xs
xsm
sm
md
lg

จี้ยกร่าง รธน.กำหนดเพิ่มสัดส่วน “หญิง” ปฏิรูปประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“เครือข่ายองค์กรสตรี” ยื่นหนังสือ ปธ.กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เสนอบรรจุความเสมอภาคหญิงชายในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เหตุผู้หญิงเป็นประชากรเกินครึ่งประเทศ วอนเปิดโอกาสสตรีมีบทบาทปฏิรูปหวังสร้างสังคมใหม่เกิดความเท่าเทียมหญิงชาย ลดเหลื่อมล้ำ

วันนี้ (30 พ.ย.) ที่โรงแรมตรัง กรุงเทพฯ ในเวทีเสวนา “ความเสมอภาคหญิงชายในรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปประเทศ” จัดโดย สมาคมติดตามการพัฒนาสตรีในประเทศไทย เครือข่ายผู้หญิงเพื่อความก้าวหน้าและสันติภาพ โครงการส่งเสริมสิทธิผู้หญิงในรัฐธรรมนูญใหม่และการปฏิรูป (WOMEN REFORM) ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (We Move to Reform) UN Women และศูนย์ส่งเสริมความเสมอภาค ทั้งนี้ ภายในงานเครือข่ายฯได้ยื่นข้อเสนอต่อ ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อเรียกร้องเร่งผลักดันให้เกิดความเสมอภาคหญิงชายกำหนดสัดส่วนจำนวนผู้หญิงและมีบทบาทในการปฏิรูปประเทศ โดยในงานมีสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญและเครือข่ายสตรี เข้าร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยน

คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ นายกสมาคมติดตามการพัฒนาสตรีในประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีความพยายามผลักดันให้เกิดการปฏิรูปประเทศ เรื่องเร่งด่วนคือการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ที่ผ่านแนวโน้มเรื่องความเสมอภาคหญิงชายหรือให้สิทธิผู้หญิงมีส่วนร่วมยังมีน้อย ทั้งที่จำนวนผู้หญิงมีมากกว่าผู้ชายถึง2ล้านคน จากประชากร 64.8 ล้านคน จะเห็นว่าปัญหาที่ผ่านมาผู้หญิงส่วนมากได้รับผลกระทบเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศและความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ภาวะความเป็นผู้หญิงในสังคมไทยยังมีค่านิยม ความเชื่อดั้งเดิม ที่แบ่งแยกบทบาทหน้าที่ทำให้เกิดอคติทางเพศ นอกจากนี้ผู้หญิงยังได้รับผลกระทบจากกฎหมายที่ไม่เสมอภาคและถูกเลือกปฏิบัติ ซึ่งกลุ่มหลากหลายทางเพศก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน

“เวทีครั้งนี้เราต้องการระดมความคิดเห็นจากผู้หญิง เครือข่ายสตรี สปช. และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อกำหนดวาระในการปฏิรูปประเทศในมิติหญิงชาย เกิดความเสมอภาค ยอมรับในบทบาทความสามารถของผู้หญิง รวมถึงยอมรับกลุ่มหลากหลายทางเพศ ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส ดังนั้น สิ่งที่ควรบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือ ต้องมีเนื้อหาความเสมอภาคไม่น้อยไปกว่าที่เคยมีในรัฐธรรมนูญเดิม นอกจากนี้ ต้องกำหนดสัดส่วนหญิงชายให้มีความเท่าเทียมกัน เช่น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และการเลือกตั้งทุกระดับ อย่างไรก็ตาม ภายในวันที่ 1 ธ.ค. นี้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จะรวบรวมประเด็นจาก สปช. เพื่อเริ่มยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงเป็นเหตุผลที่กลุ่มสตรีต้องเร่งจัดระดมความคิดเห็นในวันนี้ และหลังจากนี้เครือข่ายสตรี จะติดตามเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง” คุณหญิงทิพาวดี กล่าว

นายมีชัย วีระไวทยะ ประธานคณะอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนเยาวชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย กล่าวว่า จากสถิติผู้หญิงมีบทบาทในทางการเมืองไม่ถึง 12% จึงไม่รู้ว่าใช้ตรรกะอะไรวัดความสามารถ ทำให้ผู้หญิงขาดโอกาสทางสังคม แสดงถึงการด้อยพัฒนาเมื่อเทียบกับต่างประเทศที่เขาพัฒนาแล้ว ดังนั้น เพื่อไม่ให้สูญเสียโอกาสและเกิดประโยชน์ต่อสังคมอย่างแท้จริง ควรจัดให้มีทำเนียบผู้หญิงแบ่งตามความรู้ประสบการณ์และความสามารถ เนื่องจากผู้หญิงไม่ได้ด้อยกว่าผู้ชาย จึงไม่ควรหลับหูหลับตาต่อสิ่งที่จะสร้างโอกาสให้กับประเทศ อีกทั้งเรื่องความเสมอภาคต้องบรรจุไว้ในการศึกษาของไทยเพื่อปลูกฝังเด็กเยาวชน และผู้นำประเทศต้องออกมากระตุ้นสร้างความตระหนักต่อเรื่องนี้ด้วย อย่างไรก็ตาม ในฐานสปช. ได้เสนอผลักดันให้ผู้หญิงได้เข้าไปมีบทบาทในทางการเมือง30%แล้วซึ่งต้องรอตามขั้นตอนต่อไป

