xs
xsm
sm
md
lg

วิจัยชี้ “สิทธิประกันสังคม” เข้าถึงยาราคาแพงต่ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพอินเตอร์เน็ต
วิจัยพบอีก กองทุนประกันสังคมเข้าถึงยาราคาแพงน้อย โดยเฉพาะ รพ.เอกชน เหตุไร้ระเบียบเบิกจ่าย ไม่ให้งบประมาณเพิ่มยาราคาแพง ส่งผลไม่มีแรงจูงใจเบิกจ่าย เผยปี 2555 เบิกจ่ายยาบัญชี จ.(2) เหมือนบัตรทอง แต่ยกเว้นคุณสมบัติ รพ. สั่งโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น

น.ส.วันทนีย์ กุลเพ็ง นักวิจัยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) กล่าวว่า จากการวิจัยเรื่อง “การเพิ่มการเข้าถึงยาราคาแพงในบัญชียาหลักแห่งชาติ” เพื่อศึกษากระบวนการเพิ่มการเข้าถึงยาราคาแพงในบัญชียา จ.(2) หรือยาที่จำเป็นต้องใช้สำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย มีจำนวนผู้ป่วยไม่มากและยามีค่าใช้จ่ายสูงและอยู่นอกเหนือจากบัญชียาอื่น ซึ่งได้วิจัยทั้ง 3 กองทุนสุขภาพ คือ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สวัสดิการข้าราชการ และประกันสังคม พบว่าทั้ง 3 กองทุนมีการเพิ่มการเข้าถึงยาในบัญชี จ. และมีเกณฑ์การใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาการดำเนินโครงการระบบประกันสุขภาพ และการดำเนินการของโรงพยาบาล ตั้งแต่ปี 2550 - 2553 พบว่า ระบบข้าราชการและโครงการประกันสังคม ไม่มีข้อกำหนดเฉพาะยาบัญชี จ.(2) จากระเบียบการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลทั่วไปที่จะนำไปใช้กับโรงพยาบาลคู่สัญญา ซึ่ง 50% เป็นกลุ่ม รพ. เอกชน ทำให้ส่วนของผู้ป่วยประกันสังคมเข้าถึงยาเป็นไปได้ยาก เพราะส่วนใหญ่เป็นยาราคาแพง และการบริหารจัดการแบบเหมาจ่ายรายหัว ยังทำให้การบริหารจัดการงบประมาณและติดตามการให้บริการผู้ประกันตนเป็นไปได้ยาก

ทั้งนี้ แม้ว่าจะมีการแก้ปัญหาการเข้าถึงยาราคาแพง แต่ด้วยข้อจำกัดของการบริหารจัดการแต่ละโครงการประกันสุขภาพ รวมถึงการกำหนดเงื่อนไขในการสั่งยา ยังยากต่อการปฏิบัติและเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงยา อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลังมีการจัดซื้อร่วมกับกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำให้เกิดการต่อรองราคามากขึ้น ซึ่งในส่วนของสปสช.มีการจัดซื้อ 92 รายการ เป็นเงิน 7 พันล้านบาทจากเดิมที่ต้องใช้งบประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาท แต่ไม่มีตัวเลขว่าแต่ละปีกองทุนประกันสังคมสั่งซื้อและสามารถเข้าถึงยาได้เท่าไร

นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ เมธีวิจัยอาวุโสด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า การเบิกจ่ายยาที่มีราคาสูงของทั้งสามกองทุนมีความแตกต่างกัน โดยเฉพาะการบริหารจัดการ ซึ่งพบว่า ประกันสังคมที่ใช้ระบบเหมาจ่ายรายหัวและไม่มีการให้งบประมาณเพิ่มสำหรับยาราคาแพง ทำให้ไม่มีแรงจูงใจในการเบิกจ่าย จึงไม่มีการใช้ยาราคาแพง ซึ่งภายหลังปี 2555 มีการเพิ่มเติมให้ผู้ประกันตนที่จำเป็นต้องรักษาด้วยยาในบัญชี จ.(2) เบิกจ่ายได้เหมือนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ยังยกเว้นคุณสมบัติของโรงพยาบาลว่า จ่ายได้เฉพาะโรงพยาบาลที่มีความพร้อมในการจ่ายยา และแพทย์ผู้สั่งยาต้องเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ที่ สปส.แต่งตั้งขึ้น ทั้งนี้ ยังพบว่ามียาราคาสูงที่อยู่ในบัญชีประเภทอื่น เช่น บัญชี ง. ซึ่งเป็นยาจำเป็นเฉพาะโรคที่มีราคาแพงมาก ซึ่งพบว่าประชาชนยังเข้าไม่ถึงบริการ อีกทั้งยังพบว่าคนไข้ยังไม่ทราบถึงสิทธิตนเองทำให้ไม่สามารถเรียกร้องได้ จึงจำเป็นต้องมีวิธีบริหารจัดการเพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับโรงพยาบาลทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น