กลุ่มคนรักหลักประกัน - เครือข่ายผู้ป่วย พบ “หมอรัชตะ” ช่วยยุติความขัดแย้ง สธ.- สปสช. ไม่ลงรอยจัดสรรงบบัตรทอง ชี้ข้อเสนอ สธ. ยุบกองทุนโรคค่าใช้จ่ายสูงเข้างบเหมาจ่ายรายหัว ส่งผลการเข้าถึงบริการ วอนขอคงไว้ที่ 9 หมวด บี้ปลัด สธ. ยุติการออกคำสั่งให้เกิดความขัดแย้ง ด้าน รมว.สธ. ชี้ปรับกลไกการเงินต้องพิจารณาจากหลักฐานเชิงประจักษ์
วันนี้ (30 ต.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น. กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพและเครือข่ายผู้ป่วย อาทิ เครือข่ายผู้ป่วยมะเร็ง เครือข่ายผู้ป่วยหัวใจ เครือข่ายผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง เครือข่ายผู้ป่วยฮีโมฟีเลีย เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ ประมาณ 50 คน นำโดย น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ น.ส.สุภัทรา นาคะผิว สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้เดินทางมายังอาคารสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเข้าพบ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้แก้ปัญหาความขัดแย้งเรื่องการจัดสรรงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปี 2558 ระหว่าง สธ. และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
โดยเมื่อเวลา 11.30 น. กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพและเครือข่ายผู้ป่วย ได้เข้าพบ ศ.นพ.รัชตะ โดย น.ส.สุรีรัตน์ กล่าวว่า สธ. มีข้อเสนอให้ปรับงบเหมาจ่ายรายหัวในงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจาก 9 หมวดเหลือเพียง 4 หมวด ซึ่งบอร์ด สปสช. ก็มีมติให้ไปหารือถึงทางออกที่เหมาะสมในการจัดสรรงบประมาณ แต่ตลอด 3 เดือนที่ผ่านมาไม่มีความคืบหน้า แต่กลับมีการรวมตัวกันของบุคลากร สธ. มาประท้วง สปสช. ทางกลุ่มฯเห็นว่า รมว.สาธารณสุข ซึ่งทำหน้าที่ผู้บริหาร สธ. และเป็นประธานบอร์ด สปสช. ด้วยนั้น จะต้องเร่งดำเนินการลดความขัดแย้งระหว่างการบริหารระบบกับการบริการในระบบ โดยคำนึงถึงประชาชนเป็นหลัก ซึ่งทางกลุ่มเสนอให้คงงบเหมาจ่ายรายหัวซึ่งแบ่งเป็น 9 หมวดไว้ตามเดิม จนกว่าจะมีการทำข้อมูลยืนยันชัดเจนว่าสามารถปรับลดลงได้ เช่น กองทุนแพทย์แผนไทย เมื่อพบว่าโรงพยาบาลต่างๆ มีการดำเนินการให้บริการนี้ชัดเจน กองทุนช่วยเหลือเยียวยาผู้รับบริการ ผู้ให้บริการ หากพบว่ามีการออก พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข
นายนิมิตร์ กล่าวว่า การออกมาให้ข่าวของ สธ. ทำให้ประชาชนคนไข้ใจหาย เช่น กรณียุบหมวดกองทุนฉุกเฉิน กองทุนโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง รวมอยู่ในงบเหมาจ่ายรายหัวทำให้คนไข้ที่รักษาโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงกังวลใจ เพราะที่ผ่านมามีบทเรียนแล้วว่างบเหล่านี้ช่วยให้ผู้ป่วยโรคค่าใช้จ่ายสูงเข้าถึงบริการ แต่ฝั่ง สธ. มักออกมาส่งเสียงว่าทำให้โรงพยาบาลขาดทุน ซึ่งไม่เป้นผลดีทั้งต่อผู้ให้บริการและคนไข้ จึงขอวอน รมว.สาธารณสุข ว่า หากข้อสรุปยังไม่ได้ข้อยุติ สธ. ไม่ควรออกมายืนยันว่าจะใช้รูปแบบนี้ในการจัดสรรงบประมาณ
นายสายชล ศรทัตต์ ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ป่วยมะเร็ง กล่าวว่า อยากให้ รมว.สาธารณสุข ออกคำสั่งกับปลัด สธ. ว่าควรยุติการออกคำสั่งให้ระดับเขตประชุมเรื่องงบประมาณ จนกว่าจะได้ข้อยุติการหารือการจัดสรรงบรูปแบบใหม่จะได้ข้อยุติ
ด้าน ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า การปรับเปลี่ยนกลไกทางการเงินของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เกิดจากการที่ผู้ให้บริการดำเนินการแล้วมองเห็นจุดที่ควรพัฒนาให้ดีขึ้น ให้ประชาชนได้รับบริการที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนกลไกจะต้องรับฟังทุกภาคส่วน เพราะเรื่องสุขภาพไม่ใช่เรื่องของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง การปรับเปลี่ยนจะต้องพิจารณาจากข้อมูลเชิงประจักษ์ ไม่ใช่ตามความรู้สึก โดยต้องพิจารณาว่าสิ่งที่เป็นอยู่มีปัญหาหรือไม่ หากปรับใหม่แล้วจะดีขึ้นอย่างไร ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่มีการฟันธงว่าจะปรับเปลี่ยนออกมาในรูปแบบใด
“ตามมติบอร์ด สปสช. ได้ให้ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนไปหารือภายใน 2 เดือน เพื่อให้ได้ความชัดเจนก่อนเข้าสู่การจัดสรรงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปี 2558 ในไตรมาสสอง ซึ่งทราบว่ามีการประชุมหารือกันมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผมก็ได้เร่งรัดไปแล้วให้เสร็จทันตามกำหนด แต่ขณะนี้เวลาผ่านไปยังไม่ถึง 1 เดือน อยู่ในช่วงพูดคุยหารือกันอยู่ ซึ่งความเห็นต่างของแต่ละกลุ่มแต่ละฝ่ายถือเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องยอมรับ แต่ทางออกคือจะต้องบริหารความเห็นต่าง โดยประมวลผลให้ได้ข้อสรุปที่ดีที่สุด คือพิจารณาจากหลักฐานเชิงประจักษ์“ รมว.สาธารณสุข กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า งบเหมาจ่ายรายหัวปัจจุบันมี 9 หมวด ได้แก่ 1. งบบริการผู้ป่วยนอก 2. งบบริการผู้ป่วยใน 3. งบบริการกรณีเฉพาะ 4. งบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค 5. งบบริการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ 6. งบบริการการแพทย์แผนไทย 7. งบค่าเสื่อม 8. เงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีผู้รับบริการในมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 และ 9. เงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีผู้ให้บริการ โดย สธ.เสนอให้เหลือเพียง 4 หมวด คือ การบริการผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน งบสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค และเงินช่วยเหลือผู้ให้บริการและรับบริการ ตามมาตรา 41 อย่างไรก็ตาม นพ.สุรพร ลอยหา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) อุบลราชธานี ในฐานะประธานชมรมนายแพทย์สาธารณสุข ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ข้อเสนอของ สธ. นอกจากเห็นควรให้มีการบริหารจัดการงบกองทุนเป็น 4 หมวดแล้ว ควรตั้งกองทุนโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงต่างหาก แยกเพียงกองทุนเดียวแล้วบริหารจัดการโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงทั้งหมด ไม่ใช่แยกเป็นกองทุนย่อยๆ รายโรค
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่