xs
xsm
sm
md
lg

ปรับวิธีจ่าย “พาราฯ” เลิก 2 เม็ด กินทุก 4 ชม. เหลือเม็ดเดียว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ห่วงกินยาพาราฯ 2 เม็ด ยังเสี่ยงได้รับยาเกินขนาด จ่อลงนาม MOU สธ.- สปสช. อย. และ รพ. ส่งเสริมใช้ยาสมเหตุผล จี้แพทย์ปรับเกณฑ์จ่ายยาพาราฯ ให้ผู้หญิงกินครั้งละ 1 เม็ด ทุก 6 ชั่วโมง ผู้ชายตามการพิจารณา จากเดิมจ่าย 2 เม็ด กินทุก 4 ชั่วโมง พร้อมดันเป็นเกณฑ์ตรวจมาตรฐาน รพ.

นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ เครือข่ายโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ประกอบด้วย โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) โรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) และเครือข่ายโรงเรียนแพทย์ กว่า 50 แห่ง ได้หารือถึงการใช้ยาพาราเซตามอลโดยที่ประชุมเห็นว่า ประเทศไทยมีการขายยาพาราฯ หลายขนาด โดยเฉพาะขนาด 650 มิลลิกรัม ทำให้มีความเสี่ยงได้รับยาเกินขนาดและเป็นพิษต่อตับ เนื่องจากเกณฑ์มาตรฐานการรับยาพาราฯ ไม่ควรเกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน แต่คนไทยชอบกินยาพาราฯ ครั้งละ 2 เม็ด ซึ่งหากเป็นพาราฯขนาด 650 มิลลิกรัม กิน 2 เม็ด ก็จะได้รับยาเกินขนาด

นพ.พิสนธิ์ กล่าวว่า การขับเคลื่อนเรื่องนี้ที่ประชุมเห็นว่าให้เริ่มส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลที่โรงพยาบาลก่อน โดยกำหนดการเขียนรายงานการสั่งยาของแพทย์ให้จ่ายยาพาราฯ แก่ผู้ป่วยหญิงจำนวน 1 เม็ด รับประทานทุก 6 ชั่วโมง ส่วนผู้ป่วยชายให้พิจารณาเป็นรายบุคคล จากเดิมที่เขียนสั่งจ่ายยาพาราฯ ให้ผู้ป่วย 2 เม็ดรับประทานทุก 4 ชั่วโมง นอกจากนี้ ให้เขียนกำกับบนฉลากยาด้วยว่าห้ามใช้ยาพาราฯ เกิน 8 เม็ดต่อวัน เพราะเป็นพิษต่อตับ

“หลังจากสร้างโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาสมเหตุผลเป็นต้นแบบแล้ว จะเสนอสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) ให้บรรจุการใช้ยาสมเหตุผลเป็นหนึ่งหลักเกณฑ์ประเมินคุณภาพโรงพยาบาลด้วย โดยวันที่ 15 ต.ค. จะมีการพิจารณาความคืบหน้าเรื่องนี้ และวันที่ 29 ต.ค. จะมีพิธีลงนามความร่วมมือเรื่องการใช้ยาสมเหตุผลในโรงพยาบาล ระหว่าง ผอ.รพ. ส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)” นพ.พิสนธิ์ กล่าว

นพ.พิสนธิ์ กล่าวว่า หลังจากขับเคลื่อนเรื่องการใช้ยาพาราฯ อย่างสมเหตุผลมาตลอด พบว่า มีความเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก อย่าง อย. ได้มีการจัดทำเอกสารกำกับยาอย่างละเอียดและถูกต้อง ด้วยการกำหนดอัตราการใช้ยาที่เหมาะสมกับน้ำหนักตัว แทนการกำหนดอายุ จัดทำเอกสารกำกับยาสำหรับประชาชนให้สามารถใช้ยาได้อย่างเหมาะสม เอกสารกำกับยาสำหรับแพทย์ ซึ่งขณะนี้ดำเนินการเรียบร้อยแล้วอยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์ก่อนประกาศใช้อย่างเป็นทางการ

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น