xs
xsm
sm
md
lg

ตบหน้า! “สาวกสเต็มเซลล์” แค่ฉีด “ความเชื่อ” เข้าสู่ร่างกาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“สเต็มเซลล์สร้างเซลล์ใหม่ให้ร่างกาย รักษาได้ทุกโรค” ถ้าใครกำลังเชื่อแบบนี้ ขอบอกเลยว่ากำลังหลงกลโฆษณากลุ่มหาผลประโยชน์ทางการแพทย์จากวิทยาการสุดฮอตที่เรียกว่า “สเต็มเซลล์” เสียแล้ว ผู้เชี่ยวชาญระบุชัดยังไม่มีผลการวิจัยใดๆ รองรับว่าได้ผลจริง ที่เห็นฉีดๆ เข้าร่างกายกันอยู่ทุกวันนี้ ถือเป็นเพียงการฉีด “ความเชื่อ” เข้าไปเสริมสร้างฝัน ซึ่งใช้ประโยชน์จริงได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้นเอง




“ธุรกิจขายฝัน” หากินกับความหวังของคน?
คำว่า “สเต็มเซลล์” กลับมาสร้างเสียงฮือฮาอีกครั้งเมื่อข่าวครอบครัว “น้องไอนส์” วัย 2 ขวบเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในสมอง และผู้เป็นพ่อและแม่ซึ่งเป็นแพทย์ ตัดสินใจเก็บเซลล์ประสาทส่วนกลางและเซลล์บางส่วนของร่างกายแช่เข็งเอาไว้ที่ห้องเย็นของมูลนิธิเพื่อชีวิต อัลคอร์ ไลฟ์ เอ็กซ์เทนชั่น (Alcor Life Extension Foundation) ในรัฐแอริโซนา ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อรอเทคโนโลยีชุบชีวิตด้วยวิทยาการแห่งอนาคตและเพื่อใช้ศึกษาวิจัยเรื่องโรคมะเร็งไปในคราวเดียวกัน

(น้องไอนส์ เด็กหญิงที่ถูกแช่แข็งไว้หลังเสียชีวิต)

(คุณพ่อของน้องไอนส์ ผู้ยินดีให้แช่แข็งลูกไว้รอความหวัง)

ถึงแม้สเต็มเซลล์หรือการเพาะเซลล์เนื้อเยื่อของมนุษย์ขึ้นมา จะถือเป็นความหวังครั้งใหญ่ทางการแพทย์ในการรักษาโรคหายยาก แต่ทุกวันนี้การนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริงๆ ก็ยังอยู่ในขอบเขตที่จำกัดมากๆ ทั้งยังไม่มีผลการวิจัยใดๆ ที่รับรองได้สเต็มเซลล์ที่ปลูกถ่ายเข้าไปใหม่ตามส่วนต่างๆ ของร่างกายเหล่านั้นจะส่งให้เกิดผลดีจริงๆ

ที่น่าหนักใจอย่างมากคือ ทุกวันนี้มีผู้ใช้ช่องโหว่ของความเข้าใจผิดในเรื่องนี้ไปเร่ขายสรรพคุณของสเต็มเซลล์แบบเกินจริง ส่งให้มีคนไข้ผู้ยินยอมจ่ายเงินหลักล้านเพื่อแลกกับการฉีดเซลล์เข้าสู่ร่างกาย เพราะเชื่อว่าเซลล์เหล่านี้จะไปเสริมสร้างส่วนที่สึกหรอ โดยเฉพาะธุรกิจด้านความสวยความงาม นพ.นิพัญจน์ อิศรเสนา ณ อยุธยา หัวหน้าหน่วยสเต็มเซลล์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ผู้ติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับธุรกิจขายฝันแบบนี้มาตลอด จึงอยากชี้ทางสว่างให้คนที่กำลังเข้าใจผิดไปไกลหลายๆ คนให้ได้เข้าใจใหม่เสียที

(แช่แข็งที่ห้องเย็นของมูลนิธิเพื่อชีวิต)

