xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ช่องเด็ก ม.6 เข้าวิศวะลาดกระบัง ปั้น 2 สาขาดาวเด่น-เรียนไม่ตกงาน!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายก วสท.ชี้ ยุคทองของวิศวกรแต่ละสาขา ขณะที่วิศวะแขนงใดเป็นสาขา “ดาวรุ่งพุ่งแรง” เพื่อใช้เป็นเข็มทิศช่วยเด็ก ม.6 ที่กำลังจะเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย ด้วยระบบสอบตรง รับตรง โควตา ได้ใช้เป็นแรงบันดาลใจในการเลือก ด้านรุ่นพี่วิศวะ สจล.แนะรุ่นน้องอยาก “เป็นลูกพระจอมฯ” ต้องทำคะแนน Gat-Pat แค่ไหนจึงจะสมหวัง

วิศวกรไทย เป็นอาชีพที่สังคมให้การยอมรับ และเชื่อว่ามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศ แต่กำลังถูกตั้งคำถามหลังเปิดเออีซี ปี 2558 วิศวกรไทยจะตกงาน เพราะถูกต่างชาติแย่งงาน ซึ่งเป็นผลมาจากการผลิตวิศวกรไม่ได้มาตรฐานจริงหรือไม่ ขณะที่วิศวกรไทยกว่า 230,000 คน อยู่ในระดับชั้นยอดแค่ไม่กี่คน และข้อเท็จจริงคนไทยมีโอกาสสร้างสิ่งประดิษฐ์เทคโนโลยีได้ทัดเทียม สิงคโปร์และเกาหลี จริงหรือ?

ทีม special scoop นำเสนอทั้งหมด 3 ตอน และตอนนี้จะเป็นตอนสุดท้ายที่บอกถึงวิศวะแขนงใดเป็นสาขาแห่งอนาคต ที่บรรดาเด็ก ม.6 ซึ่งกำลังจะเข้ารั้วมหาวิทยาลัย ด้วยระบบสอบตรง รับตรง โควตา ใช้เป็นแรงบันดาลใจในการเลือกสาขาต่อไป

อ่านย้อนหลังตอนที่ 1: วิศวะไทยด้อยคุณภาพ-เสี่ยงตกงาน! ปั้น “ลูกน้อย” ให้เป็นวิศวกรนักประดิษฐ์ (ตอนที่ 1)

อ่านย้อนหลังตอนที่ 2: วิศวะไทยด้อยคุณภาพ-เสี่ยงตกงาน! จี้รัฐกู้ศักดิ์ศรี “ช่าง” แก้วิกฤตตลาดแรงงาน (ตอนที่ 2)

เข้าสู่ฤดูการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของ เด็ก ม.6 อีกรอบแล้ว บรรดาคุณพ่อ-คุณแม่-ผู้ปกครอง คงต้องลุ้นไปกับคุณลูกว่า จะสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัย และคณะที่ต้องการได้หรือไม่? ในระบบสอบตรง รับตรง โควตา ที่กำลังเปิดรับสมัคร ซึ่งแต่ละสถาบันจะมีหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกระบุไว้ชัดเจน

โดยสถาบันการศึกษาส่วนใหญ่จะมีการพิจารณาสอบตรง รับตรง โควตาจากคะแนนโรงเรียน (GPA .GPAX) เฉลี่ย 5 เทอม คะแนนสอบความถนัดทั่วไป (General Aptitude Test หรือ GAT) ความถนัดเฉพาะด้าน/วิชาการ (Professional A Aptitude Test หรือ PAT) และ/หรือ คะแนนจาก 7 วิชาสามัญ

