xs
xsm
sm
md
lg

ผุดค่ายติวภาษาอังกฤษแบบเข้ม-จัดทำกรอบกำหนดทักษะสื่อสาร นร.12 ชั้นปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สพฐ. ผุดค่ายติวภาษาอังกฤษแบบเข้ม ทั้งติวเพื่อเตรียมพร้อมให้เข้าใจลักษณะข้อสอบ - คำถามข้อสอบ O-Net และอบรมเน้นทักษะเพื่อการสื่อสาร เผยจัดทำกรอบความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษของ นร. ตั้งแต่ ป.1 - ม.6 ซึ่งอ้างอิงจากกรอบ CEFR มาตรฐานสากล ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดชั้นจบแต่ละชั้นต้องเรียนรู้ทักษะ ใดบ้าง เพื่อให้ ร.ร. นำไปใช้พัฒนาเด็ก

นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ในการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้หารือถึงการเตรียมการพัฒนาการใช้ทักษะภาษาอังกฤษของนักเรียน เพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 ซึ่งการพัฒนานักเรียนต่อจากนี้ สพฐ. จะจัดกิจกรรมค่ายภาษาอังกฤษ โดยแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ ดังนี้ 1. ค่ายวิชาการภาษาอังกฤษแบบเข้ม เนื่องจากพบปัญหาว่านักเรียนบางส่วนโดยเฉพาะระดับประถมศึกษา ไม่คุ้นเคยกับลักษณะคำถามและลักษณะข้อสอบของการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-Net) วิชาภาษาอังกฤษ ดังนั้น ค่ายนี้จึงเน้นเตรียมความพร้อมให้นักเรียนรู้จักลักษณะข้อสอบ ประเภทคำถามของข้อสอบ O-Net วิชาภาษาอังกฤษการ รวมทั้งจะมีการทบทวนความรู้ตลอดหลักสูตรที่นักเรียนเรียนมาด้วย โดยจะจัดในเดือนธันวาคม 2557 นี้เบื้องต้นจะคัดเลือกนักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์การสอบที่ผ่านมาต่ำมาเข้าค่ายนี้

นายกมล กล่าวต่อว่า 2 ค่ายภาษาอังกฤษแบบเข้มในช่วงปิดภาคเรียน เน้นให้นักเรียนมีทักษะสื่อสารภาษาอังกฤษ ซึ่งขณะนี้ สพฐ. ได้จัดทำกรอบความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษของนักเรียนตั้งแต่ระดับ ป.1 - ม.6 เรียบร้อยแล้วเพื่อให้โรงเรียนนำไปใช้ เป็นเกณฑ์มาตรฐานพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของนักเรียน ทั้งนี้ กรอบดังกล่าวจะกำหนดไว้ชัดเจนว่าเมื่อเด็กจบในแต่ละชั้นปีต้องมีทักษะอะไรบ้าง เช่น จบชั้น ป. 1 เด็กควรจะรู้คำศัพท์อะไรบ้าง รู้ความหมายกี่คำ สื่อสารภาษาอังกฤษเป็นประโยคได้กี่ประโยค เป็นต้น ทั้งนี้ จะคัดเลือกนักเรียนในพื้นที่ห่างไกล ขาดโอกาสมาเข้าค่ายโดยกำหนดเป้าหมายไว้จำนวน 1 แสนคน ทั้งนี้ การจัดค่ายทั้ง 2 ลักษณะจะให้ศูนย์พัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษระดับประถมศึกษา หรือ ศูนย์เพียร์ (Peer) ที่กระจายอยู่ในอำเภอจำนวน 881 ศูนย์ ภายใต้การดูแลของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) และศูนย์พัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ หรือ ศูนย์อีริค (ERIC) ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เป็นผู้ดำเนินการ

สพฐ. พัฒนากรอบดังกล่าว โดยอิงจากกรอบมาตรฐานความสามารถทางภาษาอังกฤษของประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป หรือ (Common European Framework of Reference for Languages : CEFR) ซึ่งเป็นที่ยอมรับจากทั่วโลก ที่แม้แต่การสอบโทเฟล ไอเอล หรือการทดสอบมาตรฐานภาษาอังกฤษต่างๆ ก็นำมาอ้างอิง เพราะฉะนั้น มั่นใจได้ว่าเราได้นำมาตรฐานระดับโลกมากำหนดมาตรฐานตัวนักเรียน ทำให้รู้ตัวว่าความสามารถของเด็กเมื่อเทียบกับสากลแล้วอยู่ระดับใด เป็นมาตรการรับประกันการจัดการศึกษาด้านภาษาอังกฤษของเด็กไทยก้าวสู่สากล ไม่ใช่กำหนดศัพท์ทั่วไปแบบที่ผ่านมา ซึ่งเชื่อว่าหากเราเร่งพัฒนาเด็กแต่ตอนนี้เมื่อเข้าสู่เออีซี หรือในปี 2558 หรือหลังจากนั้นเด็กกลุ่มนี้จะได้รับพัฒนาต่อยอดดีขึ้น” นายกมล กล่าว
 
 
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น