จากกรณีสามี - ภรรยาชาวออสเตรเลียว่าจ้างให้สาวไทยอุ้มบุญ แต่กลับไม่รับเลี้ยงเมื่อรู้ว่าเด็กเป็นดาวน์ซินโดรม แม้ล่าสุดจะได้รับการบริจาคช่วยเหลือเป็นจำนวนมาก แต่ปัญหาธุรกิจ “อุ้มบุญเถื่อน” ก็ยังคงมีอยู่อีกทั้งยังฝังรากลึกอยู่ในประเทศไทย กลายเป็นอุตสาหกรรมแพทย์เชิงพาณิชย์ผิดศีลธรรมที่ยังคงดำรงอยู่อย่างเฟื่องฟู จนล่าสุดพบว่ามีมูลค่าสูงกว่า 4 พันล้านบาทต่อปี
ไทยแลนด์แดนอุ้มบุญเถื่อน
โดยทั่วไปแล้วการอุ้มบุญหรือตั้งครรภ์แทนนั้นมักใช้เพื่อแก้ไขปัญหาการมีลูกของสตรีที่มีปัญหา ซึ่งโดยหลักการแล้วมีกำหนดว่า การอุ้มบุญนั้นไม่สามารถทำในเชิงพาณิชย์ได้ และมีกำหนดกฎเกณฑ์ไว้ว่า ต้องใช้อสุจิหรือไข่ของคู่สามี - ภรรยาที่ต้องการบุตร และผู้อุ้มบุญต้องเป็นญาติสามี - ภรรยาคู่นั้นด้วย ทว่า ในประเทศไทยกฎหมายเข้าไม่ถึงการกระทำผิดนั้น
ที่ผ่านมาข่าวการอุ้มบุญเถื่อนจึงมีเกิดขึ้นในประเทศไทยอยู่เรื่อยๆ กรณีใหญ่ๆ ที่เคยเกิดขึ้นและถูกจับกุมได้ในประเทศไทยนั้น คือกรณีที่ “โหลว เสียง หลง” ชาวฮ่องกงที่มาเปิดบริษัทให้บริการอุ้มบุญในประเทศไทย ในครั้งนั้นมีการบริการผ่านเว็บไซต์ให้ชาวฮ่องกงที่มีลูกยากสามารถใช้บริการอุ้มบุญโดยเลือกใช้สเปิร์มของตัวเองหรือผู้อื่น ทั้งยังมีการให้เลือกใช้ไข่ของหญิงไทย เวียดนาม และกัมพูชาที่คัดหน้าตามาอย่างดีแล้วอีกด้วย
นายแพทย์กำธร พฤกษานานนท์ ประธานอนุกรรมการเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย เผยว่า กระบวนการทั้งหมดมีขั้นตอนเริ่มตั้งแต่การเปิดเว็บไซต์ให้บริการ โดยในประเทศไทยนั้นถือเป็นแหล่งรวมใหญ่ของการอุ้มบุญเถื่อนที่มีทั้งคนไทยและชาวต่างชาติมาเปิดให้บริการ เพียงเปิดเว็บไซค์ได้รับการติดต่อ ก็ดำเนินการหาเซลล์สืบพันธุ์ อสุจิ หาไข่ และหาแม่อุ้มบุญซึ่งอาจเป็นแรงงานต่างด้าวหรือคนไทย ทั้งนี้คนไทยหลายคนก็ยังเข้าใจกันว่าการรับจ้างอุ้มบุญนั้นไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย
“แค่เปิดเว็บไซต์ขึ้นมาแล้วพอมีคนมาจ้าง มาจ่ายเงิน ก็ไปเอาเซลล์สืบพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นอสุจิ ไข่หรือตัวอ่อน ใส่ในมดลูกของผู้หญิงคนหนึ่งแล้วให้อุ้มท้องจนเป็นตัวเด็ก พอได้เป็นตัวเด็กแล้วก็จ่ายเงินให้ครบแล้วก็อุ้มเด็กกลับ หลังจากนั้นก็ไปแจ้งสัญชาติซึ่งโดยมากก็แล้วแต่กระบวนการของแต่ละประเทศ”
การที่ประเทศไทยกลายเป็นแหล่งรวมตัวของธุรกิจอุ้มบุญเถื่อนนั้น มาจากการตีความกฎหมายบางข้อที่มีอยู่แล้ว แต่กลับถูกตีความให้ประโยชน์ตกอยู่กับฝ่ายที่ทำผิดกฎหมาย
“กฎหมายไม่ให้มีการอุ้มบุญเถื่อนนั้นมีอยู่แล้ว แต่ต้องทำให้ชัดเจนขึ้น ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้คือผู้กระทำผิดสามารถรอดพ้นกฎหมายไปได้จากหลายๆ สาเหตุด้วยกัน”
จนถึงตอนนี้ประเทศอินเดียเคยเป็นแหล่งที่มีการอุ้มบุญเถื่อนกันมากที่สุด แต่ก็มีมาตรการในการป้องกันมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นจนสามารถหลุดพ้นจากปัญหาดังกล่าวได้แล้ว