ส่วนใครที่พลาดในระบบสอบตรง ก็ต้องติวเข้ม เพื่อทำคะแนนสูงๆ ในการสอบ O-NET และ A-NET ซึ่ง O-NET จะเป็นการวัดผลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานใน 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ได้แก่ ภาษาไทย, คณิตศาสตร์, วิทยาศาสตร์, สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม และภาษาต่างประเทศ ส่วน A-NET (Advanced National Educational Test) เป็นการวัดความรู้และความคิดวิเคราะห์ ซึ่งจะเป็นการวัดความรู้เชิงสังเคราะห์ โดยเน้นทักษะการคิดมากกว่า O-NET ประกอบด้วย ภาษาไทย 2, คณิตศาสตร์ 2, วิทยาศาสตร์ 2, สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม 2 และภาษาอังกฤษ 2 เพื่อใช้เป็นคะแนนในการยื่นสอบแอดมิสชันกลางต่อไป

อย่างไรก็ดีเด็ก ม.6 ที่ต้องการเข้าเรียนต่อในสายวิศวกรรมศาสตร์ ปัจจุบันก็มีเปิดสอบตรงอยู่ด้วยกันหลายแห่งเช่น มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (ประสานมิตร) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยศิลปากร และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นต้น

ดังนั้นแม้วันนี้จะมีข่าวสะท้อนออกมาอยู่บ่อยๆ ทั้งจากการสำรวจของกระทรวงแรงงาน การโพสต์ข้อความในโซเชียลมีเดีย หรือปากต่อปาก ว่าเรียนวิศวะแล้วตกงาน วิศวะด้อยคุณภาพบ้าง วิศวกรเดินเตะฝุ่นบ้าง แต่กลับพบว่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ก็ยังเป็นที่สนใจและอยากเรียนของเด็กสายวิทยาศาสตร์ที่อยู่ในระดับหัวกะทิและระดับกลางๆ ตลอดมา

เหตุผลที่เด็กเหล่านี้ต้องการเรียนวิศวะมีด้วยกันหลากหลายเหตุผล ตั้งแต่วิศวะเป็นศูนย์รวมคนเก่ง ซึ่งบางคนเรียนแพทย์ได้ แต่ไม่ชอบก็เลือกมาเรียนวิศวะแทน บางคนก็ต้องการเดินเส้นทางเดียวกับครอบครัว ส่วนบางคนก็มุ่งมั่นว่าโตขึ้นจะต้องเป็นวิศวกรให้ได้ เพราะเชื่อว่าอาชีพวิศวกรเป็นอาชีพที่รายได้ดี มีฐานะทางสังคมสูงกว่าหลายๆ อาชีพ

“วิศวะดูเก่ง มีความเป็นผู้นำ เข้าใจอะไรได้ง่ายๆ บางคนเรียนเพราะพ่อแม่ภูมิใจที่ลูกได้เป็นวิศวกร บางคนมองว่าเรียนแล้วไม่ตกงาน เงินเดือนสูงกว่าปริญญาตรีทั่วไป โดยเฉพาะได้มหา’ลัยดังๆ มีรุ่นพี่รองรับอยู่แล้ว แต่บางคนเรียนช่างมาก็อยากขยับฐานะเป็นวิศวกร เป็นการอัปเกรดตัวเอง” เด็กวิศวะให้ความเห็น

ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงทำให้สถาบันการศึกษาของรัฐและเอกชน ต่างพากันเปิดคณะวิศวกรรมศาสตร์ขึ้นเพื่อรองรับปริมาณความต้องการของนักเรียน นักศึกษาที่ต้องการเข้าสู่อาชีพวิศวกร และอาชีพวิศวกรในปัจจุบันนี้ก็มีการขยายสาขาไปอีกมากเพื่อให้ทันกับความเจริญของโลกยุคใหม่ และวิศวกรแขนงใดจะเป็นที่ต้องการในอนาคต

