกษตรอินทรีย์บ้านแสนรักษ์ เป็นศูนย์กลางประสานการเรียนรู้ให้แก่เกษตรกรและผู้สนใจ เผยแพร่วิทยาการการทำเกษตรอินทรีย์แบบครบวงจร ขณะนี้ได้เกิดการยอมรับจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ 350 คน ผลผลิตของเกษตรกรประเภทผักและผลไม้อินทรีย์ในพื้นที่ภายใต้โครงการ สามารถผลิตในเชิงพาณิชย์ได้มากกว่าวันละ 1 ตัน อาทิ ผักบุ้งจีน ผักกว้างตุ้ง ผักคึ่นฉ่าย และ กล้วยหอม สามารถกระจายผลผลิตไปยังแหล่งจำหน่ายที่ผู้บริโภคหาเข้าถึงได้สะดวก

สสส. รู้สึกยินดีที่วันนี้เกษตรกรในพื้นที่ อ.สามพราน มีความมั่นคง ทั้งด้านสุขภาพ และรายได้ ถือว่าการรณรงค์ที่ผ่านมาประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ เกษตรกรในพื้นที่ได้เข้าใจและซึมซับวิถีการปลูกพืชปลอดสารพิษอย่างครบถ้วน ซึ่งเป้าหมายต่อไปคือ การรณรงค์ให้เข้าถึงสถานศึกษา เบื้องต้นจะใช้สถานศึกษาใน จ.นครปฐม เป็นพื้นที่ต้นแบบสร้างวิถีเกษตรอินทรีย์ครบวงจรผ่านการฝึกอบรม และจัดทำแปลงเกษตรอินทรีย์ทดลองให้นักเรียนมาเข้ามีส่วนร่วมและรักในวิถีเกษตรอินทรีย์มากขึ้น ” รศ.นพ.ปัญญา กล่าว

ด้านนางประไพ เลิศล้ำนภากุล เกษตรกรผู้ปลูกพืชปลอดสารพิษ กล่าวว่า จากการเข้าร่วมกับโครงการบ้านแสนรักษ์จนถึงปัจจุบัน ยอมรับว่า ช่วงเริ่มต้นต้องใช้เวลาปรับตัว และเปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกพืชปลอดสารเคมีบ้างพอสมควร แต่สิ่งที่เกษตรกรกังวลที่สุดคือช่องทางจำหน่ายสินค้า เพราะไม่มั่นใจกับตลาดที่จะมารองรับสินค้าของตัวเอง แต่สินค้าเกษตรที่เข้าร่วมครั้งนี้ มีการรับประกันราคาสินค้า ทำให้เกษตรกรมั่นใจ ที่จะเดินหน้าปลูกพืชอย่างต่อเนื่องถือเป็นการบริหารจัดการที่ดีตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ปัจจุบันสามารถส่งผักกวางตุ้งและผักบุ้งจีนอย่างละ 400 กิโลกรัมต่อวันให้กับ เอ็ม.เค. สุกี้

ทั้งนี้ เกษตรกรหรือผู้ประกอบการที่สนใจปลูกผักอินทรีย์แบบมืออาชีพ หรือลงทุนเปิดร้านจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ สามารถดูรายละเอียดได้ที่ www.baansanrak-organics.com

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น