ที่เห็นฉีดๆ กันอยู่ทุกวันนี้ ยังถือว่าเอาไปใช้ไม่ถูกตามหลักทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ เพราะหน้าที่ของสเต็มเซลล์ในร่างกายเราจริงๆ แล้วคือการสร้างเซลล์ใหม่ ซึ่งสเต็มเซลล์จากแต่ละอวัยวะจะเป็นคนละชนิดสร้างเซลล์คนละอย่างกัน “สเต็มเซลล์เลือด” สร้างเซลล์เลือด สเต็มเซลล์ผิวหนังชั้นผิวนอกสร้างเยื่อบุผิวหนัง ฉีดสเต็มเซลล์เข้าเลือดก็มีไม่กี่ชนิดที่เดินทางไปอวัยวะเป้าหมายได้ ต่อให้ใช้สเต็มเซลล์ของอวัยวะเดียวกันฉีดเข้าอวัยวะเดียวกันก็ไม่แน่ว่าเกิดประโยชน์หรืออาจเกิดผลข้างเคียงได้ สเต็มเซลล์ทำงานในที่ที่มีคุณสมบัติจำเพาะเท่านั้น ซึ่งในหลายอวัยวะถึงเราแยกสเต็มเซลล์ได้ก็ยังหาวิธีไปปลูกถ่ายให้ได้ผลไม่ได้ ไม่ใช่ฉีดสเต็มเซลล์อะไรก็ได้แล้วจะไปซ่อมร่างกายเอง

การบอกว่าสเต็มเซลล์หลั่งสารช่วยรักษา จริงๆแล้วเซลล์ที่ไม่ใช่สเต็มเซลล์หลายๆ ชนิดก็หลั่งสารที่ในหลอดทดลองกระตุ้นการแบ่งตัวของเซลล์รอบข้าง ปัญหาของการนำเซลล์ไปใช้ในลักษณะดังกล่าวคือเซลล์หลั่งสารหลายชนิดบางชนิดก็มีโทษในเวลาเดียวกัน ต้องทดสอบจนแน่ชัดว่ามีประโยชน์และปลอดภัยจริงถึงกลายเป็นการรักษามาตรฐาน การนำไปฉีดโดยไม่เหมาะสมทำให้เกิดความเสี่ยงต่อคนไข้ได้

ถามว่าทุกวันนี้ เราเก็บสเต็มเซลล์ประเภทไหนเอามาใช้ประโยชน์กันบ้าง ก็มีตั้งแต่ “เซลล์จากรก” หรือสายสะดือเด็ก ส่วนนั้นเรียกว่า “สเต็มเซลล์เลือด” เอาไว้ใช้รักษาโรคเลือด แต่เป็นการรักษาโรคเลือดของผู้ป่วยรายอื่นนะ เพราะโรคส่วนใหญ่ใช้เลือดของตัวเองรักษาไม่ค่อยได้ โรคเกือบทั้งหมดที่เอาสายสะดือทารกไปรักษาได้ในปัจจุบันนั้น เป็นโรคเลือดของลูกคนอื่นเขา และในอนาคตอาจจะไม่จำเป็นต้องเก็บสเต็มเซลล์ไว้ตั้งแต่เด็กก็ได้ เพราะมีสเต็มเซลล์หลายชนิดที่มาเก็บเอาตอนเป็นผู้ใหญ่ก็ได้ หรือเอาเซลล์ร่างกายเราไปเปลี่ยนเป็นสเต็มเซลล์ก็เป็นเทคโนโลยีที่ทำได้แล้วในปัจจุบัน ตอนนี้เลยบอกไม่ได้เลยว่าการเก็บเซลล์ของสายสะดือทารกไว้จะมีประโยชน์อะไรที่นอกเหนือไปกว่ารักษาโรคเลือดได้

