xs
xsm
sm
md
lg

ใครบอกว่า “เด็กพิเศษ” พัฒนาไม่ได้ / ดร.แพง ชินพงศ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“เด็กพิเศษ” หรือถ้าให้เรียกกันเต็มๆ ก็คือ “เด็กที่มีความต้องการพิเศษ” (Children with Special Needs) หมายถึงเด็กที่มีความบกพร่องและข้อจำกัดในด้านร่างกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญา

กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดประเภทและหลักเกณฑ์ของคนพิการทางการศึกษา มีดังต่อไปนี้

1. บุคคลที่มีความบกพร่องทางการเห็น
2. บุคคลที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน
3. บุคคลที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา
4. บุคคลที่มีความบกพร่องทางร่างกาย หรือการเคลื่อนไหว หรือสุขภาพ
5. บุคคลที่มีปัญหาทางการเรียนรู้
6. บุคคลที่มีความบกพร่องทางการพูดและภาษา
7. บุคคลที่มีปัญหาทางพฤติกรรม หรืออารมณ์
8. บุคคลออทิสติก
9. บุคคลพิการซ้อน

ในปัจจุบันสังคมไทยเปิดกว้างและยอมรับในเรื่องของเด็กพิเศษมากขึ้น เพราะแท้จริงแล้ว หากศึกษาถึงวิธีการอยู่ร่วมและพัฒนาศักยภาพของเด็กพิเศษอย่างจริงจัง จะพบว่าเด็กพิเศษนั้นสามารถพัฒนาได้ แต่ต้องมีการพัฒนาอย่างถูกต้องและต่อเนื่อง ดังนี้

1. ดูแลด้วยรัก ผู้เขียนเชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนที่มีลูกเป็นเด็กพิเศษย่อมจะมีความวิตกกังวล ความเครียด อีกทั้งความเบื่อหน่ายไม่มากก็น้อยรวมอยู่ด้วย แต่อย่าลืมว่าความรักนั้นเป็นเหมือนยาวิเศษที่มีพลังแห่งความอบอุ่น ที่ช่วยสร้างความมั่นคงในจิตใจให้กับเด็ก ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยเสริมแรงก้าวแรกที่จะทำให้เด็กพิเศษได้รับการพัฒนาให้ได้ผลดียิ่งขึ้น 

2. ฝึกทักษะการช่วยเหลือตนเอง เป็นทักษะพื้นฐานที่ต้องสอนให้เด็กพิเศษทำให้ได้ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องใช้ความอดทนมากในช่วงแรกๆ ทักษะพื้นฐานที่ตัองฝึกให้กับเด็กพิเศษนั้นสามารถทำได้ด้วยตนเองได้แก่ การอาบน้ำ การแปรงฟัน การแต่งตัว การรับประทานอาหาร ซึ่งเมื่อเทียบกับเด็กปกติทั่วไปแล้ว ในการฝึกให้เด็กพิเศษรู้จักการดูแลช่วยเหลือตนเองขั้นพื้นฐานเหล่านี้คงจะต้องใช้เวลานานและต้องฝึกให้ทำซ้ำๆ บ่อยๆ คุณพ่อคุณแม่อย่าเพิ่งเบื่อหน่ายหรือถอดใจยอมแพ้เสียก่อนจะฝึกได้สำเร็จ เพราะการฝึกให้เด็กพิเศษช่วยเหลือตนเองได้ดีนั้นนอกจากจะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับเขาแล้ว ยังทำให้เขาไม่ต้องเป็นภาระกับคนอื่นอีกด้วย

3. ฝึกทักษะทางด้านสติปัญญา คุณพ่อคุณแม่ควรฝึกใหัเด็กพิเศษได้เรียนรู้ในการสื่อสารกับผู้อื่นตามระดับสติปัญญาของเด็ก ทั้งในเรื่องภาษาท่าทาง ภาษาพูด การอ่านและการเขียน อีกทั้งในเรื่องของการนับจำนวนบวก ลบ คูณ หาร

นอกจากนี้ การให้เด็กพิเศษได้ทำกิจกรรมเสริมทักษะ อย่างเช่น กิจกรรมศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นการวาดรูป ระบายสี ปั้นแป้งโด ประดิษฐ์สิ่งของจากวัสดุเหลือใช้ จะช่วยพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการของเด็กได้เป็นอย่างดี หรือการให้เด็กพิเศษได้ทำกิจกรรมดนตรี เช่น ร้องเพลง เคลื่อนไหวร่างกายตามจังหวะดนตรี เล่นเครื่องดนตรี ซึ่งนอกจากจะช่วยส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ของเด็กได้ดีแล้ว ยังช่วยพัฒนาอารมณ์และกล่อมเกลาจิตใจของเด็กให้อ่อนโยนอีกด้วย

จากประสบการณ์ส่วนตัวที่ต้องเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับเด็กพิเศษมาตลอด ได้พบว่าเด็กพิเศษทุกประเภทสามารถพัฒนาได้เพียงแต่คุณพ่อคุณแม่ต้องใจเย็น อดทนและท่องคาถาไว้ในใจเสมอว่า “เราต้องสู้” อีกทั้งคุณพ่อคุณแม่ต้องมีความรักและเข้าใจกันและกันให้มากๆ คอยเป็นกำลังใจให้กัน อย่าท้อแท้ อย่าโทษตนเอง อย่าโทษกันหรือโทษสิ่งใดว่ามาทำให้ลูกของเราเป็นเช่นนี้ แต่ให้ทำหน้าที่ของความเป็นพ่อและแม่ของเขาอย่างดีที่สุดในการดูแลให้ความรักและความอบอุ่น ฝึกให้เขามีทักษะในการช่วยเหลือตนเอง ส่งเสริมให้เขาได้ทำกิจกรรมที่พัฒนาสติปัญญารอบด้าน เพื่อที่เขาจะมีชีวิตดำเนินอยู่ในโลกนี้ได้อย่างมีความสุขและไม่เป็นภาระของใคร

ก่อนจบผู้เขียนอยากจะฝากคำพูดของคุณแม่ท่านหนึ่งที่พูดถึงลูกที่เป็นดาวน์ซินโดรมว่า “แม้ว่าบางครั้งจะเหนื่อยและท้อแท้ แต่ก็ไม่เคยน้อยใจหรือเสียใจแม้แต่ครั้งเดียวที่มีลูกที่เป็นแบบนี้ และด้วยความรักของแม่คนนึ้ ก็จะเลี้ยงดูลูกให้เติบโตและใช้ชีวิตอยู่ในสังคมนี้ได้อย่างมีความสุข และไม่ให้มีใครมารังแก เพราะไม่ว่าลูกจะเป็นอย่างไร ลูกก็คือดวงใจของแม่เสมอ”
 
 
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่




กำลังโหลดความคิดเห็น