xs
xsm
sm
md
lg

เตือนปากเบี้ยว-แขนขาอ่อนแรง เสี่ยงหลอดเลือดสมอง เล็งปั้น รพ.สต.ฉีดยาสลายลิ่มเลือดสกัดตายพิการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คนไทยเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง 2 ล้านกว่าคน เตือนปากเบี้ยว แขนขาอ่อนแรง พูดไม่ชัด รีบพบแพทย์ด่วน ระบุรักษาช้าทุกนาทีมีเซลล์สมองตายถึง 2 ล้านเซลล์ สธ. เร่งขยายบริการช่องทางด่วนพิเศษสำหรับผู้ป่วยโรคนี้ทุกเขตสุขภาพ เล็งปั้น รพ.สต. ฉีดยาสลายลิ่มเลือด สกัดตายพิการ

วันนี้ (29 ต.ค.) นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า วันที่ 29 ต.ค. ของทุกปี เป็นวันอัมพาตโลก หรือวันโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งโรคนี้มีความสำคัญ เพราะหากเป็นแล้วถือว่าเป็นภาวะฉุกเฉินมีอันตรายถึงชีวิต หรือเกิดความพิการ เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต จากอาการหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองเกิดการแตก ตีบ หรือ ตัน ทำให้สมองขาดเลือดและเนื้อสมองตาย โดยองค์การอนามัยโลกรายงานทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตปีละ 6 ล้านคน เฉลี่ย 1 คนทุก 6 วินาที เป็นสาเหตุการตายอันดับ 2 ในผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป สำหรับประเทศไทย ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ร้อยละ 60 เป็นผู้สูงอายุแนวโน้มสูงขึ้น ปี 2556 พบป่วยกว่า 200,000 ราย เสียชีวิตกว่า 50,000 ราย เฉลี่ยชั่วโมงละ 6 ราย โรคนี้มักเกิดมากในผู้ป่วย 4 โรค ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และโรคหัวใจ ซึ่งมีผู้ป่วยรวม 2 ล้านกว่าคนที่มีโอกาสเสี่ยงต่อเกิดโรคหลอดเลือดสมอง

สมองเป็นศูนย์รวมใหญ่ของระบบประสาทควบคุมการทำงานอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย หากเกิดเส้นเลือดในสมองแตก ตีบ หรือ ตัน จะทำให้เสียชีวิต หรือหากรอดชีวิตก็อาจเกิดความพิการเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตตลอดชีวิต พบได้ร้อยละ 60 ของผู้ป่วย เป็นภาระของครอบครัวในระยะยาว จึงต้องเร่งป้องกันปัญหาเพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งจะมีผู้ป่วยโรคนี้เพิ่มขึ้นไปด้วย ในการแก้ปัญหา สธ. ได้ให้ทุกเขตสุขภาพจัดระบบบริการโรคหลอดเลือดสมอง โดยมีช่องทางด่วนพิเศษ ให้การรักษาภายใน 4 ชั่วโมงครึ่ง เพื่อลดความพิการและการเสียชีวิต ขณะนี้ขยายบริการไปถึงโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่งแล้ว” ปลัด สธ. กล่าวและว่า นอกจากนี้ ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศ รณรงค์ให้ประชาชนตรวจสุขภาพประจำปี ตรวจคัดกรองโรคความดันโลหิตสูงและเบาหวานในกลุ่มประชาชนวัยแรงงานอายุ 35 ปีขึ้นไปให้ได้ร้อยละ 90 และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในระดับชุมชนหมู่บ้านทุกแห่ง เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยให้ได้มากที่สุด

ด้าน นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองร้อยละ 70 เกิดจากหลอดเลือดสมองตีบ หรือ ตัน ผู้ป่วยจะมีอาการชา แขนขาอ่อนแรงซีกใดซีกหนึ่ง ปากเบี้ยวพูดไม่ชัด อาจมีอาการมาก่อนแล้วดีขึ้นเอง บางรายอาจมีอาการรุนแรงเนื่องจากสมองบวม อีกร้อยละ 30 เกิดจากหลอดเลือดสมองแตกมีความรุนแรงมากทำให้เลือดออกในสมองและเยื่อหุ้มสมอง มักจะมีอาการปวดศีรษะทันที อาเจียน แขนขาอ่อนแรง หรือ ชาครึ่งซีก พูดไม่ชัด ปากเบี้ยว ชัก หมดสติ ขณะนี้กรมฯได้พัฒนาระบบการดูแลรักษา โดยตั้งหออภิบาลโรคหลอดเลือดสมองในทุกเขตสุขภาพแล้ว 57 แห่ง และพัฒนาให้โรงพยาบาลในต่างจังหวัดมีศักยภาพฉีดยาละลายลิ่มเลือดได้ 122 แห่ง โดยในปี 2558 จะขยายเครือข่ายให้ครอบคลุมโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่ง