ยุคบูมของวิศวะแต่ละสาขา

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ปัจจุบันเป็นตัวเต็งในตำแหน่งอธิการบดี สจล. และยังมีตำแหน่งเป็นนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) บอกว่าสถาบันการศึกษาจะต้องเร่งพัฒนาหลักสูตรการเรียน การสอนให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งมีผลต่อการพัฒนาประเทศโดยตรง ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าวิศวะแขนงใดได้รับความนิยม ก็จะมีคนแห่ไปสมัครสอบกันมาก การแข่งขันในสาขานั้นๆ ก็สูงตามไปด้วย
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตคณะบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยี่พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)
ดังนั้นหากจะพิจารณาว่าวิศวะสาขาอะไรโดดเด่น และควรจะเลือกเรียนสาขาใดนั้น ต้องพิจารณาเลือกจากความรักหรือความชอบเป็นหลักการสำคัญ เพราะวิศวะทุกสาขามีคุณภาพเหมือนกัน เพียงแต่ว่าสาขาอะไรจะรุ่งในช่วงนั้นขึ้นอยู่กับทิศทางการพัฒนาประเทศว่าจะเติบโตไปทางใด

ตัวอย่างเช่นในยุคของรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ต่อมาถึงรัฐบาล พล.อ ชาติชาย ชุณหะวัณ ที่เน้นการพัฒนาประเทศ มีการลงทุน โครงสร้างพื้นฐานมากมาย โดยเฉพาะการก่อสร้างโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด มีการขยายพื้นที่เมืองออกไป และมีการลงทุนโครงการบ้านจัดสรรทั้งภาครัฐและเอกชน ที่เรียกว่าการพัฒนาประเทศบูมมาก ส่งผลให้วิศวกรรมศาสตร์ สาขาโยธา มีคนแห่มาเรียนมาก อีกทั้งคนที่จบวิศวกรรมโยธาในช่วงนั้น ก็เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานมาก

“ช่วงเมกะโปรเจกต์เกิดขึ้นมาก วิศวะโยธาพุ่งปรี๊ด ยังไม่ทันจบก็ได้งาน มีคนมารอจองตัวกันแล้ว เพราะโยธาแยกไปได้อีกหลายแขนง โครงสร้าง ควบคุม สะพาน ใต้ดิน สร้างตึก”

ถัดมาก็เป็นยุคของพลังงาน ก็ทำให้วิศวะสาขาปิโตรเลียมมาแรงที่สุด

ถัดมาเป็นยุคโทรคมนาคม-ยุค .com คนก็มุ่งมาเรียนวิศวกรรมที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสาร เพราะเป็นการก้าวสู่ยุค 3G, 4G วิศวกรรมโทรคมนาคม วิศวกรรมสารสนเทศ วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ เป็นสาขาที่คนสมัครเข้าเรียนมาก

เมื่อเข้าสู่ยุคเคมีบูม ซึ่งเป็นผลจากการที่มีการพัฒนาการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำมันปิโตรเลียมและแก๊สธรรมชาติทั้งในประเทศและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มมากขึ้น สาขาที่ได้ความนิยมควบคู่กันไปคือวิศวกรรมเคมี และวิศวกรรมปิโตรเคมี และที่ สจล.ก็เปิดสาขานี้เพื่อรองรับการเติบโตของประเทศเพื่อผลิตวิศวะปิโตรเคมี ทำงานร่วมกับวิศวกรต่างชาติได้ในภูมิภาคนี้

“ช่วงไหนที่สาขาอะไรโดดเด่น คนก็จะแห่มาเรียนสาขานั้นมาก คะแนนก็จะสูง การแข่งขันก็สูงตามไปด้วย เด็กที่ต้องการเป็นวิศวกรควรเลือกสาขาที่ตัวเองรักจะดีที่สุด”

เรียนวิศวะต้องเลือก 8 เกียร์

สำหรับความเห็นของนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ของ สจล. หลายคนบอกชัดเจนว่า ที่เลือกเข้ามาเรียนที่ สจล.เพราะเชื่อมั่นในชื่อเสียง และศักยภาพของวิศวะลาดกระบัง คือได้ทั้งวิชาการและปฏิบัติ ส่วนสาขาที่เด็กๆ ย้ำว่าถ้ามาเรียนวิศวะลาดกระบัง อันดับหนึ่งต้องยกให้วิศวกรรมไฟฟ้า ตามด้วยวิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมโยธา วิศวกรรมโทรคมนาคม เป็นต้น

