xs
xsm
sm
md
lg

ปฏิรูปการศึกษา (6) ปรับปรุงข้อสอบโอเน็ตด่วน! / สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ฉบับนี้ดิฉันขอต่อเนื่องถึงประเด็นปฏิรูปการศึกษาตามแนวทางของอาจารย์เกียรติวรรณ และอาจารย์รัชนี อมาตยกุล เจ้าของโรงเรียนอมาตยกุล ที่จัดทำหนังสือขึ้นมาเพื่อเสนอแนะต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลชุดนี้ 3 ประเด็น เพื่อการปฏิรูปการศึกษา โดยประเด็นแรกคือการนำเสนอแผนการสอนกลางระดับชาติ (Thailand Teaching Model) ซึ่งดิฉันเขียนไปเมื่อฉบับที่แล้ว
ประเด็นที่ 2 ตั้งใจเขียนถึง เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่อาจารย์เกียรติวรรณนำเสนอว่าเป็นทางออกของการปฏิรูปการศึกษาด้วย คือปรับปรุงข้อสอบ O-NET เป็นการด่วน
การสอบ O-NET (Ordinary National Educational Test)เป็นการวัดผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนที่ต้องการวัดผ่านการจัดการทดสอบในระดับชาติ โดยมีสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เป็นผู้ดำเนินการออกข้อสอบและจัดสอบทั่วประเทศ
อาจารย์เกียรติวรรณให้รายละเอียดว่า คะแนนสอบ O-NET ของเด็กๆ ตกต่ำทั่วประเทศ ยกตัวอย่าง คะแนนเฉลี่ยคณิตศาสตร์ ม.6 อยู่ที่ 20.48% ภาษาอังกฤษอยู่ที่ 25.35% ทั้งๆ ที่เด็กเรียนกวดวิชากันแทบทุกคน การที่เด็กๆ ได้คะแนนเฉลี่ยเพียงเท่านี้เป็นเพราะอะไร

ประเด็นที่ 1 ข้อสอบยากเกินไป โดยเฉพาะข้อสอบคณิตศาสตร์ PAT1 ที่วัดความสามารถของเด็กๆ แทบไม่ได้ เพราะคนที่เดากลับได้คะแนนมากกว่า มีเด็กจำนวนมากที่หาคำตอบโดยไม่แกะข้อสอบออกมาดูเสียด้วยซ้ำ

ประเด็นที่ 2 ข้อสอบไม่สมเหตุสมผล เช่น ข้อสอบสังคม O-NET ม.6

คำถาม - ศาสนามีความสำคัญอย่างไรต่อสังคม
ก. ทำให้เกิดความสามัคคีมีเอกภาพ
ข. เป็นบ่อเกิดของการสร้างสรรค์วัฒนธรรม
ค. ตอบสนองความต้องการด้านจิตใจของคนในสังคม
ง. เป็นหลักจริยธรรมควบคุมความประพฤติของกลุ่มคน

เป็นข้อสอบที่ตอบถูกได้ยาก และต่อให้ตอบถูกก็ไม่เห็นประโยชน์ หรือทำให้ใครเก่งขึ้น ณ วันนี้ สทศ.ไม่เปิดเผยข้อสอบให้ใครทราบแล้ว ทั้งข้อสอบและเฉลย เป็นความลับ ห้ามเผยแพร่

แล้วทำไมถึงไม่เปิดเผยล่ะ?

ใช่หรือไม่.. เปิดเผยทีไร ถูกก่นด่ากันระงม เพราะผู้ใหญ่เองยังทำไม่ได้เลย!

ไม่รู้ว่าคุณเคยเห็นข้อสอบ O-NET กันบ้างไหม?

ดิฉันมีลูกอยู่ในวัยที่ต้องสอบโอเน็ต และทุกครั้งที่เขาสอบก็จะบอกว่ายาก เพื่อนๆ ก็บ่นว่ายาก แม้แต่เราเอง ที่เคยเห็นข้อสอบโอเน็ตที่กระเด็นเข้าไปอยู่ในโลกโซเชี่ยลมีเดีย เราก็ยังตกใจไม่น้อยต่อข้อสอบโอเน็ต จนกลายมาเป็นมุกให้ผู้คนในสังคมต้องหยิบขึ้นมาพูดคุยกึ่งประชดประชันต่อข้อสอบเหล่านั้น

ปัญหาคือทำไมเด็กส่วนใหญ่ของประเทศทำไม่ได้ นี่ขนาดเด็กเรียนกวดวิชากันสนั่นเมืองด้วยนะ

ปัญหาอยู่ที่เด็กหรืออยู่ที่ข้อสอบกันแน่!