“ประเทศอินเดียมีเยอะมาก ต่อมาทางอินเดียเขาประกาศมาตราการต่างๆ อย่างเข้มงวด คู่เกย์อะไรก็ทำไม่ได้ ข้อบังคับมีมากมายเยอะแยะไปหมด แล้วก็ประกาศว่า มันเป็นความผิดและจะไม่ออกวีซ่าให้ผู้ที่ทำอย่างนี้ด้วย มันก็ชัดเจนกันไป เขาก็หลบกันมาทำที่ประเทศไทยแทน”
ถึงตอนนี้นายแพทย์กำธร เผยว่า การให้บริการลักษณะนี้มีมากในประเทศไทย แต่กลับไม่มีในประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่า กัมพูชา หรือเวียดนาม กระทั่งจีนเพราะถือว่าผิดกฎหมาย
“ตอนนี้อาจจะมีหมู่เกาะอะไรบ้างนิดหน่อย หรือบางประเทศในแถบรัสเซีย แต่มีน้อยมาก”
ความผิดที่รอดพ้นกฎหมาย
สถานการณ์ปัจจุบันของการทำธุรกิจอุ้มบุญเถื่อนในประเทศไทยนั้นมีมากขึ้นจากการติดต่อสื่อสารที่รวดเร็วส่งถึงกัน ทำให้เมื่อรู้ว่าประเทศไทยมีจุดอ่อน ชาวต่างชาติก็ต่างแห่กันเข้ามาดำเนินการในประเทศไทยทั้งเปิดสถานให้บริการ และเข้ามาใช้บริการเอง โดยมีการทำให้ผู้มาใช้บริการเข้าใจว่า การอุ้มบุญเถื่อนในประเทศไทยนั้นไม่ผิดกฎหมาย
“การอุ้มบุญอาจจะเป็นที่เข้าใจไปว่า ประเทศไทยไม่มีกฎหมายดูแลเรื่องมาตรฐานจริยธรรม ทำให้มีผู้เอาตรงนี้ไปใช้ประโยชน์ทางการค้า คือมีการลงเว็บไซต์ต่างๆ เต็มไปหมดที่อ้างว่า ประเทศไทยไม่มีกฎหมายและสามารถดำเนินการได้ตามที่อยากจะทำ” ประธานอนุกรรมการเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ คนเดิมเผย
แม้ว่าแท้จริงแล้วประเทศไทยจะมีกฎหมายโดยมีการระบุไว้ในประกาศแพทยสภาถึง 2 ฉบับด้วยกันซึ่งครอบคลุมปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว แต่กลับถูกทำให้ชาวต่างชาติและคนไทยบางส่วนเข้าใจว่าไม่มีกฎหมายห้ามไว้
“อาจจะเป็นด้วยว่า ในประเทศไทยเราเองนั้นกระบวนการบังคับใช้มันอาจจะไม่ค่อยแข็งแรงเพราะมันไม่เคยมีกระบวนการที่จะตามจับ หรือเอาใครเข้าคุก หรือดูแลตรงนี้เข้มงวดจริงจัง ประกอบกับบางทีมันมีการตีความตัวหนังสือในทางที่อาจจะได้ประโยชน์กับทางผู้ที่กระทำผิดด้วย ก็เลยทำให้มันเป็นช่องโหว่”
ประเด็นที่เป็นปัญหา เขาเผยว่า ประเด็นแรกคือ ลักษณะการจ้างอุ้มบุญซึ่งในต่างประเทศมองว่า เป็นการค้ามนุษย์ ขณะที่ประเทศไทยมีการตีความว่า เป็นความยินยอมรับจ้าง ไม่มีการบังคับจึงไม่เป็นการค้ามนุษย์ โดยเขาเห็นว่า การตีความดังกล่าวเป็นการเปิดช่องโหว่ที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย
“สมมติว่าอาจจะเป็นคู่เกย์หรือใครก็ตามเอาเงินมาให้ผู้หญิงแล้วผู้หญิงก็ส่งมอบเด็กให้ อันนี้หลายประเทศเขาจะมองว่าเป็นการค้ามนุษย์ แต่บ้านเราบังเอิญไปมองว่า ถ้าไม่ได้บังคับก็ไม่เป็นการค้ามนุษย์ซึ่งเป็นการเอาตัวหนังสือในกฎหมายมาตีความ ไม่ได้ดูที่พฤติกรรมโดยหลัก ถ้ารับเงินยินยอมก็ไม่ได้ค้ามนุษย์ ประเด็นนี้ก็ต้องมีการถกเถียงกันในเชิงสังคม”
ยังมีประเด็นเรื่องกฎดังกล่าวนั้นเป็นประกาศแพทยสภาซึ่งลงในพระราชกิจจานุเบกษาซึ่งมีผลบังคับใช้คล้ายกฎหมายทั่วๆ ไป แต่แพทยสภามีอำนาจดูแลเฉพาะผู้ที่เป็นแพทย์หรือผู้ที่เกี่ยวข้องตรงกับแพทย์เท่านั้น