ส่วนวิศวกรรมศาสตร์สาขาอื่นๆ นั้น ก็จัดอยู่ในประเภทที่ดี เนื่องจากที่คณะวิศวะ จะมีแล็บที่ได้คุณภาพ และรองรับนักศึกษาได้เป็นจำนวนมาก ทำให้นักศึกษาได้ลงมือปฏิบัติจริง โดยเฉพาะในปัจจุบันวิศวกรรมปิโตรเคมีของสจล. กำลังเป็นที่นิยมและคะแนนสอบค่อนข้างสูงมาก

“เป็นที่รู้กันของเด็กๆ สายวิทย์ว่า ถ้าคิดจะเรียนวิศวกรรมต้องสอบเข้าให้ได้ใน 8 เกียร์ เป็นเรื่องของความเชื่อและชื่อเสียงในอดีตของสถาบันเหล่านี้ จึงทำให้การสอบแข่งขันเข้าวิศวกรรมใน 8 เกียร์มีคะแนนสูงเช่นกัน”

สำหรับวิศวกรรมศาสตร์ใน 8 เกียร์ที่เด็กวิศวะเล่าขานต่อกันมา ประกอบด้วย วิศวกรรมศาสตร์จุฬาฯ วิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ของ 3 พระจอมเกล้า (ลาดกระบัง พระนครเหนือ และธนบุรี) วิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ขณะที่ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยของรัฐเกือบทุกแห่ง เปิดคณะวิศวกรรมศาสตร์ขึ้นมาแล้ว ทั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาศิลปากร มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นต้น

นวัตกรรมด้านวิศวกรรม สจล.

อย่างไรก็ดี ศ.ดร.สุชัชวีร์บอกว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ของ สจล.มีการพัฒนาหลักสูตรทางด้านวิศวกรรมมาโดยตลอด ถึงวันนี้มีทั้งหมด 50 กว่าสาขา ตั้งแต่ปริญญาตรี โท และเอก ซึ่งทุกหลักสูตรก็พยายามสร้างความโดดเด่นและรักษามาตรฐานการเรียนการสอนไว้ตลอดมา โดยเฉพาะมีการสร้างผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมด้านวิศวกรรมที่ภาคเอกชนสามารถนำไปต่อยอดผลิตเป็นอุตสาหกรรมได้เช่นกัน
แว่นตาสั่งงานเพื่อผู้ป่วยอัมพาต
ตัวอย่างเช่น แว่นตาสั่งงานเพื่อผู้ป่วยอัมพาต หรือคนพิการส่วนแขนขา แต่ยังหันคอได้ ให้สามารถช่วยเหลือตนเองในการดำรงชีวิตประจำวันได้ ซึ่งเป็นผลงานของ นายนพมงคล เฉิดฉาย นักศึกษาปริญญาตรี วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ปี 4 โดยหลักการทำงาน ผู้ป่วยจะสั่งงานโดยใช้แว่นตาที่ออกแบบให้ติดเลเซอร์และควบคุมการเปิด -ปิดโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ลำแสงเลเซอร์จะไปตกบนฉากรับแสงในตำแหน่งที่กำหนดไว้ ผู้ใช้งานเพียงควบคุมหันให้ลำแสงชี้ไปยังฉากที่มีคำสั่งต่างๆ จนแสงเลเซอร์ดับ เช่น ปุ่ม1 ปิดแอร์, ปุ่ม 2 เปิดไฟฟ้าในบ้าน, ปุ่ม 3 เปิด-ปิด ทีวี , ปุ่ม 4 ส่งข้อความขอความช่วยเหลือทาง SMS เป็นต้น

