xs
xsm
sm
md
lg

ศธ.ขอโอกาสเด็กอาชีวะเป็นมัคคุเทศก์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศธ. เตรียมเพิ่มชั่วโมงพลศึกษาเป็น 2 ชม. ต่อสัปดาห์ พร้อมเสนอ กท. กฎหมายเกี่ยวข้องปลดล็อกเพิ่มโอกาสเด็กอาชีวะได้เข้าสู่เส้นทางมัคคุเทศก์

วันนี้ (16 ก.ย.) ที่กระทรวงศึกษาธิการ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับ นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กท.) เพื่อหาแนวทางการปรับหลักสูตรพลศึกษาและการส่งเสริมศักยภาพผู้เรียนในสาขาวิทยาศาสตร์การกีฬา และการเพิ่มจำนวนมัคคุเทศก์ ว่า ที่ประชุมเห็นชอบและมอบให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปดำเนินการเพิ่มชั่วโมงพลศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามที่ กท. ได้เสนอขอให้ปรับเพิ่มเวลาเรียนวิชาพลศึกษา เป็น 2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์จากเดิม 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งให้เริ่มดำเนินการทันทีในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2557

“แม้จะมีการปรับเพิ่มจำนวนชั่วโมงพลศึกษาแต่จะไม่กระทบกับโครงสร้างเวลาเรียนอย่างแน่นอน เพราะสามารถปรับลดเวลาในบางวิชาลงได้ ซึ่งเรื่องสุขภาพพลานามัยของเด็กนั้นเป็นเรื่องสำคัญและต้องมีการวางรากฐานดีมาแต่เด็ก ซึ่งจากนี้ผู้เกี่ยวข้องก็จะต้องมาหารือร่วมกันว่าวิชาใดที่ควรจะต้องปรับลดเวลาเรียนลง ทั้งนี้ จะทำทั้งสองอย่างควบคู่กันไปทั้งการให้ความรู้และการดูแลสุขภาพแต่จะคำนึงถึงคุณภาพโดยรวมไม่ใช่การยัดเยียดให้เด็ก” รมว.ศึกษาธิการ กล่าวและว่า ส่วนปัญหาครูพลศึกษานั้น เบื้องต้น ได้ขอความร่วมมือจากทาง กท. เป็นหน่วยเคลื่อนที่เร็วในการจัดกิจกรรมอบรมและพัฒนาครูในโรงเรียนของ สพฐ. ให้มีความรู้เข้าใจ รู้เทคนิคในการสอนวิชาพลศึกษาอย่างปลอดภัยให้แก่เด็ก เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาขาดแคลนครูพลศึกษาของ ศธ.

พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ได้หารือเรื่องการเพิ่มจำนวนมัคคุเทศก์ ซึ่งเป็นที่ต้องการอย่างมาก แต่ที่ผ่านมา พ.ร.บ.ธุรกิจท่องเที่ยวและมัคคุเทศก์ ปี 2551 ได้กำหนดให้ผู้จบปริญญาตรีมาเป็นมัคคุเทศก์ได้ แต่ ศธ. มองว่าความจริงแล้วผู้จะเป็นมัคคุเทศก์ไม่จำเป็นต้องจบระดับ ป.ตรี หรือเฉพาะด้านหากแต่ต้องการคนที่มีความรู้ ความสามารถ และมีประสบการณ์และสามารถสื่อสารได้มาทำหน้าที่ ขณะเดียวกัน ยังมีนักศึกษาอาชีวศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ที่เรียนในสาขาท่องเที่ยวด้วย เพราะฉะนั้น จึงได้ขอให้ทาง กท. ไปแก้ข้อกฎหมายฉบับดังกล่าว เพื่อปลดล็อคให้กับนักศึกษา ปวส.ที่ไม่ได้จบสายปริญญาตรีมาเป็นมัคคุเทศก์ได้

ด้าน นางกอบกาญจน์ กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ลงทะเบียนเป็นมัคคุเทศก์กับกระทรวงการท่องเที่ยวฯ จำนวน 50,000 คน แต่ทำงานจริงเพียง 10,000 คน ซึ่งถือว่ายังขาดแคลนอาชีพมัคคุเทศก์อยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะภาษาที่สาม เช่น ภาษาจีน ญี่ปุ่น เยอรมัน และรัสเซีย เป็นต้น ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าการปลดล็อกกฎหมายจะช่วยเติมเต็มในเรื่องนี้ได้อย่างแน่นอน

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น