xs
xsm
sm
md
lg

จัดสรรงบบัตรทองไม่ลงตัว ไม่กระทบอบรมดูแลคนแก่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมอนามัยเร่งจัดอบรมผู้ดูแลผู้สูงอายุ และผู้ดูแลระบบการดูแลผู้สูงอายุ ชี้ช่วยผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงเข้าถึงบริการสุขภาพ ลดค่าใช้จ่ายการรักษาบานปลาย หลังพบผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ห่วง 95% มีโรคประจำตัว ไม่หวั่นแนวทางการจัดสรรงบบัตรทองไม่ลงตัวส่งผลกระทบการอบรม มั่นใจขยายครอบคลุมทั่วประเทศทันตามกำหนด
นพ.ณัฐพร วงษ์ศุทธิภากร รองอธิบดีกรมอนามัย
วันนี้ (3 พ.ย.) เมื่อเวลา 09.00 น. ที่โรงแรมโกลเดน ดรากอน จ.นนทบุรี นพ.ณัฐพร วงษ์ศุทธิภากร รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงาน “การอบรมหลักสูตรผู้จัดการการดูแลผู้สูงอายุ (Care manager)” ว่า ประชากรผู้สูงอายุของไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากที่มีจำนวน 7.5 ล้านคน หรือร้อยละ 11.7 ในปี 2553 เพิ่มเป็น 9.7 ล้านคน หรือร้อยละ 15 ในปี 2557 โดยร้อยละ 95 มักเจ็บป่วยด้วย 1 ใน 5 โรคนี้ คือ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน เข่าเสื่อม ซึมเศร้า และทุพพลภาพติดเตียง โดยมีเพียงร้อยละ 5 เท่านั้นที่ไม่เป็นโรค ส่วนการเข้าถึงบริการสุขภาพยังมีจำนวนน้อยอยู่ คือ ร้อยละ 56 เท่านั้น ขณะที่ร้อยละ 74 ยังมีพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่พึงประสงค์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จึงได้พัฒนาระบบการสร้างเสริมสุขภาวะผู้สูงอายุ และผู้ที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงรวมถึงผู้ป่วยในระยะสุดท้ายของชีวิตโดยเป็นนโยบายสำคัญเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการ เพื่อมอบเป็นของขวัญแด่ผู้สูงอายุตามนโยบายของ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข ภายในปี 2558

นพ.ณัฐพร กล่าวว่า สิ่งที่ต้องดำเนินการ คือ การจัดให้มีผู้ดูแลระบบการดูแลผู้สูงอายุ (Care Manager) และ ผู้ดูแลผู้สูงอายุ (Care giver) โดยตั้งเป้าดำเนินการให้ครอบคลุม 20 จังหวัดภายใน ธ.ค.2557 จังหวัดละ 1 - 3 อำเภอ และอำเภอละ 1-3 ตำบล ซึ่งจะขยายครอบคลุมทุกจังหวัดภายใน เม.ย. 2558 โดยจำนวนของ Care Manager และ Care Give ในแต่ละพื้นที่นั้นขึ้นอยู่กับจำนวนผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงในพื้นที่นั้น คือ Care Giver 1 คน จะดูแลผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง 5 - 7 คน และ Care Manager 1 คน จะดูแลอบรมให้ Care Giver จำนวน 5 - 7 คน ซึ่งขณะนี้พื้นที่นำร่องแต่ละแห่งนั้นสามารถประมาณการณ์ได้แล้วว่ามีผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงกี่คน ต้องใช้ Care Manager และ Care Giver จำนวนเท่าไร จากนั้นจึงเริ่มทำการอบรม Care Manager ก่อนเพื่อให้เป็นผู้ดำเนินการอบรมให้แก่ Care Giver ในพื้นที่ของตนอีกถอดหนึ่ง

ทั้ง Care Manager และ Care Giver มีการกำหนดคุณสมบัติต่างๆ ไว้ โดยเฉพาะต้องมีประสบการณ์ในการดูแลผู้สูงอายุ โดยการอบรมจะใช้งบประมาณในส่วนของงบส่งเสริมป้องกันโรคในกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งขณะนี้มีการกระจายงบประมาณไตรมาสแรกของงบประมาณปี 2558 ลงไปในพื้นที่แล้ว แม้ขณะนี้แนวทางการบริหารจัดการงบในไตรมาสต่อๆ ไปยังไม่แน่ชัด แต่เชื่อว่าไม่ส่งผลกระทบต่อการอบรม Care Manager และ Care Giver ในแต่ละเขตสุขภาพแต่อย่างใด สามารถทำตามนโยบายได้ตามกำหนด” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

นพ.ณัฐพร กล่าวว่า การดำเนินงานดังกล่าวจะช่วยให้ผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงเข้าถึงบริการสุขภาพมากขึ้น และช่วยป้องกันค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาผู้สูงอายุไม่ให้บานปลายแบบประเทศญี่ปุ่น ซึ่งขณะนี้ญี่ปุ่นก็เริ่มกลับมาใช้แนวคิดการดูแลผู้สูงอายุในพื้นที่เช่นกัน สำหรับการจ้างงาน Care Manager และ Care Giver นั้น โดยปกติโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลจะเป็นผู้จ้าง โดยอาจจ้างเป้นลูกจ้างชั่วคราวรายวัน อย่างไรก็ตาม หากพื้นที่ตำบลหรือเทศบาลใดที่ให้ความสำคัญกับการดูแลผู้สูงอายุในพื้นที่ ก็มีความเป็นไปได้ที่จะจ้าง Care Manager และ Care Giver เอง โดยจ้างเป็นอัตราจ้างได้รับเงินขั้นพื้นฐานคือ 300 บาทต่อวัน

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่

Loading

เครื่อง oncothermia ความหวังใหม่รักษามะเร็งเต้านม-ตับระยะท้าย ใช้คลื่นวิทยุยิงเฉพาะจุดมะเร็งจนเกิดความร้อน เอื้อยาเคมีบำบัดเข้าถึงมะเร็งง่ายขึ้น ผลศึกษาก้แนมะเร็งเต้านมยุบทั้งหมด 22% ผู้ป่วยมะเร็งตับอายุยืนขึ้น

View on Instagram




กำลังโหลดความคิดเห็น