หรือนวัตกรรมรถลากจูงไฟฟ้า SRR 24-400 เทคโนโลยีสะอาด ซึ่งเป็นรถลากจูงไฟฟ้าอุตสาหกรรมชนิดแบตเตอรี่ พลังงานสะอาด หรือ Electric Tow Tractor for Industry เป็นผลงานวิจัยของ รศ.ดร.วีระเชษฐ์ ขันเงิน อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า และผลิตโดยคณะวิศวะลาดกระบัง โดยเป็นรถลากจูงไฟฟ้าพลังงานสะอาดชนิดแบตเตอรี่ไร้มลพิษ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และประหยัดพลังงานตามมาตรฐานสากล สามารถบรรทุกได้ถึง 300-1,000 กิโลกรัม วิ่งได้เร็ว 8 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่ง สจล.สามารถผลิตรถลากจูงไฟฟ้าอุตสาหกรรม SRR 24-400 ในราคาที่ถูกกว่านำเข้าถึง 4 เท่า หรือประมาณ 100,000 บาท ซึ่งบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด สั่งให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ผลิตรถดังกล่าว ซึ่งมีการส่งมอบจำนวน 16 คันแล้วเพื่อใช้งานในโรงงาน
รถลากจูงไฟฟ้า SRR 24 -400 เทคโนโลยีสะอาด
อีกหนึ่งนวัตกรรม “อะกริคราฟต์” (Agricraft) เรือสะเทินน้ำสะเทินบกเพื่อประมงไฮเทค เป็นอากาศยานชนิดหนึ่ง ไม่มีล้อ เวลาเคลื่อนตัวจะไม่สัมผัสกับพื้น จึงไม่มีแรงเสียดทาน สามารถวิ่งได้ทุกพื้นที่ โดยใช้เครื่องยนต์แก๊สโซลีน ใช้นำมันแก๊สโซฮอล์ ขนาด 2 แรงม้า จุดเด่นของ “อะกริคราฟต์” (Agricraft) สามารถแล่นบนน้ำและบนบก สามารถเลี้ยงสัตว์น้ำในฟาร์ม หรือเกษตรชายน้ำ และเก็บเกี่ยวขนถ่ายผลผลิตสัตว์น้ำขึ้นบกเข้าสู่ห้องเย็นได้ทอดเดียว ลดการใช้แรงงานซึ่งเหมาะกับยุคที่ขาดแคลนแรงงาน เสริมความก้าวหน้า ต่อการประมงของประเทศไทย ทำให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้
“อะกริคราฟต์” (Agricraft) เรือสะเทินน้ำสะเทินบกเพื่อประมงไฮเทค
วิศวะสาขาแห่งอนาคต

อดีตคณะวิศวกรรมศาสตร์ของ สจล. บอกอีกว่า ทุกสถาบันการศึกษาต่างพยายามพัฒนาหลักสูตรเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งแต่ละหลักสูตรกว่าจะประกาศเปิดเป็นหลักสูตรออกมานั้น ทางสถาบันฯ จะต้องมีการเตรียมความพร้อมในทุกๆ ด้าน ทั้งในเรื่องของหลักสูตร อาจารย์ผู้สอน เครื่องมือ งบประมาณ สถานที่ที่จะใช้ในการฝึกปฏิบัติ

“เราดูด้วยว่าทิศทางการพัฒนาไปอย่างไร และเราจะผลิตวิศวกรมาช่วยในการพัฒนาประเทศได้อย่างไร ทั้งผู้สอน ผู้เรียน ต้องมีคุณภาพ”

โดยหลักสูตรใหม่ที่กำลังเป็นที่ยอมรับและสนใจก็คือ วิศวกรรมขนส่งทางราง ซึ่งเปิดหลักสูตรเมื่อปี 2556 ปัจจุบันเพิ่งมีการรับนักศึกษาได้เพียง 2 รุ่น รุ่นละ 50 คน และคาดว่าจะมีผู้จบการศึกษาด้านวิศวกรรมขนส่งทางราง รุ่นแรกในปี 2559

