xs
xsm
sm
md
lg

ระหว่าง “ความจริง” กับ “ความรู้สึก”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นิมิตร์ เทียนอุดม

ระยะสองสามเดือนมานี้ ข่าวคราวการละเมิดผู้ติดเชื้อเอชไอวีมีมากเหลือเกินครับ ไล่เลียงตั้งแต่กรณีโรงแรมทาวนอินทาวน์ที่ปฏิเสธไม่ให้บริการหน่วยงาน/องค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ โดยอ้างว่าแขกผู้รับบริการอื่นๆ ไม่สะดวกใจที่จะร่วมใช้บริการต่างๆ ของโรงแรมร่วมกับผู้ติดเชื้อ กรณีการแอบตรวจเลือดพนักงานของบริษัทแห่งหนึ่งและเมื่อพบว่าผลเลือดเป็นบวก (ติดเชื้อเอชไอวี) ก็ปฏิเสธไม่รับเข้าทำงาน นี่ยังไม่รวมถึงผู้ที่เข้ามาขอรับคำปรึกษาทาง facebook fan page 1663 สายด่วนปรึกษาเอดส์ ถึงความกังวลว่าจะถูกขอดูผลเลือดเอชไอวีก่อนรับเข้าทำงาน

ก่อนหน้านี้ก็มีกรณี น้องๆ ที่ติดเชื้อเอชไอวีตั้งแต่แรกเกิด เมื่อเติบโตขึ้นจนถึงวัยที่ต้องเข้าเรียนก็ถูกปฏิเสธจากโรงเรียน เมื่อถึงวัยที่ต้องเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัย แม้ว่าจะสอบเข้าเรียนได้ก็ยังไม่รู้อนาคตว่าจะผ่านการสอบสัมภาษณ์หรือไม่เพราะสถานศึกษาบางแห่งก็ขอดูผลเลือดเอชไอวีก่อน บางมหาวิทยาลัย “เรียนไป ตรวจเลือดไป” บางครั้งเรียนจนถึงปี 3 แล้วตรวจเลือดพบว่าติดเชื้อเอชไอวีก็ให้ย้ายคณะ ให้เปลี่ยนที่เรียน

ทั้งหมดที่หยิบยกมาเล่าให้ฟังเพียงเพื่อจะบอกคุณผู้อ่านครับว่า ทัศนคติต่อเอชไอวี/เอดส์ของสังคม (ไทย) เรายังไม่เปลี่ยนไป ยังคงมีการรังเกียจ กีดกัน และตีตราผู้ติดเชื้ออยู่ เช่น เชื่อว่าเอดส์ติดต่อกันง่าย เชื่อว่าเอดส์เป็นแล้วตาย เชื่อว่าเอดส์น่ากลัว ผู้ติดเชื้อมีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน และอีกหลายๆ ความเชื่อที่นำไปสู่การ “แบ่งแยก” การอยู่ร่วมกันระหว่างผู้ไม่ติดเชื้อเอชไอวีกับผู้ติดเชื้อเป็นเรื่องยากลำบาก

ข้อเท็จจริงเรื่องเอชไอวี/เอดส์ ที่เรารู้ๆ กันอยู่ไม่ว่าจะเป็น

1.การอยู่ร่วมกันในสถานที่ทำงาน ที่เรียน ใช้ของใช้ร่วมกัน กินข้าวด้วยกัน ไม่เคยทำให้ใครติดเชื้อเอชไอวี

2.ร้อยละ 90 ของผู้ติดเชื้อเอชไอวีติดเชื้อจากเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย

3.เราไม่สามารถดูจากรูปร่าง บุคลิก ลักษณะภายนอกของได้ว่าติดเชื้อเอชไอวีหรือไม่ เพราะเอดส์รักษาได้และผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่เข้าถึงการรักษาจะมีสุขภาพที่แข็งแรงและใช้ชีวิตได้ตามปกติ

อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงข้างต้น เป็นเพียง “ความรู้” ที่ดูเหมือนว่าทุกคนจะ ท่องจำได้ แต่ ยากเหลือเกิน ในทางปฏิบัติ เราจึงเห็นกรณีผู้ติดเชื้อเอชไอวีถูกละเมิดอยู่เรื่อยๆ

เครือข่ายคนทำงานเอดส์ทั้งภาครัฐและเอกชนพยายามอย่างยิ่งที่จะลดปัญหาการรังเกียจกีดกันผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ให้ได้เพราะปัญหาดังกล่าวเป็นต้นตอของปัญหาอื่นๆ เช่น ปัญหาการเข้าไม่ถึงการรักษาของผู้ติดเชื้อเอชไอวี รวมถึงปัญหาการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่

ดูเหมือนไม่เกี่ยวกัน แต่ทุกอย่างโยงถึงกันหมด เพราะเมื่อยังมีการรังเกียจผู้ติดเชื้อ ก็คงยากที่จะมีผู้ติดเชื้อสักคนเดินเข้าไปรักษาเพราะเกรงว่าจะมีคนรู้และถูกรังเกียจ เมื่อยังเข้าใจและเชื่อว่า อยู่ร่วมบ้าน ร่วมที่ทำงาน ร่วมที่เรียนเดียวกันแล้วจะทำให้ติดเชื้อ ทำให้คนไม่เคยนึกถึงคู่รักของตัวเองว่าอาจมีเชื้อเอชไอวี เมื่อมีเพศสัมพันธ์กันจึงไม่ใช้ถุงยางและนำมาซึ่งโอกาสเสี่ยงที่จะติดเชื้อเอชไอวีได้ในที่สุด

ทุกอย่างเกี่ยวโยงถึงกันหมดครับ เพียงแต่เราจะมองเห็นและพยายามช่วยกันจัดการปัญหาหรือเปล่า?? ไม่ต้องบอกใคร...ไม่ต้องรอให้ใครทำ เริ่มที่เราครับ เราทำได้

แถมท้าย....วันที่ 1 ตุลาคมนี้ เครือข่ายคนทำงานเอดส์จะร่วมกันทำกิจกรรมรณรงค์เรื่องใน “วันเข้าถึงการรักษา” ที่วิคตอรี พอยท์ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งถือกันว่า 1 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันที่ประเทศไทยเริ่มใช้ระบบหลักประกันสุขภาพ ( 1 ตุลา 2545) และเป็นวันที่ยาต้านไวรัสเริ่มเข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพเช่นกัน (1 ตุลาคม 2548) ทำให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ เข้าถึงการรักษา ไม่ต้องล้มละลายจากค่ายา ค่าหมอ งานนี้เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ จัดกิจกรรมมากมายเพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องการรังเกียจ กีดกันผู้ติดเชื้อเอชไอวี มีเกมส์สนุกๆ และอาหารไว้บริการ สนใจไปร่วมกิจกรรมกันได้ตั้งแต่ 15.00 น.เป็นต้นไปครับ

มาช่วยกันบอกให้สังคมรู้ว่า “เราอยู่ด้วยกันได้”

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่

กำลังโหลด

รุ่นพี่เทคโนฯสวนนันขอขมาอธิการบดี กรณีหยดน้ำตาเทียนใส่รุ่นน้อง ขณะที่ผลสอบวินัยสั่งลงโทษไม่ร้ายแรง ตักเตือน 23 คน ภาคทัณฑ์ 10 คน ตัดคะแนนความประพฤติอีก 10 คน

ดูบน Instagram





กำลังโหลดความคิดเห็น