xs
xsm
sm
md
lg

ใครเหมาะสมดูแลคนแก่ “Care Manager&Care Giver”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย...สิรวุฒิ รวีไชยวัฒน์

หนึ่งในของขวัญปีใหม่ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะมอบให้แก่คนไทยก็คือ การพัฒนาระบบบริการสุขภาพให้คนไทยทุกคนเข้าถึง นอกจากโปรเจกต์หมอประจำครอบครัวแล้ว ยังมีโครงการสร้าง Care Manager และ Care Giver ให้ครบอคลุมทั่วประเทศภายใน เม.ย. 2558 ด้วย

แล้ว Care Manager กับ Care Giver คืออะไร?

นพ.ณัฐพร วงษ์ศุทธิภากร รองอธิบดีกรมอนามัย อธิบายว่า Care Manager คือผู้ดูแลระบบการดูแลผู้สูงอายุ นั่นคือ คนที่สามารถประเมินสถานการณ์ผู้สูงอายภายในพื้นที่รับผิดชอบของตนได้ ว่ามีผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงจำนวนเท่าไร ขาดการเข้าถึงบริการมากน้อยแค่ไหน จะต้องจัดบริการลงไปช่วยดูแลผู้สูงอายุแต่ละคนอย่างไร ดำเนินการตรวจคัดกรองสุขภาพผู้สูงอายุในพื้นที่แล้วจะดำเนินการดูแลสุขภาพของคนวัยชราเหล่านั้นต่อได้อย่างไร เพื่อให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น เข้าถึงบริการมากขึ้น และห่างไกลจากโรค

ส่วน Care Giver นั้น ก็คือผู้ดูแลผู้สูงอายุ คือคนทั่วไปที่มีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์ที่จะสามารถลงพื้นที่ไปดูแลผู้สูงอายุตามบ้านได้ เช่น หากผู้สุงอายุติดบ้านติดเตียงป่วยเป็นโรคเบาหวานก็ต้องลงไปช่วยดูการตรวจวัดระดับน้ำตาล มีการรับประทานยาเบาหวานอย่างต่อเนื่องเหมาะสมหรือไม่ มีแผลกดทับตามร่างกายหรือไม่ เป็นต้น โดยใน 1 ตำบลจะมี Care Giver กี่คนนั้นคืออยู่กับสัดส่วนของผู้สูงอายุที่ติดบ้านติดเตียง โดยสัดส่วนที่ สธ.กำหนดไว้คือ Care Giver 1 คน จะดูแลผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง 5 - 7 คน และ Care Manager 1 คนจะดูแล Care Giver อีก 5 - 7 คน

สาเหตุที่ต้องมี Care Manager และ Care Giver ในการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงนั้น นพ.ณัฐพร กล่าวว่า เพราะแนวโน้มผู้สูงอายุในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่น่าห่วงคือ 95% ล้วนป่วยด้วยโรคใดโรคหนึ่งคือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เข่าเสื่อม ซึมเศร้า และทุพพลภาพติดเตียง โดย 74% มีพฤติกรรมสุขภาพไม่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุบางคนแม้จะมีโรคประจำตัวแต่ยังสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติไม่น่าห่วงเท่าไรนัก เพราะยังสามารถออกไปรวมกลุ่มทำกิจกรรม ออกกำลังกายต่างๆ ได้ เนื่องจากในพื้นที่ชุมชนต่างก็มีชมรมผู้สูงอายุทั้งสิ้น แต่สำหรับผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง จำเป็นต้องได้รับการดูแล โดยเฉพาะบางคนที่สามารถออกไปใช้ชีวิตข้างนอกบ้านได้ แต่กลับจมจ่อมอยู่แต่ภายในห้อง ภายในบ้าน ซึ่งการขาดการเคลื่อนไหวจะยิ่งทำให้สุขภาพแย่ลง

การมี Care Manager และ Care Giver จึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่ง สธ. พยายามดำเนินการ โดยภายใน ธ.ค.2557 จะดำเนินการนำร่องให้ได้ครบ 20 จังหวัด ซึ่งแต่ละจังหวัดจะมีการดำเนินการ 1 - 3 อำเภอ และแต่ละอำเภอจะมีตำบลดำเนินการ 1 - 3 ตำบล ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มมีการฝึกอบรม Care Manager ไปบ้างแล้ว"

แน่นอนว่าการจะมาดูแลผู้สูงอายุที่ติดบ้านติดเตียง แถมมีโรคภัยรุมเร้าด้วยนั้นไม่ใช่ว่าใครก็สามารถเข้ามาดำเนินการดูแลได้ แต่จะต้องผ่านเกณฑ์หรือคุณสมบัติเสียก่อน ตามที่คณะกรรมการสาธารณสุขออกคำแนะนำไว้ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 10(3) พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535