“การพัฒนาระบบขนส่งมีความจำเป็นมาก เพราะตอนนี้บ้านเรามีระบบรถไฟฟ้าหลายระบบ จะพึ่งพาแต่ต่างประเทศไม่ได้ ก็ต้องพัฒนาคนของเราเองขึ้นมา วิศวะ สจล. ก็เป็นส่วนหนึ่งในการผลิตวิศวกรระบบรางขึ้นมา”

สำหรับวิศวกรรมปิโตรเคมี ก็เป็นหนึ่งในหลักสูตรใหม่ที่เปิดรับได้เพียง 2 รุ่น รุ่นละ 40 คน และคาดว่าจะมีผู้จบการศึกษารุ่นแรกในปี 2559 ซึ่งสาขานี้เป็นที่ต้องการของเด็กสายวิทย์กลุ่มหัวกะทิมาก คะแนนรับตรงค่อนข้างสูงมากเช่นกัน ซึ่งอาจจะใกล้เคียงกับสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นดาวเด่นของคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล.

อย่างไรก็ดี ศ.ดร.สุชัชวีร์ระบุว่า จากนี้ไปกำลังเข้าสู่ยุคของชีวการแพทย์ กับยุคเอนเตอร์เทนเมนต์ ซึ่งเป็นเทรนด์ในการพัฒนาของโลก คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล.ใช้เวลาในการศึกษาและผลักดันหลักสูตรนี้ออกมาเพื่อตอบสนองกับความต้องการของสังคมและการพัฒนาประเทศและระดับโลก ซึ่งเป็นยุคข้ามพรมแดน ทุกอย่างสามารถไหลลามเข้ามาด้วยความรวดเร็ว

“เดิมทีคนที่เรียนวิศวะจะต้องเก่งคณิต ฟิสิกส์ เคมี แต่เมื่อเข้ามาเรียนวิศวะสาขาชีวการแพทย์แล้ว คนที่จะมาเรียนต้องเก่งทั้งคณิต ฟิสิกส์ เคมี และชีวะ”

ศ.ดร.สุชัชวีร์อธิบายว่า วิศวกรรมสาขาชีวการแพทย์ จะเป็นสาขาดาวรุ่งพุ่งแรงแน่นอน เพราะวิทยาการทางการแพทย์ก้าวหน้า อุปกรณ์ทางการแพทย์ทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นเลเซอร์ เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan), เครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เครื่องมือผ่าตัด แม้กระทั่งเข็มฉีดยา ยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศทั้งสิ้น

“วันนี้ประเทศไทยกำลังวิจัยเรื่องสเต็มเซลล์ (stem cell) ซึ่งมีอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง มีกล้องขยาย และเมื่อไรที่สเต็มเซลล์เป็นที่ยอมรับ จะทำให้การแพทย์ของไทยก้าวหน้า ต่างชาติก็จะหันมาใช้บริการในไทย ส่งผลให้วิศวะชีวการแพทย์เป็นที่ต้องการ”

ดังนั้นวิศวกรรมชีวการแพทย์ จึงเป็นสาขาที่เกี่ยวข้องกับแพทย์ วิทยาศาสตร์ ชีววิทยา เคมี และวิศวกรรมศาสตร์ ทั้งไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องกล มาประยุกต์ใช้ร่วมกันเพื่อออกแบบ สร้างหรือพัฒนาซอฟต์แวร์ อุปกรณ์หรือเครื่องมือทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐาน จะช่วยลดการนำเข้าจากต่างประเทศได้

“เช่นการรักษาโรคด้วยเลเซอร์ ที่มีลำแสง 3 ทาง เพื่อเข้าไปฆ่าเซลล์มะเร็ง ก็เป็นความรู้ด้านวิศวกรรมหลายๆ สาขารวมกัน เพราะเจ้ารูเล็กๆ 3 รู ถ้าคำนวณไม่แม่นยำ ก็จะเกิดปัญหาได้”

