xs
xsm
sm
md
lg

ไทยตกภาวะเปิดหลักสูตรเฟ้อ “กฤษณพงศ์” แนะเพิ่มอำนาจ กกอ.อนุมัติหลักสูตร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“กฤษณพงศ์” เล็งเพิ่มใน ร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา ให้อำนาจ กกอ. เข้ามามีส่วนพิจารณาการเปิดหลักสูตรของสถาบันอุดมศึกษา ชี้ปัจจุบันอุดมศึกษาไทยตกเกิดภาวะเปิดหลักสูตรเฟ้อ มีทั้งมหา’ลัยเปิดใหม่ หลักสูตรใหม่โดยที่ไม่สามารถควบคุมได้ ระบุรอบ 10 ปี มีบัณฑิต ป.ตรี 2 ใน 3 หรือ 1.5 แสนคนต้องตกงานในปีแรก

วันนี้ (25 ก.ย.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) นายกฤษณพงศ์ กีรติกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับ รศ.นพ.กำจร ตติยกวี เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (เลขาธิการ กกอ.) รศ.คุณหญิง สุมณฑา พรหมบุญ ประธานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) และ ศ.วิชัย ริ้วตระกูล รองประธาน กกอ. เพื่อหารือถึงทิศทางการทำงานและการพัฒนาอุดมศึกษา ว่า ได้หารือกับ กกอ. เกี่ยวกับการสร้างกลไกของ กกอ. เข้าไปดูแลการเปิดหลักสูตรของสถาบันอุดมศึกษา เพราะปัจจุบัน มีการเปิดมหาวิทยาลัยใหม่ เปิดหลักสูตรใหม่อย่างไม่มีขีดจำกัดและไม่สามารถที่จะหยุดยั้งได้ ทำให้การเปิดหลักสูตรของสถาบันอุดมศึกษาจึงอยู่ในภาวะที่เฟ้อ

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ จากข้อมูลในรอบดู 10 ปีที่ผ่านมาพบว่า ผู้ที่จบปริญญาตรี 3 คน สามารถหางานทำได้ในปีแรกเพียง 1 คนเท่านั้นอีก 2 คนตกงาน โดยรวมแต่ละปีจะมีบัณฑิตที่ไม่สามารถหางานทำทันที่สำเร็จการศึกษาถึง 150,000 คน และยังมีอีกจำนวนมากที่ทำงานต่ำกว่าวุฒิ ได้รายได้ต่ำกว่าวุฒิ ทั้งหมดนี้เพราะมีการเปิดสาขาวิชาที่มากเกินไปและไม่ตรงกับความต้องการของตลาด รวมถึงยังมีปัญหาในเรื่องของคุณภาพด้วย ทำให้บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษา ไม่สามารถหางานทำได้

ทั้งหมดนี้เป็นความเสี่ยงในเชิงยุทธศาสตร์ของประเทศและผู้เรียน เฉลี่ยแล้วผู้เรียนจะต้องเสียค่าใช้จ่ายตลอดการเรียนปริญญาตรี ประมาน 3-4 แสนบาทต่อคนเป็นอย่างต่ำ แต่เรียนจบออกมาแล้วกลับไม่สามารถหางานได้ปีละ 150,000 คน รวมๆ แล้วเป็นตัวเลขความสูญเสียที่มหาศาลของผู้เรียนและผู้ปกครอง ขณะที่รัฐเองก็สูญเสียด้วย ในฐานะที่เป็นผู้สนับสนุนงบประมานให้กับมหาวิทยาลัย รวมถึงสนับสนุนงบประมานให้กับกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) แต่มหาวิทยาลัยกลับผลิตกำลังคนไม่ตรงกับความต้องการของประเทศ ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องแรกที่จะเข้าไปแก้ปัญหา ประเด็นหลัก ก็คือต้องทำให้ กกอ.ต้องมีบทบาทในการอนุมัติการเปิดหลักสูตรให้ได้ โดยพิจารณาจากความต้องการของประเทศ ปัจจุบัน กกอ.ไม่มีอำนาจเลย การตัดสินใจเปิดหลักสูตรขึ้นอยู่กับสภามหาวิทยาลัย เพราะฉะนั้นไปดูในร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา ที่กำลังดำเนินการอยู่ว่ามีข้อกำหนดเกี่ยวกับเรื่องหลักสูตรเช่นไร โดยจะเสนอให้อำนาจ กกอ.ได้เข้ามามีอำนาจในการอนุมัติหลักสูตรด้วย” นายกฤษณพงศ์ กล่าว

นายกฤษณพงศ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนั้น อาจจะหาทางให้มหาวิทยาลัยต้องแจ้งข้อมูลต่อสาธารณะเกี่ยวกับตัวเลขการมีงานทำของบัณฑิตที่จบสาขาวิชาต่างๆ รวมถึงอัตราเงินที่บัณฑิตได้รับจริง ปัจจุบันแม้แต่รัฐมนตรีก็ไม่มีอำนาจสั่งให้มหาวิทยาลัยชี้แจ้งข้อมูลดังกล่าว รวมถึงให้มหาลัยแจ้งรายได้จากการเปิดหลักสูตรต่างๆ ด้วย แต่ถ้าสามารถทำให้มหาวิทยาลัยเปิดเผยข้อมูลนำข้อมูล จะทำให้ผู้เรียนและผู้ปกครองได้รับการคุ้มครองอย่างมาก มีโอกาสที่จะได้รู้ข้อมูลก่อนตัดสินใจเลือกเรียน ว่า สาขาวิชาต่างๆ เรียนจบแล้วมีงานทำหรือไม่

“ส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการเบี้ยวหนี้ในการกู้เงิน กยศ. ก็เป็นเพราะมหาวิทยาลัยเปิดหลักสูตรเฟ้อ บัณฑิตจบออกมาแล้วก็ไม่มีงานทำ เพราะฉะนั้นอยากให้มหาลัยเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะทั้งหมด มหาวิทยาลัยไม่ควรจะมีรายได้ในในขณะที่ลูกศิษย์ตัวเองต้องตกงานและเป็นหนี้ มหาลัยมีรายได้ แต่ผู้เรียนและรัฐเสียประโยชน์ เพราะฉะนั้นต้องลดการสูญเปล่าก่อน จากนั้นค่อยผลักดันให้มหาวิทยาลัยตอบโจทย์ในทางที่ถูกต้อง คือ สนองความต้องการของประเทศและพื้นที่ และมีส่วนในการสร้างเศรษฐกิจและสังคม”

ดร.กฤษณพงศ์ กล่าวต่อว่า ในด้านของการ Re profile มหาวิทยาลัยนั้น จะต้องมีการทบทวนการทำงานของมหาวิทยาลัยไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการผลิตบัณฑิตที่ตรงตามเป้ามหาลัยและประเทศ การทำงานวิจัยเพื่อการพัฒนา และรวมไปถึงหลักธรรมาภิบาลกับการทำงานของมหาวิทยาลัย และก็ยังมีการพูดถึงเรื่องการพัฒนาครู เพื่อพัฒนาการศึกษาให้มีความก้าวหน้า และ เรื่องของการสอบรับตรงของมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่จะมีการพูดคุยกับในอีก 2 อาทิตย์ข้างหน้า
 
 

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่




กำลังโหลดความคิดเห็น