ด้าน รศ.นรีวรรณ จินตกานนท์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า ความเสมอภาคหญิงชายได้ถูกบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับอยู่แล้ว และ สปช. ตระหนักและระมัดระวังมาตลอด แต่ทราบดีว่าในทางปฏิบัติยังทำไม่ได้เต็มที่ ดังนั้นจำเป็นต้องตอกย้ำให้สังคมยอมรับในความสามารถของผู้หญิงลดความเหลื่อมล้ำ ไม่ถูกกีดกันหรือจำกัดสิทธิ และต้องต่อสู้ให้ผู้หญิงได้ออกมามีบทบาททางการเมือง มีส่วนร่วมในการปฏิรูปประเทศ เพราะหวังว่าจะเกิดการตรวจสอบสร้างประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตามตนยินดีและพร้อมสนับสนุนในเรื่องนี้เต็มที่

ทั้งนี้ สำหรับข้อเสนอในเวทีเสวนาต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญที่มีมิติความเสมอภาคระหว่างเพศมีข้อเสนอต่อศาสตราจารย์ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ดังนี้ หมวดประชาชน 1. เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่มีความแตกต่างหลากหลาย 2. บุคคลย่อมเสมอกันตามกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน 3.คนทุกเพศมีสิทธิเท่าเทียมกันห้ามเลือกปฏิบัติ 4. รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้หญิง ชายมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางการเมือง กำหนดนโยบายและวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐในทุกระดับ

หมวดผู้นำการเมืองที่ดี และสถาบันการเมือง คือ 1. ระบบผู้แทนที่ดี และผู้นำการเมืองที่ดีต้องกำหนดสัดส่วนหญิง ชาย ที่เท่าเทียมกัน และมีมาตราพิเศษเพื่อสนับสนุนให้ผู้หญิงเป็นผู้แทนและผู้นำการเมืองที่ดี /หมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ 1. บุคคลทุกเพศมีสิทธิหน้าที่ และมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายพื้นฐานโดยเสมอภาคเท่าเทียมกัน และไม่มีการเลือกปฏิบัติ 2. แนวนโยบายด้านสังคม การสาธารณสุข การศึกษา และวัฒนธรรม ต้องคุ้มครองและพัฒนาเด็กและเยาวชน ส่งเสริมความเสมอภาคของบุคคลทุกเพศ จัดสวัสดิการด้านสาธารณสุข การศึกษาและสังคมให้บุคคลทุกกลุ่ม และเป็นธรรม ไม่มีการเลือกปฏิบัติ

หมวดรัฐสภา 1. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ต้องมีสัดส่วนของหญิง ชาย ที่เท่าเทียมกัน 2. คณะกรรมาธิการพิจารณากฎหมายทุกฉบับต้องมีสัดส่วนของหญิง ชาย ที่เท่าเทียมกัน/หมวดคณะรัฐมนตรี 1. คณะรัฐมนตรีต้องมีสัดส่วนของหญิง ชาย ที่เท่าเทียมกัน /หมวดการคลังและการงบประมาณของรัฐ 1. ต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ พัฒนาศักยภาพสตรี แก้ไขเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกเลือกปฏิบัติ และปัญหาความรุนแรงในทุกรูปแบบ ไว้เป็นการเฉพาะเป็นประจำทุกปี

หมวดการกระจายอำนาจ และการปกครองท้องถิ่น 1. ส่งเสริมให้ประชาชนมีอำนาจปกครองตนเอง มีสภาพลเมืองที่มีสัดส่วนของหญิงชาย ที่เท่าเทียมกัน และกำหนดให้ผู้บริหารท้องถิ่นในทุกระดับมีสัดส่วนหญิงชายที่เท่าเทียมกัน/นิติธรรม ศาล และการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ หมวดศาลและกระบวนการยุติธรรม 1. รัฐต้องจัดให้ เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ หรือผู้พิการหรือทุพพลภาพ ได้รับความคุ้มครองในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีอย่างรวดเร็ว ทั่วถึง และมีประสิทธิภาพ และได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสม ในคดีที่เกี่ยวกับการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ความรุนแรงเพราะเหตุแห่งเพศ ตลอดจนป้องกันแก้ไขเยียวยาปัญหาความรุนแรงในครอบครัว 2. การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีที่เกี่ยวกับการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ความรุนแรงเพราะเหตุแห่งเพศ ต้องให้ผู้กระทำผิดหรือจำเลยมีหน้าที่พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเอง /หมวดการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ 1. ต้องมีสัดส่วนของหญิง ชาย ที่เท่าเทียมกัน ในคณะกรรมการทุกคณะขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ องค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ และองค์กรตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น