ที่สำคัญสาขาชีวการแพทย์ จะทำให้ผู้เรียนนอกจากจะเชี่ยวชาญในด้านวิศวกรรมที่เกี่ยวข้องแล้วยังสามารถเข้าใจเรื่องชีววิทยาและระบบร่างกายของคน ซึ่งจะมีผลดีต่อการผลิตอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ทางการแพทย์ได้ในอนาคต โดยวิศวกรรมสาขาชีวการแพทย์ เดิม สจล.เปิดสอนในระดับปริญญาโท และเปิดหลักสูตรปริญญาตรีมาแล้ว 3 ปี รับรุ่นละ 40 คน คาดจะมีผู้จบวิศวกรรมสาขานี้รุ่นแรกในปี 2558

อย่างไรก็ดี วิศวกรรมชีวการแพทย์มีสถาบันการศึกษาในไทยเปิดหลักสูตรนี้ ประกอบด้วย ที่มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และน้องใหม่ล่าสุดคือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ร่วมกับ โรงพยาบาลราชวิถี ผลิตบัณฑิตสาขานี้ โดยเปิดรับนักศึกษาปีแรกเมื่อปี 2557

สำหรับยุคเอนเตอร์เทนเมนต์ สจล.ได้เปิดหลักสูตรวิศวกรรมดนตรีและสื่อประสม เพราะเชื่อว่าโลกต่อไปจะเป็นโลกของเทคโนโลยีทางดนตรีที่จะเกี่ยวข้องกับการจัดงานใหญ่ๆ ปัจจุบันเราจะเห็นมีการยกอุปกรณ์เครื่องเสียงจากต่างประเทศ เพื่อมาเปิดคอนเสิร์ตที่ประเทศไทยของบรรดานักดนตรีระดับโลก ซึ่งสาขานี้จะสร้างผู้บุกเบิกงานด้านสารสนเทศศาสตร์การดนตรี โดยเปิดรับนักศึกษาปีแรกเมื่อปี 2557 ที่ผ่านมา

แนะโอกาสติดวิศวะลาดกระบัง

ดังนั้นเด็ก ม.6 ทุกคนที่ต้องการเรียนด้านวิศวกรรมศาสตร์ และหากต้องการสอบเข้าคณะวิศวกรรม สจล.ด้วยระบบรับตรงแล้ว บรรดารุ่นพี่มีข้อแนะนำน้องๆ ทุกคน คือจะต้องพยายามทำข้อสอบโดยเฉพาะ Pat 1 ความถนัดทางคณิตศาสตร์ให้ได้ในระดับ 180 คะแนนขึ้นไป หากต้องการติดในสาขายอดฮิตทั้งสาขาไฟฟ้า พลังงานไฟฟ้า ปิโตรเคมี เครื่องกล โทรคมนาคม และสาขาชีวการแพทย์ ส่วนคะแนนในช่วงต่ำกว่า 120 ลงมาก็ให้เลือกสาขาอื่นๆ หรือไปยื่นคณะอื่นแทน

“ลาดกระบังจะเน้น Pat 1 มากกว่า Pat 3 (ความถนัดทางวิศวกรรมศาสตร์) และคะแนน Gat แต่ไม่ได้หมายความว่า Pat หรือ Gat ได้น้อยจะเข้าได้ ซึ่งคะแนน Gat ก็จะต้องได้ 200 กว่ามากๆ ขึ้นไป ส่วน pat3 ก็ต้องระดับ 150 ขึ้นไป”

ขณะเดียวกันหากใครทำคะแนน Gat ได้ถึง 250 และ Pat 3 ได้สูงถึง 200 แต่คะแนน Pat 1 ได้ต่ำคือไม่ถึง 50 ก็ไม่ต้องไปคาดหวังว่าจะเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์สาขาอื่นๆ ได้ด้วย ยกเว้นว่าปีนี้ (2558) คะแนน Pat 1 ต่ำทั่วประเทศ

กำลังโหลดความคิดเห็น