xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อลูกน้อยนอนกรน : อันตรายที่ไม่ควรมองข้าม / คอลัมน์ Health Line สายตรงสุขภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พ่อแม่หลายคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะการนอนกรนไม่ได้เกิดกับลูกของเราเพียงคนเดียว แต่อย่างเพิ่งชะล่าใจ เพราะการนอนกรนในแบบที่เป็นอันตราย อาจจะใช่สิ่งที่ลูกน้อยของคุณกำลังเผชิญอยู่

พญ.อุมาพร พนมธรรม แพทย์โสต ศอ นาสิก สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) กล่าวถึงการนอนกรนในเด็ก ว่ามีสาเหตุหลักๆ มาจากการอุดกลั้นของทางเดินหายใจ ให้ลมหายใจเข้ายาก ร่างกายจึงพยายามที่จะสร้างแรงเยอะๆ เพื่อให้ลมเข้า ก็เลยเกิดเป็นเสียงผิดปกติ เรียกว่าการนอนกรน

สาเหตุการนอนกรนก็แบ่งได้จาก หนึ่ง สรีระใบหน้า คือมีโรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติของสรีระใบหน้าหรือเปล่า เช่น ความผิดปกติของพันธุกรรม หรือความผิดปกติของโครโมโซมแต่กำเนิด เช่น เด็กกลุ่มดาวน์ซินโดรม พวกนี้ใบหน้าจะผิดปกติ แล้วลิ้นก็ผิดระยะ ส่งผลให้ทางเข้าของลมหายใจมีน้อย อีกกลุ่มหนึ่งก็คือในกลุ่มที่กรามเล็ก หรือกรามหดเข้าไปข้างใน ทำให้ช่องทางเดินหายใจเล็กลง และสุดท้ายคือกลุ่มที่ต่อมท่อน้ำเหลืองรอบทางเดินหายใจมีขนาดใหญ่ เช่น กลุ่มที่ต่อมทอนซิลอะดีนอยด์โต รวมถึงโพรงจมูกอุดกลั้น เช่นในกลุ่มเด็กที่เป็นภูมิแพ้

พญ.อุมาพร บอกว่า ในกลุ่มอาการนอนกรน ก็จะมีการแบ่งเป็นการนอนกรนเฉยๆ หรือนอนกรนที่มีการอุดกลั้นทางเดินหายใจ ซึ่งถ้าเป็นการนอนกรนเฉยๆ ไม่ต้องรักษา เพราะว่ากลุ่มนี้จะไม่มีการทำให้สารเคมีในเลือดผิดปกติ แต่ถ้าเป็นการนอนกรนอีกแบบที่มีการอุดกลั้นทางเดินหายใจ อันนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องรักษา

แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าลูกของเรานอนกรนแบบไหน อันตรายหรือไม่อันตราย?

สังเกตด้วยการดูการหายใจ เช่น ลูกอ้าปากหายใจ เพราะจมูกหายใจเข้าไปไม่พอหรือเปล่า อันดับต่อมาคือหายใจแบบกระสับกระส่าย เหมือนนอนหลับไม่สนิท เหมือนกับว่าถ้าอากาศเข้าสู่ร่างกายน้อย ทำให้ออกซิเจนในเลือดลดลง คาร์บอนไดออกไซด์สูงขึ้น เลือดเป็นกรด ระบบสารเคมีในร่างกายผิดปกติ ร่างกายจะมีเซลล์ตอบรับว่าหายใจไม่พอเลยต้องกระตุ้นให้ตื่น ตื่นในขณะหลับก็ทำให้เด็กกระสับกระส่าย เหมือนหลับแต่ไม่ได้พักผ่อน

“อันดับต่อมา เหงื่อจะออกมาก หายใจในขณะหลับแล้วจะรู้สึกเหนื่อย บางครั้ง เด็กจะมีการปัสสาวะรดที่นอนเป็นประจำในช่วงกลางคืน และอันดับสุดท้ายที่สังเกตได้ง่ายเลยก็คือ หายใจเข้าแล้วหน้าอกยุบแต่ท้องป่องซึ่งถือว่าผิดปกติ เพราะปกติเวลาคนเราหายใจเข้าแล้วหน้าอกต้องขยายแต่ท้องยุบ ส่วนช่วงกลางวัน เด็กมักอ้าปากหายใจ เรียนหนังสือไม่รู้เรื่อง บางครั้งนั่งง่วงเหมือนไม่สดชื่น เด็กบางคนพฤติกรรมเปลี่ยน ก้าวร้าว รวมทั้งเด็กบางคนเหมือนเลี้ยงไม่โต เพราะหุ่นมักจะผอมๆ แล้วตอนเช้ามักจะปวดศีรษะ เหมือนไม่ได้หลับทั้งคืน ปวดศีรษะไปโรงเรียนไม่ไหว” พญ.อุมาพร กล่าว

การนอนกรนจึงไม่ใช่เรื่องเล็กๆ อย่างที่หลายคนคิด ดังนั้น หนทางที่ดีที่สุดเมื่อพบว่าลูกน้อยของเรามีการนอนกรน ควรได้รับการตรวจเช็กจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการรักษาอย่างถูกวิธีต่อไป

ขอบคุณข้อมูล : รายการ “Health Line สายตรงสุขภาพ” รายการที่สร้างภูมิคุ้มกันโรคภัยไข้เจ็บ ออกอากาศทุกวันอาทิตย์ เวลา 7.00-8.00 น.ทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี และสามารถรับชมย้อนหลังได้ที่ www.manager.co.th/vdo


กำลังโหลดความคิดเห็น