สเต็มเซลล์อีกแบบที่เก็บกันคือ “ฟันน้ำนม” ซึ่งมีความสามารถในการสร้างเซลล์กระดูกและฟันได้ แต่ถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีโรคฟันใดๆ ที่มีข้อสรุปแล้วว่าเอาไปใช้แล้วได้ผล ทางวิทยาศาสตร์คาดว่าพัฒนาต่ออีกสัก 4-5 ปีอาจจะเอาไปใช้ในโรคกระดูกและฟันได้บ้าง แต่ถามว่านำไปใช้ในโรคอื่นๆมากไปกว่านี้ได้หรือไม่ งานวิจัยในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลรองรับ

ส่วนเรื่องการเก็บสเต็มเซลล์เพื่อความหวังจะทำให้คนฟื้นขึ้นมา อันนี้คงเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไป เพราะเป้าหมายของสเต็มเซลล์ไม่ได้มีไว้ช่วยให้คนฟื้น แต่เป้าหมายคือมีโรคหลายโรคที่เซลล์มันตายและเราไม่รู้จะรักษายังไง ถ้าเราไม่สามารถเปลี่ยนเซลล์ได้ ตอนนี้เทคโนโลยีก็ทำให้ช่วยคิดได้ว่าเราจะสร้างเซลล์ชนิดจำเพาะขึ้นมาได้ในหลอดทดลอง แต่ปัญหาคือไม่ใช่ว่าเอาเซลล์ทุกชนิดมาปลูกถ่ายแล้วจะทำให้หายจากโรคได้อย่างที่เข้าใจ ทุกวันนี้ยังปลูกถ่ายได้อย่างจำกัดอยู่”




ปลูกถ่าย “ความเชื่อ” ที่วิทยาศาสตร์ไม่รองรับ!

สเต็มเซลล์ส่วนใหญ่ที่ใช้ในไทยเป็น “ความเชื่อที่ผิด” แต่หน่วยงานที่ขายสิ่งเหล่านี้มักจะออกมาแก้ต่างว่า คนที่ค้านเรื่องนี้คือเต่าล้านปี ซึ่งจริงๆ แล้วทางคณะทำงานติดตามความเคลื่อนไหวและคอยอัปเดตเรื่องเหล่านี้อยู่ตลอด และทราบดีว่ามาตรฐานโลกยังไม่ยอมรับการรักษารูปแบบนี้ โดยเฉพาะนักวิทยาศาสตร์ด้านสเต็มเซลล์จากมหาวิทยาลัยดังๆ อย่างสแตนฟอร์ด, ฮาร์เวิร์ด, เคมบริด และสมาคมสเต็มเซลล์ระดับโลก เช่น International society for stem cell research (ISSCR) หรือยูโรสเต็มเซลล์ ก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า นอกจากโรคเกี่ยวกับระบบเลือดแล้ว โรคอื่นๆ ยังอยู่ในการทดลอง

“ถือว่าสเต็มเซลล์คือความหวังในการพัฒนาต่อไปอย่างถูกต้องในอนาคต อาจจะเอามาใช้รักษาโรคได้ แต่วิธีการฉีดเข้าไปเฉยๆ ในร่างกายทุกวันนี้มันทำให้เกิดความเสี่ยงต่อคนไข้ ทั้งๆ ที่โอกาสความสำเร็จแทบจะมองไม่เห็น เพราะมันผิดหลัก เพราะนอกจากโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบเลือดแล้ว โรคส่วนใหญ่ยังไม่สามารถใช้วิธีฉีดสเต็มเซลล์เข้าไปรักษาในจุดนั้นได้ทันที เช่น ถ้าเป็นโรคเกี่ยวกับสมอง เราไม่สามารถฉีดเข้าไปตรงไหนของสมองแล้วปลูกถ่ายเซลล์เพิ่มได้ มันทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะร่างกายของคนเราซับซ้อนมาก ไม่มีทางจะเอาเซลล์อะไรก็ตามฉีดเข้าไปทำงานแทนที่ได้” หัวหน้าหน่วยสเต็มเซลล์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ อธิบายเพิ่มเติม

