xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ปัญหาอ่านเขียนไม่คล่อง เป็นเหตุคะแนน O-NET ป.6 ทุกวิชาต่ำสุด 0 คะแนน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สทศ.เผยเด็ก ป.6 ทำคะแนน O-NET ทุกวิชาต่ำสุดเป็น 0 ไม่ได้หมายความเด็กโง่ ทั้งมีจำนวนไม่มาก คาดเกิดจากหลายสาเหตุเตรียมวิเคราะห์ผลสอบรายโรง ขณะที่ “จาตุรนต์” ชี้ไม่เหนือความคาดหมาย ฟุ้งเตรียมปฏิรูปการสอนทุกรายวิชา แต่ต้องใช้เวลากว่าจะเห็นผล ส่วนกรณีที่ได้คะแนนภาษาไทยไม่ถึงครึ่งไม่ใช่ปัญหาใหญ่และเข้าใจได้ เพราะมีจากการสแกนพบเด็กกว่า 2 แสนคนมีปัญหาอ่านเขียนไม่คล่อง พบเด็กในระบบกว่า 2 แสนคนยังมีปัญหานี้ ด้าน เลขาฯ กพฐ.ระบุไม่ควรเปรียบเทียบเหตุ O-NET ปีนี้คิดวิเคราะห์ แต่เมื่อเด็กมีปัญหาอ่านเขียนไม่คล่องตีโจทย์ไม่แตกก็อาจทำข้อสอบไม่ได้

รศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เปิดเผยกรณี สทศ.ประกาศผลสอบแบบทดสอบทางการศึกษาระดับขั้นพื้นฐาน หรือ O-NET ปีการศึกษา 2556 ของนักเรียนชั้น ป.6 ก่อนกำหนด จากวันที่ 19 มี.ค.2557 เป็นวันที่ 15 มี.ค. ที่ผ่านมาเนื่องจาก สทศ.ประมวลผลเสร็จเร็ว ซึ่งผลการสอบปรากฏว่านักเรียนทำคะแนนเฉลี่ย 7 วิชา จาก 8 วิชาไม่ถึงครึ่ง และทุกวิชาคะแนนต่ำสุดอยู่ที่ 0 คะแนนนั้น ว่า ภาพรวมผลการสอบถือว่าใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา บางวิชาคะแนนสูงขึ้นบางวิชาคะแนนลดลง แต่ไม่แตกต่างมากนัก ส่วนที่กรณีผลคะแแนนต่ำสุดทุกวิชาอยู่ที่ 0 นั้น เท่าที่ตนได้สอบถามเจ้าหน้าที่ทราบว่ามีจำนวนไม่มาก และมีหลายสาเหตุ เช่น เด็กทำไม่ครบทุกข้อ หรือทำครบทุกข้อแต่ไม่ถูกเลย และทุกปีก็มีเด็กทำคะแนนต่ำสุดเป็น 0

การที่เด็กได้คะแนนต่ำสุดทุกวิชาเป็น 0 นั้นไม่ใช่ว่าเด็กส่วนใหญ่จะโง่ เพราะจำนวนเด็กที่ได้ 0 มีไม่มาก และไม่ได้หมายความว่าเด็กคนนั้นจะได้คะแนนต่ำสุดทุกวิชาเป็น 0 ในการสอบจะต้องมีเด็กที่ทำข้อสอบไม่ได้ก็น่าจะมี แต่เราต้องไปดูว่าจริงๆ เป็นเพราะอะไร แต่ภาพรวมผมว่าคะแนนเด็กถือว่าพอใช้ได้ และมั่นใจว่าในปี 2561 ที่กระทรวงศึกษาธิการตั้งเป้าการปฏิรูปการศึกษา ทำให้เด็กสอบคะแนน O-NET ใน 5 วิชาหลัก 50% นั้นเป็นไปได้” รศ.ดรสัมพันธ์ กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม จากนี้ สทศ.จะตัองวิเคราะห์ผลการสอบทุกวิชาอย่างละเอียด เป็นรายโรง รวมทั้งมีการเปรียบเทียบผลการสอบแต่ละสังกัด และส่งให้โรงเรียนนำไปปรับปรุงด้วย

ด้าน นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า เรื่องนี้ตนคิดว่าอาจเป็นความบกพร่องของเด็กในการทำข้อสอบ หรือเด็กอาจจะไม่อยากทำข้อสอบก็ได้ และต้องเข้าใจด้วยว่าข้อสอบในปีนี้แตกต่างกับปีที่แล้ว จึงไม่ควรนำมาเปรียบเทียบกัน เพราะข้อสอบ O-NET ในปีนี้นั้นเน้นการคิดวิเคราะห์ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าการเรียนการสอนในห้องเรียนปัจจุบันไม่ได้เน้นให้เด็กคิดและวิเคราะห์เป็น และเด็กบางส่วนยังอ่านภาษาไทยไม่คล่อง โดยข้อสอบแบบคิดวิเคราะห์มีโจทย์คำถามที่ยาวมาก ดังนั้น เมื่ออ่านไม่เข้าใจก็ไม่สามารถหาคำตอบที่ถูกต้องได้ ขณะเดียวกัน การสอนของครูจะสอนให้เด็กท่องจำมากกว่าและเมื่อข้อสอบออกมาไม่เหมือนกับที่เรียนเด็กก็ทำไม่ได้ อย่างไรก็ตามสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนในห้องเรียนที่เน้นให้เด็ก คิดวิเคราะห์เป็นมากขึ้น และมั่นใจว่าการสอบ O-NET ในปีการศึกษาหน้าเด็กจะมีผลคะแนนที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน

ขณะที่ นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ขณะนี้ต้องรอผลการวิเคราะห์รายละเอียดความยากง่ายของข้อสอบในแต่ละรายวิชาจาก สทศ.และเปรียบเทียบคะแนนกับปีที่ผ่านมา เพื่อดูพัฒนาการคะแนนการสอบปีนี้ว่าเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไร ทั้งนี้ ปัญหาคะแนน O-NET ป.6 ตกต่ำไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย และทาง ศธ.ได้เตรียมแก้ปัญหาดังกล่าวโดยการปฏิรูปการเรียน เปลี่ยนการสอนในทุกรายวิชา ซึ่งต้องใช้เวลา เชื่อว่าในการสอบครั้งต่อๆ ไป เด็กจะทำคะแนนได้ดีขึ้นเรื่อยๆ สำหรับวิชาภาษาไทยที่เด็กทำคะแนนได้ไม่ถึงครึ่งนั้น จากที่ไปสแกนปัญหาการอ่าน ออกเขียนได้ของเด็กที่ผ่านมาพบว่ามีเด็กที่ยังอ่านไม่ออก เขียนไม่คล่องอยู่ในระบบอีกกว่า 2 แสนราย ดังนั้นปัญหาคะแนนO-NETในวิชาภาษาไทยตกต่ำ ไม่ถึงครึ่ง จึงไม่ใช่ปัญหาใหญ่และเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ โดยที่ผ่านมา ศธ.ได้แก้ปัญหาเด็กอ่าน ไม่ออกเขียนไม่คล่อง ไปบ้างแล้วในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งก็พบว่าได้ผลพอสมควร
 
 


กำลังโหลดความคิดเห็น