“หมอรัชตะ” สั่งกรมควบคุมโรค คุมเข้มทั้งโรคติดต่อ และโรคเรื้อรัง เน้นปรับเปลี่ยนพฤติกรรมประชาชน จ่อชงแผนควบคุมโรคอีโบลา ทั้งระดุมทุน เวชภัณฑ์ กำลังคน ช่วยเหลือประเทศระบาดต้นทางต่อ ครม. หลังนานาชาติเร่งระดมให้ความช่วยเหลือ เหตุบุคลากรไม่เพียงพอ
วันนี้ (29 ก.ย.) เมื่อเวลา 13.00 น. ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วย สธ. และเดินทางไปตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายแก่ผู้บริหารกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กรมควบคุมโรค (คร.) และกรมอนามัย โดยมีผู้บริหารกรมให้การต้อนรับ
ทั้งนี้ ศ.นพ.รัชตะ ให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า ในส่วนของ คร. นั้น จะเน้นการดำเนินงานใน 2 เรื่อง คือ 1. โรคติดต่อ จะต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งในการเฝ้าระวังโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ และการดูแลโรคติดเชื้อที่สามารถป้องกันได้หรือมีวัคซีนแล้ว และ 2. โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาระโรคของคนไทย และจะเพิ่มตามจำนวนผู้สูงอายุที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการดำเนินงานต้องเน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่างๆ ทั้งอาหารและโภชนาการที่ไม่เหมาะสม การไม่ออกกำลังกาย รวมไปถึงการใช้สารเสพติดทั้งบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะต้องมีระบบเฝ้าระวังและสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งขณะนี้ คร. ก็มีระบบดังกล่าวแล้ว แต่จะต้องดำเนินการประสานและบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ด้วย
“ส่วนการตั้งศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทาง (Excellence Center) ในการรักษาโรคต่างๆ นั้น ซึ่งจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) นั้น ก่อนอื่นจะจะต้องมีการพิจารณาก่อนว่าจะต้องเพิ่มทรัพยากรในส่วนไหนบ้าง ซึ่งจะยังไม่เสนอ ครม. ในช่วงนี้” รมว.สาธารณสุข กล่าวและว่า สำหรับการตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายแก่ สบส. นั้น ที่เน้นคือการทำให้ประชาชนได้รับบริการจากการจัดระบบสุขภาพอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการอาศัยกลไกอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่มีอยู่กว่า 1 ล้านคนทั่วประเทศ ช่วยดูแลสุขภาพประชาชน
ศ.นพ.รัชตะ กล่าวอีกว่า สำหรับประเด็นโรคติดเชื้ออีโบลานั้น เมื่อวันที่ 26 ก.ย. ที่ผ่านมา ตนและ นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดี คร. ได้เดินทางไปร่วมประชุมเกี่ยวกับเรื่องนี้ในการประชุมวาระความมั่นคงด้านสุขภาพของโลก (Global Health Security Agenda : GHSA) ร่วมกับผู้นำองค์กรสุขภาพโลก และนานาชาติกว่า 30 ประเทศ ที่ทำเนียบขาว สหรัฐอเมริกา ในการเร่งพัฒนาสมรรถนะในการป้องกันภาวะคุกคามจากโรคติดต่อและโรคติดต่ออุบัติใหม่ ซึ่งได้ให้ความสำคัญกับการควบคุมโรคอีโบลาใน 4 ประเทศแอฟริกาตะวันตก เนื่องจากปัญหาในการควบคุมโรคอีโบลา คือ ยังไม่มีบุคลากรที่เพียงพอในการดูแลผู้ป่วยได้อย่างเต็มที่ ทั้งๆ ที่การป้องกันคือต้องไปดูแลที่ต้นตอ
“ที่ประชุมมีมติแล้วว่า สหรัฐฯ จะสร้างโรงพยาบาลภาคสนามขนาด 1,700 เตียง และทหารกว่า 3,00 นาย ในการดูแลผู้ป่วย รวมไปถึงอังกฤษด้วย ส่วนบางประเทศขณะนี้ได้ส่งยา เวชภัณฑ์ เงิน และกำลังคนทั้งแพทย์ พยาบาล และนักระบาดวิทยา ไปช่วยเหลือแล้ว เช่น จีน คิวบา และ เยอรมนี ส่วนประเทศไทยพร้อมให้การสนับสนุน โดยจะนำเสนอแผนความช่วยเหลือแก่ประเทศต้นทางการระบาดของโรคแก่ ครม. พิจารณาในวันที่ 1 ต.ค. นี้ โดยเล็งที่จะระดมเงินบริจาค เวชภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งตรงนี้จะต้องมีการหารือกับทางสภากาชาดไทยก่อน รวมไปถึงการขนส่งทางอากาศ และอาสาสมัครด้วย” รมว.สาธารณสุข กล่าว
ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า ในการประชุมยังมีการหารือถึงการป้องกันควบคุมปัญหาเชื้อจุลชีพดื้อยาปฏิชีวนะด้วย ซึ่งกำลังเป็นปัญหาทั่วโลกในหลายโรค เช่น วัณโรค มาลาเรีย หนองใน เอชไอวี และไข้หวัดใหญ่ สธ. ได้แต่งตั้ง นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ นพ.โสภณ เป็นผู้ประสานงานหลักในการดำเนินงานเรื่องนี้
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีกลุ่มเภสัชกรจะเดินทางมายื่นหนังสือคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ ต่อ รมว.สาธารณสุข ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า คงต้องขอรับฟังก่อนว่ากลุ่มเภสัชกรมีความคิดเห็นอย่างไร จากนั้นจึงค่อยดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
นพ.โสภณ กล่าวว่า สถาบันบำราศนราดูร จะเป็นศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางในการดูแลควบคุมโรคอีโบลาและโรคติดเชื้ออื่นๆ ที่รักษาได้ยาก ส่วนสถาบันราชประชาสมาสัย สิ่จะดูแลในเรื่องผลกระทบและโรคที่เกิดจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมต่างๆ แต่จะต้องมีการพัฒนาบุคลากรเพิ่มเติมต่อไปด้วย
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่