“สิ่งสำคัญที่สุดคือ ตอนนี้คนเข้าใจไปว่าสเต็มเซลล์มีคุณสมบัติพิเศษที่ใช้รักษาโรคเหมือนเป็นหมอไปสั่งให้ร่างกายซ่อมตัวเอง คนไม่เข้าใจว่าจริงๆ แล้วหน้าที่ของสเต็มเซลล์เหมือน “เมล็ดต้นไม้” มีหน้าที่ผลิตใบไม้ชนิดนั้น เช่น ต้นแตงโมก็ผลิตแต่ใบแตงโม การจะเอาสเต็มเซลล์ส่วนไหนมาใช้ เราก็ต้องรู้ว่ามันคือเซลล์อะไร ถ้าเอาเมล็ดมะม่วงไปปลูกในต้นแตงโม มันก็ไม่ได้ประโยชน์

มันเหมือนกับยุคที่เพิ่งเริ่มพูดถึงคำว่า ปรมาณู กันขึ้นมา เวลามีอะไรก็ตามที่พูดเกี่ยวกับเรื่องนี้คนก็จะสนใจเพราะฟังแล้วมันดูเท่ ตอนนี้ก็กลายมาเป็นคำว่า สเต็มเซลล์

คนไข้ทุกวันนี้ที่นิยมฉีดสเต็มเซลล์มีอยู่ 2 กลุ่มหลักๆ กลุ่มแรกคือบรรดาไฮโซที่ไปฉีดเพื่อความสวยงามโก้เก๋และเชื่อว่าจะทำให้อายุยืนยาว คนกลุ่มนี้ไปฉีดตามดารา และเพื่อหยิบมาเป็นหัวข้อสนทนาในวงสังคมได้ว่าไปฉีดตามเทรนด์มาแล้วได้ผลอย่างไรบ้าง เหมือนซื้อของแบรนด์เนม โดยที่กลุ่มคนเหล่านี้ไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าสิ่งที่เขาฉีดเข้าไปอาจมีส่วนผสมที่อันตรายซ่อนอยู่ ซึ่งหลายคนคิดว่าฉีดแล้วปลอดภัยเพราะไม่เห็นเป็นอะไร จริงๆ แล้วนอกจากผลข้างเคียงเฉียบพลันแล้ว ที่น่าเป็นห่วงคือผลข้างเคียงระยะยาวโดยเฉพาะผู้ที่ฉีดซ้ำๆหลายครั้ง ซึ่งเราเคยตรวจพบสารอันตรายปนมาในผลิตภัณฑ์ที่อ้างว่าเป็นสเต็มเซลล์

ส่วนคนอีกกลุ่มหนึ่งที่นิยมใช้บริการแบบนี้ คือกลุ่มคนไข้ที่ป่วยเป็นโรคที่รักษาไม่หายและคิดว่าไม่มีทางเลือกแล้วจริงๆ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทางแพทย์เป็นห่วงอย่างมาก เพราะกลุ่มคนเหล่านี้จะตกเป็นหนูทดลองได้ง่ายเมื่อเจอแพทย์ที่ไร้จรรยาบรรณ

“คนไข้กลุ่มนี้จะบอกตลอดว่าให้หมอทำอะไรกับเขาก็ได้ เขาอยากหาย ยอมหมด หมอที่ทำธุรกิจนี้ก็จะบรรยายสรรพคุณของสเต็มเซลล์ว่ารักษาได้ทุกอย่าง จากนั้นฉีดอะไรให้ก็ไม่มีใครรู้ ตั้งราคาสูงอย่างไม่เหมาะสมเลย มันมีตั้งแต่สเต็มเซลล์ปลอมและสเต็มเซลล์จริงที่ไม่ได้ประโยชน์ บางแห่งเก็บไขมันออกมาจากร่างกายแล้วอ้างว่าเก็บสเต็มเซลล์ออกมา ทั้งที่ความจริงสเต็มเซลล์ที่อยู่ในไขมันมันมีน้อยยิ่งกว่าน้อย และสเต็มเซลล์ในไขมันก็ยังไม่มีข้อสรุปว่าใช้รักษาได้ผล ทางการแพทย์จำเป็นต้องปกป้องคนกลุ่มนี้มากๆ เพราะเสี่ยงที่จะถูกชักจูงได้ง่าย ต่างประเทศมีคนที่ใช้เงินเก็บที่สะสมมาทั้งชีวิตไปเพราะเรื่องนี้ มีคลินิกที่ถูกปิดเพราะทำให้คนไข้เสียชีวิตไปก็มี