ที่สำคัญคือต้องเร่งรณรงค์ให้กลุ่มเสี่ยงและญาติมีความรู้ความเข้าใจโรคนี้ โดยเฉพาะสัญญาณเตือน ได้แก่ 1. เวลายิ้มพบว่ามุมปากข้างหนึ่งตก 2. ยกแขนไม่ขึ้น 1 ข้าง 3. มีปัญหาด้านการพูด แม้ประโยคง่ายๆ พูดแล้วคนฟังไม่รู้เรื่อง หากพบมีอาการข้อหนึ่งข้อใดต้องรีบพาไปพบแพทย์ หรือโทรขอความช่วยเหลือหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน หมายเลข 1669 ทันที เพื่อรับการรักษาได้อย่างรวดเร็ว โอกาสที่จะหายเป็นปกติก็จะมีสูงขึ้น กรมจึงได้เปิดตัวคำขวัญ ทุกนาทีคือชีวิต เร็วก็รอด ปลอดอัมพาต พร้อมทั้งเปิดตัว Mr.Fast Man ซึ่งเป็นตัวแทนของรถพยาบาล 1669 มีหน้าที่บริการรับ - ส่งต่อ ผู้ป่วยที่มีอาการของโรคหลอดเลือดสมอง ให้ถึงโรงพยาบาลและเข้ารับการรักษาจากแพทย์ได้ทันท่วงที เพื่อลดอัตราการตาย ความพิการ ภาวะแทรกซ้อนและค่าใช้จ่ายในการรักษาได้ โดยผู้ป่วยและญาติ สามารถติดต่อเพื่อรับบริการรถพยาบาล หรือ Mr.Fast Man ผ่านทางสายด่วน 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง” อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว

นพ.สุพรรณ กล่าวว่า ส่วนการป้องกันขอให้ลดการกินหวาน มัน เค็ม เพิ่มกินผักผลไม้ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และเลิกสูบบุหรี่ดื่มสุรา ซึ่งหากประชาชนรู้จักวิธีดูแลตนเองและหมั่นสำรวจความผิดปกติของร่างกายอยู่เสมอ จะสามารถป้องกันและลดความรุนแรงของโรคดังกล่าวได้

ด้าน นพ.บุญชัย พิพัฒน์วนิชกุล ผอ.สถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า แม้โรคหลอดเลือดสมองส่วนใหญ่จะพบในกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบันสามารถพบได้ในทุกช่วงวัยหากไม่รู้จักป้องกัน อย่างไรก็ตาม สาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเสียชีวิตและเป็นอัมพฤกษ์อัมพาต คือการมาพบแพทย์ช้า ซึ่งทุกนาทีที่ผู้ป่วยได้รับการรักษาล่าช้า จะมีผลให้เซลล์สมองตายถึง 2 ล้านเซลล์ และมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต จากการเก็บสถิติพบว่าหากผู้ป่วยมาพบแพทย์เร็ว ร้อยละ 60 จะช่วยลดอัตราการพิการ ร้อยละ 25 จะทำผู้ป่วยดำเนินชีวิตได้ตามปกติ และร้อยละ 15 ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตลง สิ่งที่สำคัญคือต้องเร่งส่งเสริมให้โรงพยาบาลส่งเสริมตำบลทุกแห่งสามารถให้ยาสลายลิ่มเลือดได้

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่

Loading

เครื่อง oncothermia ความหวังใหม่รักษามะเร็งเต้านม-ตับระยะท้าย ใช้คลื่นวิทยุยิงเฉพาะจุดมะเร็งจนเกิดความร้อน เอื้อยาเคมีบำบัดเข้าถึงมะเร็งง่ายขึ้น ผลศึกษาก้แนมะเร็งเต้านมยุบทั้งหมด 22% ผู้ป่วยมะเร็งตับอายุยืนขึ้น

View on Instagram




กำลังโหลดความคิดเห็น