xs
xsm
sm
md
lg

ชั่วโมงละ 6 ศพ ภัยเงียบ“โรคหลอดเลือดสมอง”ดับชีวิตคนไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนให้ระวังโรคหลอดเลือดสมองแตก ตีบ ตัน เป็นเพชฌฆาตเงียบของผู้ป่วยความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ ทำให้เสียชีวิตหรือเป็นอัมพาต ในไทยแนวโน้มสูงขึ้น ปี 2556 พบป่วยกว่า 200,000 ราย เสียชีวิตกว่า 50,000 ราย เฉลี่ยชั่วโมงละ 6 ราย เร่งพัฒนาระบบดูแลรักษาให้ทุกเขตสุขภาพเปิดทางด่วนรักษาผู้ป่วยโรคนี้ภายใน 4 ชั่วโมงครึ่ง ย้ำสัญญาณเตือน “ปากเบี้ยว แขนขาอ่อนแรง พูดไม่ออก พูดไม่ชัดทันที” ต้องรีบพบแพทย์ด่วนหรือโทรแจ้ง 1669

นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า วันที่ 29 ตุลาคมทุกปี องค์การอัมพาตโลก (World Stroke Organization) กำหนดให้เป็นวันอัมพาตโลกหรือวันโรคหลอดเลือดสมอง เพื่อให้ทุกประเทศทั่วโลกรณรงค์ให้ความรู้ประชาชนในการป้องกันการป่วยและลดการเสียชีวิต ซึ่งโรคนี้ ถือเป็นภาวะฉุกเฉินมีอันตรายถึงชีวิต หรือเกิดความพิการเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต เนื่องจากหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองเกิดการแตก ตีบ หรือตัน ทำให้สมองขาดเลือดและเนื้อสมองตาย จะต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างเร่งด่วน โดยองค์การอนามัยโลกรายงานทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตปีละ 6 ล้านคน เฉลี่ย 1 คนทุก 6 วินาที เป็นสาเหตุการตายอันดับ 2 ในผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป

สำหรับประเทศไทย ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ร้อยละ 60 เป็นผู้สูงอายุแนวโน้มสูงขึ้น ปี 2556 พบป่วยกว่า 200,000 ราย เสียชีวิตกว่า 50,000 ราย เฉลี่ยชั่วโมงละ 6 รายโรคนี้มักเกิดมากในผู้ป่วย 4 โรค ได้แก่ เบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และโรคหัวใจ ขณะนี้ทั่วประเทศมีผู้ป่วยทั้งในต่างจังหวัดและกทม. รวม 2 ล้านกว่าคน ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองสูงกว่าคนทั่วไป เนื่องจากโรคเหล่านี้จะมีความผิดปกติของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ทำให้หลอดเลือดแตก ตีบ หรือตัน หากเกิดกับหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง ซึ่งเป็นศูนย์รวมใหญ่ของระบบประสาทควบคุมการทำงานอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย จะทำให้เสียชีวิต หรือหากรอดชีวิตก็อาจเกิดความพิการเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตตลอดชีวิต พบได้ร้อยละ 60 ของผู้ป่วย เป็นภาระของครอบครัวในระยะยาว จึงต้องเร่งป้องกันปัญหาเพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งจะมีผู้ป่วยโรคนี้เพิ่มขึ้นไปด้วย

นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้เขตสุขภาพทุกเขตจัดระบบบริการโรคหลอดเลือดสมอง มีช่องทางด่วนพิเศษ ให้การรักษาภายในไม่เกิน 4 ชั่วโมงครึ่ง เพื่อลดความพิการและการเสียชีวิตของผู้ป่วย โดยขณะนี้ ได้ขยายบริการไปถึงโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่งให้เป็นเครือข่ายดูแลในระยะฉุกเฉิน ให้ผู้ป่วยปลอดภัยก่อนนำส่งโรงพยาบาลใหญ่ ขณะเดียวกัน ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ รณรงค์ให้ประชาชนตรวจสุขภาพประจำปี ตรวจคัดกรองโรคความดันโลหิตสูงและเบาหวานในกลุ่มประชาชนวัยแรงงานอายุ 35 ปีขึ้นไปให้ได้ร้อยละ 90 และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในระดับชุมชนหมู่บ้านทุกแห่ง เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยให้ได้มากที่สุด