อุดช่องโหว่ แพทย์หวังรวย-ไร้จรรยาบรรณ!
เพื่อแก้ปัญหาผู้ใช้ช่องโหว่หากินจากความไม่เข้าใจของประชาชน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) จึงกำลังเร่งออกร่าง “พ.ร.บ.เซลล์ทางการแพทย์ พ.ศ....” ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นทำประชาพิจารณ์ และแน่นอนว่าต้องมีฝ่ายต่อต้าน ด้วยเหตุผลที่หยิบยกมาอ้างว่า พ.ร.บ.จะทำให้การพัฒนางานวิจัยในส่วนนี้หยุดชะงักอยู่กับที่ ซึ่ง นพ.นิพัญจน์ ขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริง

“เพราะ พ.ร.บ.ตัวนี้ยังคงสนับสนุนงานวิจัยให้มีต่อไป งานวิจัยที่ควบคุมคือเฉพาะที่มีการฉีดเซลล์เข้าผู้ป่วย ซึ่งก็ยังทำได้เพียงแต่ต้องขออนุมัติจากกรรมการจริยธรรมของสถาบันและกรรมการที่กำกับดูแลกลางซึ่งก็เหมือนกับปัจจุบัน เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ป่วยได้รับการปกป้องเพียงพอ ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง และไม่เสียค่าใช้จ่าย พ.ร.บ.นี้ไม่ควบคุมการรักษาตามมาตรฐานเดิม ส่วนในกรณีที่มีการรักษาด้วยเซลล์ใหม่ที่มีหลักฐานยืนยันว่าได้ผล มีขั้นตอนที่ชัดเจนที่จะขึ้นทะเบียนทำให้เป็นการรักษามาตรฐานที่ยอมรับในประเทศ กำหนดมาตรฐานสำหรับแพทย์ที่จะให้การรักษาด้วยวิธีนี้ หน่วยงานและห้องปฏิบัติการต้องจดทะเบียน จะได้ตรวจติดตามผลได้ว่าได้ผลยังไง
ต่อไปนี้ถ้ามีสถานบริการขายสเต็มเซลล์อย่างไม่ถูกต้อง จะมีโทษทางอาญาและเพิกถอนได้ จะได้ตรวจสอบความปลอดภัยและเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการ และถ้ารักษาได้สำเร็จ มีผลการวิจัยรองรับก็จะได้รับการยอมรับในระดับโลก เป็นประโยชน์ด้านการรักษาต่อไป



(คนในวงการมากมาย ผู้ถูกลือว่าใช้บริการสเต็มเซลล์)
ทุกวันนี้ ในต่างประเทศหลายๆ แห่งก็มีกฎหมายออกมาคุ้มครองเรื่องการฉีดสเต็มเซลล์แล้ว อย่างตอนแรกทางเยอรมนีมีช่องโหว่ที่คลินิกสามารถขายสเต็มเซลล์ได้ แต่พอมีคลินิกทำคนตายก็ถูกปิด ตอนนี้หันมาใช้กฎหมายควบคุมการฉีดสเต็มเซลล์เหมือนกันหมดทั้งยุโรป ส่วนประเทศเรา ถ้าปล่อยให้เป็นอย่างในปัจจุบันต่อไป คลินิกไหนจะรักษาด้วยสเต็มเซลล์ก็ได้ มันจะไม่มีอะไรปกป้องคนไข้ได้เลย เข้าไปแล้วได้รับเซลล์ที่เป็นอันตรายก็ไม่รู้จะไปฟ้องร้องกับใครเพราะไม่มีการเก็บหลักฐานตั้งแต่แรก

