xs
xsm
sm
md
lg

ปูทางความรู้ นักเรียนพยาบาล เข้าใจระบบสิทธิหลักประกันสุขภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในโรงพยาบาลนอกจาก “แพทย์” ซึ่งมีความสำคัญที่สุดแล้ว “พยาบาล” ก็มีบทบาทและความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ทั้งเป็นด่านแรกที่ต้องรับหน้า “ผู้ป่วย” ตั้งแต่เข้ามารอรับการรักษาและต้องดูแลต่อเนื่องหากผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยให้พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลด้วย จึงจำเป็นอย่างที่พยาบาลทุกคนควรต้องมีความรู้และเข้าใจถึงสิทธิการรักษาพยาบาลผู้ป่วย เพื่อสามารถให้บริการและดูแลผู้ป่วยให้เข้าถึงสิทธิรักษาพยายาบาลที่ผู้ป่วยมีได้อย่างถูกต้อง

“มาถึงวันนี้การเรียนการสอนต้องมาคิดใหม่ในเรื่องของความเป็นมนุษย์ เรื่องของทางสังคม ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา พยาบาลที่มีหน้าที่ดูแลผู้ป่วยก็ควรต้องรู้ว่าจะทำอย่างไรให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงบริการ รวมทั้งเข้าใจในข้อจำกัดของผู้ป่วยในแต่ละด้าน ดังนั้น จึงต้องมาทบทวนหลักสูตรการเรียนการสอนใหม่ โดยเฉพาะในเรื่องของสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ของของสำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) แม้จะเป็นเรื่องเดิมๆ ที่นักเรียนพยาบาลต้องเรียนอยู่แล้วแต่ก็มีเนื้อหาแทรกอยู่น้อยมากจนแทบไม่ปรากฏ แต่ส่วนตัวมองว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้นนักเรียนควรเรียนต่อเนื่องทุกชั้นปีให้เด็กได้ซึมซับความรู้ เข้าใจและไม่หลงลืม เป็นการตระหนักเพื่อผู้รับบริการมากที่สุดนางพรรณิภา ทองณรงค์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น กล่าว

นางพรรณิภา อธิบายว่า ก่อนหน้านี้ ได้เห็นตัวอย่างจากวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี อุดรธานี ที่จัดการเรียนการสอนหลักสูตรผลิตพยาบาลหลักประกันสุขภาพ มีหน่วยการเรียน 2 หน่วยกิต พัฒนาเนื้อหาเกี่ยวกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาเป็นทำเป็นรายวิชาของหลักสูตร แต่สำหรับ วพบ.ขอนแก่น ตนในฐานะที่เป็นคณะกรรมการบริหารหลักสูตร ทราบดีว่าเรามีข้อจำกัดเพราะหลักสูตรของเราเพิ่งได้รับการอนุมัติไปเมื่อปี 2555 จึงไม่สามารถเพิ่มหลักสูตรได้ เพราะฉะนั้น จึงใช้วิธีบูรณาการการจัดการเรียนการสอนให้กับนักเรียนทั้ง 4 ชั้นปีโดยใช้แนวคิดหลักประกันสุขภาพซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สปสช. เขต 7 ขอนแก่น มาช่วยวางแผนพัฒนาตลอดหลักสูตรและมาช่วยจัดอบรมให้กับนักเรียน

ในปีการศึกษา 2557 เป็นปีแรกที่นำหลักสูตรฯ ไปใช้บูรณาการสอนกับนักเรียนพยาบาลทั้ง 4 ชั้นปี จำนวน 485 คนยังคงหน่วยกิตการเรียนไว้ที่ 2 หน่วยกิตซึ่งการเรียนโดยใช้แนวคิดหลักประกันสุขภาพของวิทยาลัยนั้น จะประกอบด้วย 5 หมวดหลัก คือ ได้แก่ หมวดที่ 1 ปรัชญาแนวคิดของการประกันสุขภาพ, หมวดที่ 2 ระบบหลักประกันสุขภาพไทย, หมวดที่ 3 การบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า, หมวดที่ 4 บทบาทของพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในบริการทุกระดับ ได้แก่ ปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ และหมวดที่ 5 ผลของการประกันสุขภาพต่อระบบสุขภาพ โดยขณะนี้ได้มอบให้แต่ละภาควิชานำไปดำเนินการ ส่วนความรู้อื่นๆ ที่สำคัญก็จะมีทั้งเชิญทาง สปสช. มาบรรยายรวมถึงอัพเดตจากเว็บไซต์ของ สปสช. ด้วย

