xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ศึกษาและกีฬา ไม่ฟัน แยก สกอ.-สอศ.- สกศ.จาก ศธ.แนะปรับโครงสร้าง ชงรับเด็กแอดมิชชัน 30%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กมธ.ศึกษาและกีฬา หนุนปรับโครงสร้าง ศธ. ทั้ง สกอ.- สอศ.- สกศ. แต่ไม่ฟันธงต้องแยกหรือไม่ พร้อมแนะให้ปรับรูปแบบการรับเด็กเข้ามหา’ลัย ชงรับแอดมิชชัน 30% ที่เหลือให้รับตรงและยังคงระบบโควตา เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กตามเดิม ขณะที่ “ณรงค์” เผยเห็นด้วยลดสอบ O-Net เหลือ 4 วิชาหลัก ดึงวิชาสังคม พละ ออกเหตุเป็นวิชาที่มีปัญหาเด็กโพสต์ในโซเชียลฯ มากสุด และให้ ร.ร. จัดสอบเอง
พล.ร.อ.ณรงค์  พิพัฒนาศัย (แฟ้มภาพ)
 
วันนี้ (5 พ.ย.) ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษาและกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงภาพรวมของปัญหาในการจัดการศึกษา โดยมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและหาทางออกร่วมกันในหลายเรื่อง รวมถึงดูแนวทางความร่วมมือทั้งระหว่างศธ. กับ กมธ. การศึกษาและการกีฬาและโยงไปถึงสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) อาทิ เรื่องโครงสร้าง หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เห็นว่าควรจะต้องมีการปรับปรุงจะต้องทำอย่างไรบ้าง จะต้องแก้กฎหมายและบรรจุ ไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ หรือองค์กรควรจะเป็นรูปแบบใด ตรงนี้เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายจะต้องมาร่วมกันคิด เพื่อให้การทำงานสามารถเชื่อมโยงกันได้ ทั้งนี้ กมธ.การศึกษาและกีฬา มีความเห็นไปในทิศทางที่สอดคล้อง ว่าโครงสร้างของศธ. ปัจจุบันควรจะต้องมีการปรับปรุง ทั้งในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) แต่ก็ยังไม่เป็นข้อยุติว่าจะต้องแยกออกจาก ศธ. หรือไม่

นอกจากนั้น ทาง กมธ.การศึกษาฯ ยังหารือปัญหาการรับนักศึกษาเข้าเรียนต่อในสถาบันอุดมศึกษา ทั้งการคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาในระบบรับตรง และระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในระบบกลาง (แอดมิชชัน) ซึ่งยังมีข้อดี ข้อเสีย ดังนั้น ที่ประชุมจึงเห็นว่ามหาวิทยาลัยต่างๆ ควรจะปรับสัดส่วนการรับ อาทิ รับแอดมิชชัน 30% แล้วที่เหลือให้ไปรับในระบบรับตรง เพื่อให้มหาวิทยาลัยคัดเลือกเด็กได้ตรงตามความต้องการ แต่ก็ยังขอให้เปิดโอกาสให้เด็กที่มีความสามารถพิเศษ อาทิ ดนตรี กีฬา ในระบบโควตาไว้ตามเดิมด้วย แต่ก็ขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัย ศธ. คงไม่สามารถไปกำหนดได้

พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวถึงกรณีที่ประชุมองค์กรหลักของ ศธ. เมื่อเร็วๆ นี้ ได้หารือเรื่องลดจำนวนวิชาการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ O-Net จาก 8 วิชาให้เหลือเฉพาะวิชาหลัก คือ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาไทย และ ภาษาอังกฤษ ว่า ส่วนตัวเห็นด้วยให้สอบ 4 วิชาหลัก ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นการลดภาระการออกข้อสอบของสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เนื่องจากการออกข้อสอบที่ผ่านมาแต่ละปีที่พบว่ามีปัญหาเด็กนำมาโพสต์ ผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กส่วนใหญ่จะอยู่ในวิชาสังคมศึกษาและพลศึกษา ซึ่งไม่ใช่ข้อสอบในวิชาหลัก ดังนั้น ต่อไปก็ควรจะให้เด็กสอบเฉพาะ วิชาหลักเท่านั้น ส่วนวิชาสังคม พลศึกษา ฯลฯ ก็สามารถให้โรงเรียนจัดสอบเองได้ โดยออกข้อสอบที่เหมาะสมกับภูมิภาค ส่วนจะเริ่มดำเนินการเมื่อไรนั้น คงต้องหารือในรายละเอียดกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอีกครั้ง

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่

Loading

เครื่อง oncothermia ความหวังใหม่รักษามะเร็งเต้านม-ตับระยะท้าย ใช้คลื่นวิทยุยิงเฉพาะจุดมะเร็งจนเกิดความร้อน เอื้อยาเคมีบำบัดเข้าถึงมะเร็งง่ายขึ้น ผลศึกษาก้แนมะเร็งเต้านมยุบทั้งหมด 22% ผู้ป่วยมะเร็งตับอายุยืนขึ้น

View on Instagram




กำลังโหลดความคิดเห็น