ด้านนายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองร้อยละ 70 เกิดจากหลอดเลือดสมองตีบหรือตัน จากหลอดเลือดตีบหรือมีลิ่มเลือดอุดตัน ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการชา แขนขาอ่อนแรงซีกใดซีกหนึ่ง ปากเบี้ยวพูดไม่ชัด อาจมีอาการมาก่อนแล้วดีขึ้นเอง บางรายอาจมีอาการรุนแรงเนื่องจากสมองบวม อีกร้อยละ 30 เกิดจากหลอดเลือดสมองแตกมีความรุนแรงมากทำให้เลือดออกในสมองและเยื่อหุ้มสมอง มักจะมีอาการปวดศีรษะทันที อาเจียน แขนขาอ่อนแรง หรือชาครึ่งซีก พูดไม่ชัด ปากเบี้ยว ชัก หมดสติ

นายแพทย์สุพรรณกล่าวต่อว่า ขณะนี้ กรมการแพทย์ได้พัฒนาระบบการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองให้ทัดเทียมนานาชาติ โดยในปีนี้ได้ตั้งหออภิบาลโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke Unit) ในทุกเขตสุขภาพซึ่งมี 13 เขตรวมกทม. ดำเนินการแล้ว 57 แห่ง เป็นโรงพยาบาลศูนย์ 20 แห่ง โรงพยาบาลทั่วไป 10 แห่ง โรงพยาบาลชุมชน 3 แห่ง และกทม. 24 แห่ง และได้พัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลในต่างจังหวัดให้สามารถฉีดยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำเพื่อรักษาผู้ป่วยโรคนี้ 122 แห่ง เป็นโรงพยาบาลศูนย์ 32 แห่ง โรงพยาบาลทั่วไป 38 แห่ง และโรงพยาบาลชุมชน 14 แห่ง และกทม. 38 แห่ง ให้ผลดีมาก ในปี 2558 จะขยายเครือข่ายให้ครอบคลุมโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่ง ประชาชนได้รับบริการใกล้บ้านและรวดเร็วขึ้น

ประการสำคัญที่สุดคือต้องเร่งรณรงค์ให้กลุ่มเสี่ยงและญาติมีความรู้ความเข้าใจโรคนี้ โดยเฉพาะสัญญาณเตือน ได้แก่ 1.เวลายิ้มพบว่ามุมปากข้างหนึ่งตก 2.ยกแขนไม่ขึ้น 1 ข้าง 3.มีปัญหาด้านการพูด แม้ประโยคง่ายๆ พูดแล้วคนฟังไม่รู้เรื่อง หากพบมีอาการข้อหนึ่งข้อใดต้องรีบพาไปพบแพทย์ หรือโทรขอความช่วยเหลือหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน หมายเลข 1669 ทันที เพื่อรับการรักษาได้อย่างรวดเร็ว โอกาสที่จะหายเป็นปกติก็จะมีสูงขึ้น

ในการป้องกันโรคนี้ ขอให้ลดการรับประทานอาหารเค็ม หวาน มัน เพิ่มการรับประทานผักผลไม้ให้ได้วันละครึ่งกิโลกรัม ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน ครั้งละไม่ต่ำกว่า 30 นาที ซึ่งจะช่วยผ่อนคลายความเครียดได้ด้วย และเลิกสูบบุหรี่ดื่มสุรา ส่วนผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงคือผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ นอกจากจะปฏิบัติตามคำแนะนำที่กล่าวมา ขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ กินยาให้ครบตามที่แพทย์สั่ง และพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น