“เราจะบูรณาการทั้ง 5 หมวดวิชากับการสอนแต่ละชั้นปีโดยให้นำหนักแตกต่างกันไป เช่น ในชั้นปีที่ 1 จะเน้นการเรื่องพื้นฐานในหมวดที่ 1-3 ส่วนชั้นปีที่ 2 จะเน้นเรื่องบทบาทของพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพในทุกระดับในหมวดที่ 4 ซึ่งจะนำไปบูรณาการกับจริยธรรมกฎหมาย เศรษฐศาสตร์ระบบสุขภาพ ชั้นปีที่ 3 จะเน้นหมวดที่ 5 เรื่องผลของระบบหลักประกันสุขภาภาพต่อระบบสุขภาพ และเมื่อขึ้นชั้นปีที่ 4 นักเรียนซึ่งพร้อมจะออกไปให้บริการประชาชนจะต้องมีทักษะในการดูแลผู้ป่วยและปกป้องสิทธิผู้ป่วยด้วยความเอื้ออาทร แต่แม้จะกำหนดจุดเน้นแต่ละปีว่าต้องเรียนอะไรเราก็จะวิเคราะห์ความขาดด้วยแล้วให้อาจารย์ผู้สอนสอนเสริมเพิ่มเติม นอกจากนี้ จะพานักเรียนไปศึกษาดูงานหลักประกันสุขภาพเพิ่มเติมและในช่วงท้ายของการเรียนก็จะให้แต่ละชั้นปีจัดนิทรรศการเพื่อเป็นการประเมินความรู้ด้วย” นางพรรณิภา กล่าว

เช่นเดียวกับ อาจารย์ เสาวลักษณ์ แย้มตรี คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย กล่าวว่า คณะพยาบาลฯ ได้ร่วมมือกับ สปสช. ทำวิจัยโครงการจัดการเรียรการสอนแบบบูรณาการโดยใช้แนวคิดหลักประกันสุขภาพ แต่สำหรับในปีการศึกษา 2557 ซึ่งขณะนี้เปิดภาคเรียนแล้วนักเรียนพยาบาลทุกคนในทุกชั้นปีก็จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับสิทธิหลักประกันสุขภาพ โดยจะนำไปบูรณาการกับการเรียนการสอนวิชาต่างๆ และมีจุดเน้นแตกต่างกันไปในแต่ละชั้นปี เช่น ชั้นปีที่ 1 จะเน้นแนวคิด ปรัชญาเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม โดยบทบาทหน้าที่ฐานะผู้ให้ความรู้ถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องส่งเสริมให้นักเรียนพยาบาลได้เกิดการเรียนรู้และเข้าใจในทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพพยาบาล อีกทั้งปัญหาที่เราทราบกันดีเกี่ยวกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือ ประชาชนขาดความรู้ บางรายไม่รู้สิทธิที่มี รวมถึงไม่เคยรู้ว่าสิทธิที่มีเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง ทำให้โอกาสเข้าถึงการรักษาพยาบาลตามสิทธิจึงยากหรือเข้าไม่ถึงสิทธิ เพราะไม่ทราบเลย ดังนั้น ตนจึงเห็นว่าการสนับสนุนให้นักเรียนพยาบาลได้เรียนรู้เพื่อประโยชน์ทั้งต่อตัวนักเรียนเมื่อจบไปทำงาน และยังเอื้อประโยชน์ไปยังประชาชนผู้รับบริการด้วย
 
 

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น