รศ. นพ. ปารยะ อาศนะเสน
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
ฟังดูอาจจะรู้สึกแปลกว่า การร้องเพลงหรือเล่นเครื่องดนตรีชนิดเป่า จะช่วยแก้ปัญหานอนกรนได้
จากการศึกษาของ Puhan และคณะ ในปี 2006 พบว่า การเล่นเครื่องดนตรีชนิดเป่าชื่อ Didgeridoo เป็นเวลา 4 เดือนต่อเนื่องกัน สัปดาห์ละ 6 วันๆ ละ 25 นาที มีผลให้อาการต่างๆ ลดลง เช่น ง่วงนอนเวลากลางวัน จำนวนครั้งของการหยุดหายใจ/ชั่วโมง เสียงกรนที่รบกวนคนข้างเคียง และยังช่วยให้คุณภาพในการนอนดีขึ้นด้วย จากการได้บริหารกล้ามเนื้อในช่องคอ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อมัดที่ทำหน้าที่ถ่างทางเดินหายใจให้กว้าง ทำให้สามารถป้องกันการยุบตัวหรือตีบแคบของทางเดินหายใจบริเวณช่องคอขณะหลับได้
อีกการศึกษาหนึ่ง คือ การร้องเพลงแบบ Hilton และคณะ ในปี 2013 โดยใช้โปรแกรมการฝึก “Singing for Snorers” ประเทศอังกฤษ เป็นเวลา 3 เดือน ทุกวันๆ ละ 20 นาที เป็นการฝึกให้กล้ามเนื้อในช่องคอหดตัว และคลายตัวซ้ำไปมาหลายรอบ ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณนั้นแข็งแรงขึ้น และ/หรือ เพิ่มความตึงตัว (tone) ของกล้ามเนื้อ
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการศึกษาว่า ถ้าเล่นเครื่องดนตรีชนิดเป่าประเภทอื่น หรือฝึกร้องเพลงธรรมดาๆ ที่ไม่ได้เข้าโปรแกรมการฝึก “Singing for Snorers” จะช่วยบรรเทาปัญหานอนกรน และ/หรือ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับหรือไม่ แต่อย่างน้อยการศึกษาทั้ง 2 กรณี แสดงให้เห็นว่า การทำให้กล้ามเนื้อช่องคอแข็งแรงขึ้น โดยเล่นเครื่องดนตรี หรือร้องเพลง อาจช่วยบรรเทาปัญหานอนกรน และ/หรือ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับลงได้บ้าง ไม่มากก็น้อย
ดังนั้นถ้าท่านใดอยากจะลองออกกำลังกล้ามเนื้อในช่องคอบ้าง ผมขอแนะนำ ให้เริ่มจาก เปิดเพลง แล้วร้องตามขณะอาบน้ำหรือขับรถ วันละหลายๆ ครั้ง แต่ถ้าไม่ชอบ อาจลองออกกำลังลิ้นด้วยท่าง่ายๆ
ท่าที่ 1 แลบลิ้นให้ยาวที่สุดเท่าที่ยาวได้ตรงๆ ค้างไว้ 5-10 วินาที แล้วหุบลิ้นเข้ามา
ท่าที่ 2 แลบลิ้นให้ยาวที่สุดเท่าที่จะยาวได้ แล้วม้วนลิ้นลงล่างราวกับว่าพยายามให้ปลายลิ้นแตะที่คาง แล้วค้างไว้สัก 5-10 วินาที แล้วหุบลิ้นเข้ามา
ท่าที่ 3 แลบลิ้นให้ยาวที่สุดเท่าที่จะยาวได้ แล้วม้วนลิ้นขึ้นบนราวกับว่าพยายามให้ปลายลิ้นแตะที่จมูก แล้วค้างไว้สัก 5-10 วินาที แล้วหุบลิ้นเข้ามา
พยายามออกกำลังลิ้นทั้ง 3 ท่า อย่างน้อย 10 ครั้ง ต่อช่วงเวลาที่มี ทำวันละ 2-3 ช่วงเวลา หรือบ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งการร้องเพลงและออกกำลังลิ้นดังกล่าว อาจทำให้กล้ามเนื้อในช่องปากและคอ โดยเฉพาะลิ้นได้ทำงานมากขึ้น แข็งแรง และมีความตึงตัวเพิ่มขึ้น โดยผลที่ได้อาจช่วยลดปัญหานอนกรนและ/หรือ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ลองทำดูครับ
-----------
พบกิจกรรมดีๆ ที่ศิริราช
•มหัศจรรย์ ยิ้มสู้มะเร็ง
สาขาวิชาโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ขอเชิญประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมให้ความรู้สู่ประชาชน เรื่อง “มหัศจรรย์ ยิ้มสู้มะเร็ง” ครั้งที่ 2 วันที่ 4 ตุลาคม 2557 เวลา 08.30 - 12.00 น. ณ ห้องตรีเพ็ชร์ อาคาร 100 ปี สมเด็จพระศรีนครินทร์ ชั้น 15 รพ.ศิริราช โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สำรองที่นั่งและสอบถาม โทร. 081 656 6080, 091 213 6138
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่