xs
xsm
sm
md
lg

แนะปรับข้าวไทยเป็นสายพันธุ์น้่ำตาลต่ำ ช่วยคุมน้ำหนัก สกัด “อ้วน-เบาหวาน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิชาการแนะปรับปรุงสายพันธุ์ข้าวไทยให้มีน้ำตาลต่ำ ช่วยคุมน้ำหนักตัว สกัดโรคอ้วน ป้องกันเกิดโรคเบาหวาน แต่ห่วงใช้เวลาศึกษาวิจัยนาน เร่งศึกษาคุณสมบัติพันธุ์ข้าวพื้นเมืองไทย เผย “ข้าวเหลือง” แดนอีสานมีโฟเลตสูง ป้องกันปากแหว่งเพดานโหว่ - อัลไซเมอร์ “ข้าวเจ้าลอย” ฟอสฟอรัสต่ำเหมาะกับผู้ป่วยไต “ข้าวกล่ำ” ชะลอผิวเหี่ยวย่น อ้อนนายกฯ หนุนงบวิจัย

วันนี้ (7 ต.ค.) นางรัชนี คงคาฉุยฉาย อาจารย์สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในการเสวนาเรื่อง “ข้าวกับการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค” ในการประชุมวิชาการโภชนาการแห่งชาติ ครั้งที่ 8 “โภชนาการเพื่อการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค” ระหว่างวันที่ 6-8 ต.ค. 2557 ว่า ปัจจุบันคนทั่วโลกป่วยโรคเบาหวานมากขึ้น เป็นผลมาจากโรคอ้วน ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ที่น่าห่วงคือเมื่อป่วยโรคเบาหวานแล้วยังก่อให้เกิดโรคอื่นๆ ตามมา เช่น หัวใจ ตับ และไต เนื่องจากต้องกินยาที่มีประสิทธิภาพรุนแรงเยอะ ทำให้ตับและไตทำงานหนัก สุดท้ายก็มักเสียชีวิตด้วยโรคตับและไต ส่วนตัวมองว่าการกินอาหารในชีวิตประจำวันให้เป็นยาเป็นวิธีหนึ่งในการป้องกันได้

นางรัชนี กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยที่บริโภคข้าวเป็นหลัก จึงต้องการให้มีการปรับปรุงสายพันธุ์ข้าวให้มีดัชนีน้ำตาลต่ำ เพื่อช่วยควบคุมน้ำหนักตัว เหมาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ทั้งนี้ จากการศึกษาคุณสมบัติข้าวสายพันธุ์พื้นเมืองของไทย เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา พบว่า ข้าวเหลือง ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ปลูกภาคอีสานมีปริมาณโฟเลต ซึ่งช่วยป้องกันโรคปากแหว่งเพดานโหว่ และป้องกันภาวะสมองเสื่อม หรืออัลไซเมอร์ในผู้สูงอายุได้จำนวนสูงถึง 100 ไมโครกรัม ต่อ 100 กรัม ขณะที่คนปกติต้องการโฟเลตวันละ 400 ไมโครกรัม แต่ปัญหาคือข้าวสายพันธุ์นี้ค่อนข้างแข็งจึงต้องมีการศึกษาและพัฒนาให้ข้าวอ่อนนุ่มมากขึ้น ส่วนข้าวเจ้าลอย หรือข้าวหนีน้ำมีปริมาณโฟเลตและฟอสฟอรัสต่ำเหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคไต ซึ่งเป็นที่ต้องการของกลุ่มแพทย์ แต่ปริมาณข้าวมีไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ระหว่างการของบประมาณเพื่อศึกษา

“นอกจากนี้ ยังพบว่าข้าวกล่ำ มีสารแอนโทไซยานินสูง ซึ่งช่วยเรื่องผิวพรรณ ชะลอการเหี่ยวย่น ที่น่าสนใจคือมีความคล้ายคลึงกับข้าวดำของจีนที่สกัดเอาสารสำคัญไปให้หนูทดลองกินอย่างสม่ำเสมอ แล้วเอาดวงตาหนูไปจ่อกับรังสีอัลตราไวโอเลต เพื่อเร่งให้เกิดต้อกระจบ โดยพบว่าหนูที่ได้รับสารสกัดจากข้าวดำมีดวงตาเป็นปกติ แต่หนูที่ไม่ได้รับสารพบว่าเรตินาถูกทำลายลง ขณะนี้ เรากำลังค้นหาพันธุ์ข้าวที่มีในประเทศไทยเพื่อศึกษาคุณสมบัติ คุณค่าทางโภชนาการ และความจำเพาะต่อโรคบางโรคว่ามีหรือไม่อย่างไร เพราะถ้าหวังให้มีการปรับปรุงสายพันธุ์จะใช้เวลานาน ซึ่งหากพบแล้วจะเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหาร สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และเกษตรกรก็จะไม่ละทิ้งที่ดินของตัวเอง” นางรัชนี กล่าว

นางรัชนี กล่าวว่า สำหรับนโยบายข้าวของรัฐบาลใหม่ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ตนเห็นด้วยเรื่องการปรับปรุงสายพันธุ์ข้าวไทย แต่ถ้าจะปรับปรุงพันธุ์ข้าวแล้วขอให้ช่วยสนับสนุนเงินทุนวิจัยในการดูคุณค่าทางด้านโภชนาการของข้าวพันธุ์พื้นเมืองด้วย เพราะจะเป็นตัวช่วยให้เกษตรกรกินดีอยู่ดี และหากสามารถค้นหาข้าวสายพันธุ์ที่มีลักษณะเด่นเฉพาะโรคได้ผลจะออกมาเอง ราคาเชิงพานิชย์จะออกมาเอง ข้าวคือหนึ่งในยาอายุวัฒนะต่อให้ราคา 150 บาทก็มีคนซื้อ เช่น ข้าวไรซ์เบอรี ซึ่งขณะนี้ราคาสูงมาก นี่เป็นงานวิจัยที่นักวิชาการทำออกมาให้กับเกษตรดีกว่าการจัดโซนนิ่ง หรือจัดโซนนิ่งได้ แต่ก็ต้องดูสายพันธุ์และคุณค่าเป็นหลักด้วย

ด้านนายอภิชาติ วรรณจิต อาจารย์ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ได้ทำการศึกษาปรับปรุงพันธุ์ข้าวไทยให้มีมีดัชนีน้ำตาลหลายสายพันธุ์ ซึ่งขณะนี้ได้ออกมา 5 หมายเลขที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำกว่าข้าวสายพันธุ์เดิมถึง 2 เท่า แต่ยังต้องศึกษาวิจัยเพิ่มเติมถึงความเหมาะสมกับพื้นที่ และความต้องการของเกษตรกรต่อไป
 
 

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่

กำลังโหลด

รุ่นพี่เทคโนฯสวนนันขอขมาอธิการบดี กรณีหยดน้ำตาเทียนใส่รุ่นน้อง ขณะที่ผลสอบวินัยสั่งลงโทษไม่ร้ายแรง ตักเตือน 23 คน ภาคทัณฑ์ 10 คน ตัดคะแนนความประพฤติอีก 10 คน

ดูบน Instagram






กำลังโหลดความคิดเห็น