ผลทดสอบ O-NET ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ประจำปีการศึกษา 2556 เมื่อวันที่ 15-16 ก.พ. 2557 โดย สทศ.ได้ประกาศผลสอบและวิเคราะห์ค่าสถิติของการทดสอบ O-NET ชั้น ม.6 ปีการศึกษา 2556 จำแนกตามวิชา

ภาษาไทย ผู้เข้าสอบ 413,819 คน คะแนนเฉลี่ย 49.26 สูงสุด 97.50 ต่ำสุด 0.00
สังคมศึกษา ผู้เข้าสอบ 414,955 คน คะแนนเฉลี่ย 33.02 สูงสุด 86.88 ต่ำสุด 1.25
ภาษาอังกฤษ ผู้เข้าสอบ 414,688 คน คะแนนเฉลี่ย 25.35 สูงสุด 98.00 ต่ำสุด 0.00
คณิตศาสตร์ ผู้เข้าสอบ 414,984 คน คะแนนเฉลี่ย 20.48 สูงสุด 100.00 ต่ำสุด 0.00
วิทยาศาสตร์ ผู้เข้าสอบ 413,839 คน คะแนนเฉลี่ย 30.48 สูงสุด 93.00 ต่ำสุด 3.00
สุขศึกษาและพลศึกษา ผู้เข้าสอบ 413,458 คน คะแนนเฉลี่ย 62.03 สูงสุด 97.50 ต่ำสุด 2.50
ศิลปะ ผู้เข้าสอบ 413,417 คน คะแนนเฉลี่ย 29.00 สูงสุด 71.00 ต่ำสุด 0.00
การงานอาชีพและเทคโนโลยี ผู้เข้าสอบ 413,400 คน คะแนนเฉลี่ย 49.98 สูงสุด 90.00 ต่ำสุด 0.00

รศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ กล่าวว่า สำหรับภาพรวมคะแนน O-NET ม.6 ปีนี้ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ซึ่งคะแนนอยู่ในระดับนี้มาตลอด ดังนั้น การที่เด็กทำคะแนนได้ต่ำ ไม่ถึงครึ่งจึงสะท้อนชัดเจนว่า โรงเรียนควรจะปรับปรุงการเรียนการสอน ที่เน้นเรื่องกระบวนการคิดวิเคราะห์มากขึ้น โดยเฉพาะวิชาภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์

“จากการวิเคราะห์พบว่ามี 2 สาเหตุ คือ เด็กทำข้อสอบไม่ได้ หรือเด็กทำข้อสอบไม่ครบ แต่ไม่สามารถสรุปได้ว่าเด็กไม่ตั้งใจสอบ เพราะ O-NET เป็นการสอบรวมยอดความรู้ที่เน้นการนำไปใช้ และกระบวนการคิดวิเคราะห์ ดังนั้นโรงเรียนควรนำผลสอบที่ออกไปไปขับเคลื่อนการเรียนการสอนให้ดีขึ้น”

สรุปอีกครั้ง โรงเรียนควรจะปรับปรุงการเรียนการสอน ว่างั้นเหอะ!

อาจารย์เกียรติวรรณนำเสนอว่าทางแก้ไข วิธีที่ง่าย สั้น และทำได้จริงที่สุด คือ

หนึ่ง ผู้มีอำนาจต้องรีบจัดการให้ปรับปรุงข้อสอบทุกระดับให้เหมาะสมอย่างเร่งด่วนที่สุดก่อนการสอบครั้งต่อไป คือ กุมภาพันธ์ ปี 2558

ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ข้อสอบที่ไม่ดีพอ คือสาเหตุสำคัญของปัญหาหลายๆ เรื่อง ตั้งแต่คะแนนตกต่ำ เด็กๆ กลายเป็นคนไม่พยายาม เพราะพยายามอย่างไรก็ตอบไม่ได้ เกิดโรงเรียนกวดวิชาเต็มบ้านเต็มเมือง ผู้ปกครองมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น หลายๆบ้านค่ากวดวิชาแพงกว่าค่าเทอมในโรงเรียน ครอบครัวไม่เป็นครอบครัว ต้องตระเวนพากันออกนอกบ้านทั้งเสาร์อาทิตย์พาลูกไปกวดวิชา

สอง ก่อนนำข้อสอบจริงไปใช้กับเด็กๆ ทุกครั้ง ผู้บริหารระดับสูงรัฐบาลหรือคสช.ต้องตรวจตราและลองทำข้อสอบดูก่อน เพื่อจะทราบว่าเหมาะสมที่จะเป็นข้อสอบที่จะใช้วัดและสร้างคนรุ่นใหม่หรือไม่ ถ้าไม่ทดลองทำ ไม่มีทางสัมผัสได้ถึงปัญหาที่แท้จริง

การทำแบบนี้ใช้เวลาไม่มาก แทบไม่ต้อลงทุน

เหตุผลที่ว่าทำไมเราจึงต้องปรับปรุงข้อสอบ ONET เป็นการด่วน
1. เพราะผู้ใหญ่เองยังตอบไม่ได้ ตอบแล้วก็ไม่รู้ว่าถูกหรือผิด
2. เพราะไม่สมเหตุสมผล
3. เพราะเมื่อตอบได้ก็ไม่เกิดประโยชน์
4. ควรให้รัฐมนตรี ผู้บริหารระดับสูง เห็นข้อสอบและทดลองทำข้อสอบดูก่อนที่จะให้เด็กนับล้านคนทั่วประเทศทำ

หรือไม่ เราก็ลองให้คนข้างใน สทศ.ที่ไม่ได้เป็นผู้ออกข้อสอบ ลองทำข้อสอบนั้นๆ ดูก่อนก็ได้ ถ้าคนในองค์กรยังทำไม่ได้ ก็ควรต้องพิจารณาตัวเองด้วยนะ!

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่




กำลังโหลดความคิดเห็น