โดย Care Manager นั้นต้องมีคุณสมบัติคือ มีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีบริบูรณ์ มีความรู้หรือประสบการณ์เกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุ ดังนี้

1. มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านการแพทย์หรือการพยาบาล หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์ หรือประกาศนียบัตรการพยาบาล หรือ

2. มีประสบการณ์ในการดูแลผู้สูงอายุไม่น้อยกว่า 3 ปี โดยมีหนังสือรับรองจากบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีวุฒิการศึกษาระดับประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาลที่ได้รับการรับรองจากสภาการพยาบาล หรือ

3. มีประสบการณ์ในการดูแลผู้สูงอายุไม่น้อยกว่า 3 ปี โดยมีหนังสือรับรองจากบุคคล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผ่านการอบรมหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุ อย่างน้อย 420 ชั่วโมงที่จัดโดยกรมอนามัย หรือส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง หรือโรงเรียนเอกชนที่ได้รับอนุญาตจากการทรวงศึกษาธิการ

ที่สำคัญคือ ไม่มีความประพฤติเสื่อมเสีย ไม่มีประวัติกระทำผิดต่อผู้สูงอายหรือผู้ป่วย และมีใบรับรองแพทย์ว่ามีสุขภาพแข็งแรง ไม่วิกลจริต จิตฟั่นเฟือน ไม่สมประกอบ ไม่ติดสารเสพติด

สำหรับ Care Giver มัคุณสมบัติคือ มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ จบการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับมัธยมศึกษาตอนต้นหรือเทียบเท่า มีความรู้และประสบการณ์ในการดูแลผู้สูงอายุ ดงันี้

1. มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านการพยาบาล หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์ หรือประกาศนียบัตรการพยาบาล

2. มีวุฒิการศึกษาระดับประกาศนียบัตร ผู้ช่วยพยาบาลตามหลักสูตรที่สภาการพยาบาลรับรอง หรือ

3. ผ่านการอบรมหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุอย่างน้อย 420 ชั่วโมง ที่จัดโดยกรมอนามัย สธ. หรือส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง หรือโรงเรียนเอกชน ที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการ หรือ

4. ผู้มีประสบการณ์ในการดูแลผู้สูงอายุไม่น้อยกว่า 1 ปี โดยมีหนังสือรับรองจากโรงเรียน สถาบัน หรือสถานประกอบการที่เกี่ยวข้อง และผ่านการอบรมหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุไม่น้อยกว่า 70 ชั่วโมงที่จัดโดยกรมอนามัย สธ. หรือส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง หรือโรงเรียนเอกชนที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการ

นอกจากนี้ ยังต้องเข้ารับการฝึกอบรมฟื้นฟูการดูแลผู้สูงอายุที่บ้านระหว่างปฏิบัติงาอย่างน้อยทุก 2 ปี ไม่มีความประพฤติเสื่อมเสีย ไม่มีประวัติกระทำผิดต่อผู้สูงอายุ มีใบรับรองแพทย์ว่าสุขภาพดี ไม่เป็นผู้ฟั่นเฟือนวิตกจริต ผ่านการประเมินด้านสุขภาพจิต มีวุฒิภาวะบุคลิกเหมาะสม

สำหรับคนที่สนใจเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุ หากพิจารณาแล้วว่าตัวเองมีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ ก็สามารถเลือกเป็นอีกอาชีพหนึ่งในการเข้ามาช่วยดูแลวัยชราในพื้นที่ที่ตนเองอยู่ให้มีสุขภาพดีขึ้นได้ เพราะอย่างน้อยอัตราจ้างขั้นต่ำของ Care Giver ก็อยู่ที่ 300 บาทต่อวัน นอกจากทำงานในพื้นที่ของตนเองแล้ว ยังช่วยดูแลผู้สูงวัยในชุมชนด้วยอีกทางหนึ่ง

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่

Loading

เครื่อง oncothermia ความหวังใหม่รักษามะเร็งเต้านม-ตับระยะท้าย ใช้คลื่นวิทยุยิงเฉพาะจุดมะเร็งจนเกิดความร้อน เอื้อยาเคมีบำบัดเข้าถึงมะเร็งง่ายขึ้น ผลศึกษาก้แนมะเร็งเต้านมยุบทั้งหมด 22% ผู้ป่วยมะเร็งตับอายุยืนขึ้น

View on Instagram




กำลังโหลดความคิดเห็น