ศิริราชเผยภัยเงียบการนอน ทั้งนอนกรน ฝันร้าย จนกระทบการทำงาน เหตุร่างกายรับออกซิเจนน้อย เสี่ยงเกิดภาวะหยุดหายใจชั่วคราว คนไทยมีปัญหามากถึง 7 ต่อ 100 คน แนะสำรวจตัวเอง เพื่อรักษา ระบุการนอนที่ดี ควรนอนให้ได้วันละ 6-8 ชั่วโมง
วันนี้ (17 มี.ค.) ศ.นพ.นิพนธ์ พวงวรินทร์ ประธานศูนย์นิทรรักษ์ศิริราช รพ.ศิริราช กล่าว บรรยายสร้างความเข้าใจการนอนหลับให้กับผู้สุงอายุ ภายในงานกิจกรรมวันนอนหลับโลก “World Sleep Day” ซึ่งปีนี้มีคำขวัญรณรงค์คือ “หลับสบาย หายใจดี ชีวีมีสุข” โดยมี ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล เป็นประธานเปิดงาน ว่า ปัญหาการนอนหลับพบว่าทั่วโลก มีมากถึงร้อยละ 10-15 สำหรับประเทศไทย พบปัญหาป่วยจากการนอนถึง 7 ต่อ 100 คน โดยกลุ่มที่พบคือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีภาวะโรคอ้วน การนอนไม่พอ ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต ทั้งการทำงาน การใช้ชีวิตประจำวัน เกิดภาวะหลงลืม บางรายการนอนไม่พอ จากการฝันร้าย หรือมาจากการนอนกรน ที่มาจากภาวะทางเดินหายใจตีบ ร่างกายได้รับออกซิเจนน้อย มีคาร์บอนไดออกไซด์คั่งในร่างกาย ทำให้เกิดภาวะการหยุดหายใจชั่วคราว นับเป็นภัยเงียบ
“การรักษาต้องมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการ สำรวจการนอนของผู้ป่วย เพื่อวิเคราะห์ จึงเริ่มรักษา มีทั้งให้ยา และผ่าตัด ขยายทางเดินหายใจ สำหรับการนอนมีที่คุณภาพ ควรนอนให้ได้ยาวและสนิท 6-8 ชั่วโมง” ศ.นพ.นิพนธ์ กล่าว