นายกฯปู ผุดโครงการฝากท้องทุกที่ฟรีทุกสิทธิ์ เริ่ม 14 ส.ค.เป็นต้นไป หลังพบหญิงไทยฝากท้องอายุครรภ์น้อยกว่า 12 สัปดาห์ เพียงร้อยละ 53 เท่านั้น “หมอประดิษฐ” ชี้ฝากครรภ์ช้าเสี่ยงสารพัดโรค เหตุรู้ช้า เผยขยายกลุ่มคนต่างด้าวที่ซื้อประกันด้วย หวังป้องกันโรคอุบัติซ้ำ ด้าน สปสช.ฟุ้งพัฒนาเป็นระบบออนไลน์ หมอดูข้อมูลฝากครรภ์ได้แม้คลอดต่างโรงพยาบาล
วันนี้ (14 ส.ค.) ที่โรงพยาบาลราชวิถี กทม. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดตัวโครงการฝากท้องทุกที่ฟรีทุกสิทธิ์ ด้วยบัตรสุขภาพแม่และเด็ก (Health Card For Mother&Child) ว่า รัฐบาลมีนโยบายพัฒนาคุณภาพและการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของประชาชนทุกสิทธิอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม โดยปี 2556 ได้จัดทำโครงการฝากท้องทุกที่ ฟรีทุกสิทธิ์ ถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวันแม่แห่งชาติประจำปี 2556 และพัฒนาคุณภาพประชากรไทย สอดคล้องกับโครงการเพื่อเด็กและสตรี (Every Women Every Child :EWEC) ขององค์การสหประชาชาติในการลดอัตราการเสียชีวิตของสตรีและเด็กทั่วโลกลงให้ได้จำนวน 16 ล้านคน ภายในปี 2558 โดยรัฐบาลมุ่งเน้นการปรับปรุงคุณภาพการให้บริการดูแลแม่และเด็ก และส่งเสริมให้หญิงตั้งครรภ์ไทยทุกสิทธิ์ที่มีปีละประมาณ 800,000 คน เข้าถึงบริการอย่างเท่าเทียม ตามนโยบาย แม่คลอด ลูกรอด ปลอดภัย เท่าเทียมทั่วถึง เนื่องจากข้อมูลทั่วโลกระบุอย่างชัดเจนว่าการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็กวัย 0-5 ปี เป็นหัวใจของความสำเร็จในการพัฒนาประเทศ
น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวอีกว่า ตามโครงการนี้ หญิงตั้งครรภ์ทุกคน ทุกสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นโครงการ 30 บาท ประกันสังคม และข้าราชการ สามารถฝากครรภ์ที่สถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ จากเดิมที่หญิงตั้งครรภ์ในโครงการ 30 บาท และประกันสังคม ต้องฝากครรภ์ที่สถานพยาบาลที่ระบุในสัญญา หากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขก็จะต้องเสียเงินเอง ทำให้ไปฝากท้องเมื่ออายุครรภ์น้อยกว่าหรือเท่ากับ 12 สัปดาห์มีเพียงร้อยละ 53 ซึ่งการฝากครรภ์ช้า จะไม่สามารถค้นหาแก้ไขความผิดปกติได้ทัน ส่งผลให้เด็กไทยแรกเกิดมีต้นทุนชีวิตต่ำ เกิดมาไม่สมบูรณ์ โครงการนี้จึงเป็นการลงทุนสร้างต้นทุนชีวิตเด็กไทยตั้งแต่อยู่ในครรภ์ให้มีสุขภาพแข็งแรง ปลอดโรคพันธุกรรม ไร้พิการ อีคิว ไอคิวเกิน 100 มีผลตั้งแต่ 14 ส.ค.เป็นต้นไป โดยหญิงตั้งครรภ์จะได้รับบริการฝากครรภ์ 5 ครั้งตามมาตรฐานสากล ส่วนเด็กจะได้รับการดูแลต่อเนื่องจนถึงอายุ 6 ปี ได้รับวัคซีนป้องกันโรค การติดตามพัฒนาการ ไอคิว และอีคิว
ด้าน นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า การฝากครรภ์ช้าส่งผลการพัฒนาเด็ก ได้แก่ แม่มีอัตราการขาดสารไอโอดีนร้อยละ 53 ภาวะโลหิตจางร้อยละ 18 พบทารกแรกเกิดน้ำหนักตัวน้อยกว่า 2,500 กรัม ร้อยละ 8 ทารกแรกเกิดมีภาวะดาวน์ซินโดรม 1.25:1,000 การเกิดมีชีพ เป็นโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง 6:1,000 การเกิดมีชีพ ภาวะพร่องไทรอยด์แต่กำเนิด 6:1,000 การเกิดมีชีพ เด็กติดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกร้อยละ 2.2 เด็กกินนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน เพียงร้อยละ 54 หรือประมาณ 430,000 คน และเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี มีพัฒนาการสมวัยเพียงร้อยละ 70 การแก้ปัญหาลำดับแรกคือให้คนเหล่านี้เข้าถึงสิทธิในการฝากครรภ์ก่อน และประชาสัมพันธ์ให้รู้ว่าท่านมีสิทธิ โดยขยายบริการให้ฝากครรภ์ได้ทุกที่ ทุกสิทธิ รวมไปถึงคนต่างด้าวด้วย แต่จะได้สิทธิโดยการซื้อประกัน เพราะหากเราไม่ดูแลกลุ่มนี้จะกลายเป็นปัญหาสาธารณสุขได้ จากการคลอดที่ไม่ถูกต้อง หรือมาคลอดเยอะ ไม่ได้รับการวัคซีนที่ถูกต้องและเกิดปัญหาโรคระบาดในที่สุด
นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ.กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้วางระบบมาตรฐานของการดูแลหญิงตั้งครรภ์และบุตร 4 จุดตามมาตรฐานสากล ได้แก่ การฝากครรภ์คุณภาพ ต้องครบ 5 ครั้งตามมาตรฐานสากล เริ่มครั้งที่ 1 อายุครรภ์น้อยกว่าหรือเท่ากับ 12 สัปดาห์ และ 18, 26, 32 และ 38 สัปดาห์ ระบบห้องคลอด การบริบาลทารกแรกเกิด และการดูแลสุขภาพเด็กแรกเกิดจนถึง 5 ขวบ เพื่อให้เด็กเติบโตสมวัย ได้รับวัคซีนครบถ้วน มีไอคิวมากกว่า 100 และอีคิวมาตรฐาน ในรายที่มีพัฒนาการล่าช้าจะได้รับการแก้ไขทันที
ด้าน นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในการบันทึกข้อมูลการฝากครรภ์และดูแลสุขภาพเด็ก สปสช.ได้พัฒนาให้เป็นแบบออนไลน์ แพทย์ติดตามประวัติและผลการฝากครรภ์ของแม่และเด็ก แม้ว่าจะไม่ใช่สถานฝากครรภ์เดิมก็ตาม เพื่อให้บริการต่อเนื่อง และมีระบบจัดการทางการเงินภายในทั้ง 3 กองทุน ไม่รบกวนผู้ใช้สิทธิ์แต่อย่างใด หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามที่สายด่วน 1330 ตลอด 24 ชั่วโมง