“ดังนั้น ก็ตีความได้ว่า ผู้ที่ไม่เป็นแพทย์ก็สามารถเข้ามาดำเนินการตรงนี้ มันไปตีความเป็นอย่างนั้น ซึ่งในความเป็นจริงแม้คนที่ทำตรงนี้แม้จะไม่ใช่แพทย์ แต่ยังไงแพทย์ก็ต้องมีส่วนรู้เห็นเป็นใจหรือมีส่วนร่วมในกระบวนการ
“ถ้าแพทย์ไม่มีส่วนมันก็ไปไม่ได้ ยังไงมันก็ไม่ครบวงจร เช่น เขาจะได้ไข่มาจากไหน ได้มาแล้วจะเอาไปใส่ให้ใคร มันก็ต้องมีส่วนเกี่ยวข้องกันระดับหนึ่ง แต่พวกเราไปตีความกันว่า แพทยสภาไม่มีอำนาจไปใช้กับคนอื่น ฉะนั้นใครจะไปตั้งร้านขายไข่ ขายเด็ก ขายตัวอ่อนก็ไม่ผิด หรือที่นักกฎหมายบอกว่า ถ้าเขาขายเด็กแต่เขาไม่บังคับก็ไม่ผิด เพราะเขียนว่า การค้ามนุษย์ต้องมีการบังคับ ถ้าไม่บังคับเขาได้รับเงินเป็นที่พอใจมันก็ไม่ผิด มันก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจเหมือนกัน มันใช่เจตนารมณ์ของกฎหมายหรือไม่ในประเด็นของพ.ร.บ.การค้ามนุษย์”
เงินตราแลกชีวิต
กระบวนการหลายอย่างยังมีความไม่ชอบมาพากล ทั้งการที่แพทย์มีส่วนรู้เห็นแต่กลับไม่ผิดกฎหมาย และการนำเด็กคนหนึ่งกลับประเทศไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้โดยง่าย นายแพทย์กำธร มองว่า อาจมีกระบวนการอยู่เบื้องหลังที่ทำให้การอุ้มบุญเถื่อนเป็นไปอย่างราบรื่นในเมืองไทย เพราะตามกฎหมายไทยก็มีการระบุว่า ลูกเป็นของผู้ที่คลอด แม้จะมีเจ้าของไข่ - อสุจิเป็นผู้ว่าจ้างก็ตาม
“กรณีนี้สมมติเรามีเด็ก 2 คน ผู้ว่าจ้างบอกว่าเป็นลูกของเขาเพราะเขาเป็นเจ้าของไข่ - อสุจิ แต่กฎหมายไทยไม่ได้รับเรื่องนี้แต่ถือว่าผู้ที่คลอดเป็นมารดาที่ชอบด้วยกฎหมาย คือยังเป็นของคนที่คลอดอยู่ดี ดังนั้นการที่อยู่ๆ เขาจะอุ้มเด็กคนหนึ่งออกไปมันก็ไม่น่าจะง่ายนักไม่งั้นก็ยุ่งกันใหญ่ คนต่างชาติมาเที่ยวเมืองไทยเอาเงินให้แม่แล้วก็เอาเด็กกลับไปคนหนึ่ง มันไม่น่าจะง่ายอย่างนั้น”
โดยในประเทศไทยเขาเผยว่า มีการโฆษณากันอย่างโจ่งแจ้ง เพียงเสิร์ชหาคำว่า ขายไข่ - อสุจิ - อุ้มบุญ หรือภาษาอังกฤษ “Surrogacy” ก็จะเจอเว็บไซต์ให้บริการที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยแล้ว
“ปัจจุบันมีมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเดี๋ยวนี้ข้อมูลข่าวสารมันถึงกัน พอเขาทราบว่าจุดอ่อนอยู่ที่ประเทศไทยเขาก็แห่กันมาก เพราะมันทำเงินมหาศาลมากๆ การทำอุ้มบุญเถื่อนตอนนี้เท่าที่ทราบคิดค่าบริการสูงถึง 1 ถึง 1.6 ล้านบาท ขณะที่การอุ้มบุญแบบถูกกฎหมายซึ่งมีสาเหตุทางการแพทย์นั้นโรงพยาบาลรัฐบาลจะอยู่ที่ 8 หมื่นถึง 1 แสนบาท และเอกชนอยู่ที่ 2 ถึง 5 แสนบาท”
….
“การอุ้มบุญเถื่อน” อาจเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมเถื่อนที่สร้าง “ชื่อเสีย”ให้ประเทศไทยในระดับโลก ความพยายามในการขุดรากถอนโคนสิ่งที่ฝังรากลึกจำเป็นต้องใช้เวลา อาจเป็นอีกหลายปีแต่จุดเริ่มจากกระแสที่ชาวโลกจับจ้องอาจเป็นสิ่งกระตุ้นที่ทำให้วันนั้นมาถึงเร็วขึ้นก็เป็นได้
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE
ตามมา Follow Instagram และ Facebook Fanpage
"ASTV ผู้จัดการ Live" กันได้ที่นี่!!
**สามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754