xs
xsm
sm
md
lg

ไขข้อข้องใจ! ตัดต่อมทอนซิลมีผลเสีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รศ. นพ. ปารยะ อาศนะเสน
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา

ว่ากันว่า เมื่อตัดต่อมทอนซิลทิ้งแล้ว ภูมิคุ้มกันจะต่ำลง

ไม่จริงครับ ข้อเท็จจริงคือ ต่อมทอนซิลนั้น เป็นต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ในช่องคอ มีหลายตำแหน่ง แต่ที่เห็นชัดที่สุดเวลาอ้าปาก คือ อยู่ด้านข้างของคอ ข้างลิ้นไก่ และโคนลิ้น ซึ่งต่อมทอนซิลมีส่วนที่สร้างภูมิคุ้มกันโรค เพื่อต่อต้านกับเชื้อโรคและสารแปลกปลอมต่างๆ ที่เข้าสู่ร่างกาย

ต่อมนี้มักจะมีขนาดโต เนื่องจากเซลล์ในต่อมถูกกระตุ้นให้เพิ่มจำนวน หรือมีการอักเสบเรื้อรัง ทำให้ผู้ป่วยมีไข้ เจ็บคอ กลืนลำบากเป็นๆ หายๆ รวมทั้งในผู้ที่เป็นโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้และไม่แพ้ โรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง หรือมีการอักเสบติดเชื้อของลำคอบ่อยๆ เหล่านี้ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยลดลงจนต้องผ่าตัดออก ซึ่งแพทย์จะผ่าตัดต่อเมื่อผู้ป่วยติดเชื้อเรื้อรัง หรือเป็นๆ หายๆ หรือมีการอุดกั้นทางเดิน หายใจส่วนบน ทำให้เกิดอาการนอนกรน และ/หรือมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ รวมถึงในรายที่สงสัยว่าเป็นมะเร็งของต่อมทอนซิล

การผ่าตัดต่อมทอนซิล จะผ่าตัดผ่านทางช่องปาก โดยแพทย์จะใส่เครื่องมือทางช่องปากเข้าไปที่ต่อมทอนซิล ผู้ป่วยจึงไม่มีบาดแผลใดๆ ถ้ามองจากภายนอก ซึ่งการผ่าตัดจะได้ผลดีเมื่อผู้ป่วยมีสุขภาพแข็งแรง ไม่เป็นหวัด หรือมีการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจเฉียบพลัน พักผ่อนอย่างเพียงพอ สำหรับผู้ที่รับประทานยาบางชนิด เช่น แอสไพริน หรือยาต้านการแข็งตัวของเลือด อาจต้องหยุดยาก่อน

ภายหลังการผ่าตัด แผลจะหายเป็นปกติประมาณ 2-4 สัปดาห์ การปฏิบัติตัว ควรนอนศีรษะสูง โดยใช้หมอนหนุน หรือนอนบนที่นอนที่สามารถปรับความเอียงได้ อมและประคบน้ำแข็งบ่อยๆ ในช่วงสัปดาห์แรก เพื่อลดอาการบวม รับประทานอาหารเหลว หรืออาหารอ่อนๆ เช่น โจ๊ก หรือข้าวต้ม หลีกเลี่ยงอาหารที่แข็ง ร้อน รสเผ็ด หรือจัดเกินไปอย่างน้อย 1 สัปดาห์ รวมทั้งหลีกเลี่ยงการขากเสมหะแรงๆ การล้วงคอ หรือแปรงฟันเข้าไปในช่องปากลึกเกินไป การออกแรงมาก การเล่นกีฬาที่หักโหม หรือยกของหนักหลังผ่าตัดภายใน 24-48 ชั่วโมงแรก เพราะอาจทำให้มีเลือดออกจากแผลในช่องปากได้ และกลั้วคอ ทำความสะอาดบ่อยๆ ด้วยการแปรงฟันทุกครั้งหลังรับประทานอาหาร

กล่าวโดยสรุป ต่อมทอนซิลที่โตขึ้นจากการอักเสบบ่อยๆ นั้น จะทำให้เนื้อเยื่อของต่อมซึ่งทำหน้าที่สร้างภูมิคุ้มกันถูกแทนที่ด้วยเนื้อเยื่อพังผืด ทำให้ต่อมทำหน้าที่ได้น้อยลงเรื่อยๆ อย่างไรก็ดี ร่างกายยังมีต่อมน้ำเหลืองอีกจำนวนมากในบริเวณศีรษะและคอ ที่ทำหน้าที่สร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรค ดังนั้นการตัดต่อมทอนซิลในผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้ จึงไม่ทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำแต่อย่างใด

///////

พบกิจกรรมดีๆ ที่ศิริราช ฟรี

นพ.สมปรารถน์ หมั่นจิต แพทย์ดีเด่นในชนบท ประจำปี 2555 แสดงปาฐกถาอุดม โปษะกฤษณะ ในหัวข้อ “ระบบสุขภาพอำเภอ โซ่ข้อกลางสาธารณสุขไทย” ในวันพุธที่ 26 มิ.ย.นี้ เวลา 13.00-15.00 น.ณ ห้องราชปนัดดาสิรินธร อาคารศรีสวรินทิรา ชั้น 1 รพ.ศิริราช

ขอเชิญผู้สนใจร่วมกิจกรรม ภายใต้แนวคิด “60+ ยังแจ๋ว” ในงานประชุมวิชาการ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล วันนี้จนถึงวันที่ 28 มิ.ย.นี้ รับบริการตรวจสุขภาพ อาทิ ตรวจประเมินภาวะสมองเสื่อม ตรวจวัดความแข็งแรงของหลอดเลือดแดง เสวนาให้ความรู้ รวมถึงการออกบูธรักสุขภาพ ฯลฯ เวลา 09.00-15.00 น.ณ โถงอาคาร ๑๐๐ ปี สมเด็จพระศรีนครินทร์ รพ.ศิริราช และชมนิทรรศการความร่วมมือระหว่างมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์และประเทศไทยเกือบศตวรรษ ที่หอประชุมราชแพทยาลัย รพ.ศิริราช


กำลังโหลดความคิดเห็น