คนที่มองว่ามันเป็นสิทธิของเขาที่จะตัดสินใจฉีด ตรงนี้ก็อยากให้มองในภาพรวมว่าถ้าทางแพทยสภาปล่อยให้หมอคนไหนก็ได้พูดประโยคอะไรก็ได้ และเก็บเงินเท่าไหร่ก็ได้โดยไม่ต้องรับผิดชอบ หมออาจจะบอกว่าถ้าคุณไม่ฉีด คุณอาจจะตาย แต่ถ้าคุณเอามาล้านหนึ่ง ฉีดแล้วจะหาย แต่ถ้าไม่หายห้ามฟ้องหมอนะ ถ้าเป็นแบบนี้มันก็จะเสียทั้งระบบ คนไข้ที่เดินเข้ามาหาหมอจะเกิดความเสี่ยงทันที มันเหมือนกับว่าถ้าเราปล่อยให้คนหนึ่งโกงได้แล้ว แล้วทำไมหมอที่เหลือจะต้องทำถูกด้วยล่ะ

ปัจจุบันกฎหมายคุ้มครองประชาชนผู้เข้าใช้บริการฉีดสเต็มเซลล์แบบนี้ได้เพียงบางส่วนเท่านั้น คือทางแพทยสภามีสิทธิสูงสุดได้เพียงถอนใบประกอบโรคศิลปะของแพทย์รายนั้นๆ แต่สิ่งที่ยังเป็นช่องโหว่อยู่ก็คือหน่วยงานที่จะตามไปตรวจสอบว่ามีการกระทำผิดอยู่ที่ใดบ้าง เพราะต้องรอให้มีคนฟ้องร้องเข้ามาเท่านั้นจึงจะลงไปตรวจสอบได้ ทั้งๆ ที่ทุกวันนี้มีหมอจำนวนหนึ่งซึ่งไปเลกเชอร์ให้ความรู้ผิดๆ แก่ชาวบ้านเต็มไปหมดเพื่อที่จะขายของที่ไม่ได้มาตรฐานเหล่านี้

ประเด็นคือคนส่วนใหญ่อาจจะไม่รู้ด้วยว่าถ้าไปใช้บริการฉีดอะไรแบบนี้แล้วเสียเงินและได้รับผลกระทบอะไรมา เขาสามารถฟ้องร้องและได้รับเงินคืนไปจนถึงเรียกค่าเสียหาย ทั้งๆ ที่อาจจะเซ็นสัญญากับหมอไปแล้วด้วยว่าถ้าการรักษาไม่ได้ผล จะไม่เอาผิดกับหมอ เพราะถ้าแพทย์ทำในสิ่งที่แพทยสภาห้ามเอาไว้ตั้งแต่ต้น สัญญาเหล่านั้นก็ถือเป็นโมฆะ หรือเป็นเพราะคนที่ไปฉีดแล้วเกิดผลกระทบเกิดความรู้สึกอาย ไม่กล้าฟ้องเลยทำให้ยังเห็นคนที่ออกมาฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายน้อยอยู่”

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!

และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754




ข่าวที่เกี่ยวข้อง (คลิก)
- เกาะกระแส"น้องไอนส์" สธ.แฉธุรกิจ'สเต็มเซลล์'เร่ขายฝัน
- 'แช่แข็งศพ' โรคร้ายต้องรักษาได้ 'ไครออนิกส์' เทคโนโลยีชุบชีวิตแห่งอนาคต!?
- “สเต็มเซลล์” กระชากเหี่ยวหรือเสี่ยงมะเร็ง? ดารา นักการเมือง นักธุรกิจ คลั่งฉีด!!
- เจาะลึก 'สวย-หล่อ' ย้อนวัย นวัตกรรมชะลอแก่..ที่คุณคู่ควร?
- สเต็มเซลล์ เมื่อมนุษย์หาญกล้า ท้าทายพระเจ้า
กำลังโหลดความคิดเห็น