xs
xsm
sm
md
lg

In Pics : พ่อฝรั่งเปิดปากโต้สาวไทย “ไม่เคยรับรู้ว่ามี “น้องแกมมี” อยู่อีกคน” - รบ.ออสซีเล็ง “อาจให้สัญชาติ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ - หลังจากข่าวภัทรมน จันทร์บัว วัย 21 ปี คุณแม่อุ้มบุญในไทยต้องแบกภาระรับเลี้ยงน้องแกมมี ทารกผิวขาวเพศชายที่ป่วยเป็นโรคดาวน์ซินโดรม ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า สองสามีภรรยานิรนามจากรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลียที่ว่าจ้างเธอตั้งท้องปฎิเสธที่จะรับแกมมีกลับประเทศ แต่รับไปเพียงฝาแฝดหญิงที่มีสุขภาพสมบูรณ์ ล่าสุดพ่อชาวออสเตรเลียออกมาเปิดใจโต้ว่า “สำนักงานจัดการอุ้มบุญไม่เคยเปิดเผยให้ทราบว่าเขามีลูกชายฝาแฝดอยู่อีกคน” ด้านรัฐบาลออสเตรเลียของโทนี แอบบ็อต มีแนวคิดอาจเข้าแทรกแซงคดีนี้ พร้อมพิจารณาว่าแกมมีอาจอยู่ในข่ายต้องได้รับสัญชาติออสเตรเลีย

เดอะ การ์เดียน สื่ออังกฤษ รายงานในวันจันทร์(4)ว่า หลังจากข่าวการให้สัมภาษณ์ของภัทรมน จันทร์บัว วัย 21 ปี คุณแม่อุ้มบุญในไทยที่ต้องการอุปการะ “แกมมี” ทารกเพศชายผิวขาวที่ป่วยเป็นโรคดาวน์ซินโดรม และเปิดเผยถึงเรื่องสะเทือนใจไปทั่วโลกที่ทำให้สกอตต์ มอร์ริสัน รัฐมนตรีกระทรวงคนเข้าเมืองออสเตรเลีย ต้องตั้งคำถามถึงธุรกิจการรับจ้างตั้งครรภ์และจริยธรรมในเรื่องนี้ ทำให้ล่าสุดบิดามารดาตามสายเลือดของน้องแกมมีในรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลียออกมาตอบโต้ พร้อมปฎิเสธข่าวว่าไม่ได้ทอดทิ้งฝาแฝดชายไว้ในไทยที่ขณะนี้ต้องอยู่ในโรงพยาบาลเพื่อรักษาโรคปอดอักเสบ รวมไปถึงต้องเข้ารับผ่าตัดโรคหัวใจแต่อย่างใด

พ่อชาวออสเตรเลียที่ไม่เปิดเผยชื่อให้สัมภาษณ์กับช่อง 9 นิวส์ และเอบีซี สื่อออสเตรเลียว่า นายแพทย์ประจำคลีนิกอุ้มบุญที่จัดหาผู้รับอุ้มบุญให้ได้แจ้งให้เขาทราบถึงทารกเพศหญิงที่คลอดออกมาในไทย พร้อมยังกล่าวว่าสำนักงานอุ้มบุญที่เป็นตัวกลางติดต่อภัทรมน จันทร์บัวให้รับทำหน้าที่เป็นคุณแม่รับตั้งท้องแทนปิดกิจการไปแล้ว โดยพ่อตามสายเลือดของแกมมีให้สัมภาษณ์กับช่อง 9 ว่า พวกเขามีลูกสาวที่มีอายุเท่ากับน้องแกมมี และเด็กคนนี้มาจากการอุ้มบุญ แต่ลูกสาวนั้นไม่มีฝาแฝด พร้อมกับบรรยายความรู้สึกของการใช้บริการผ่านธุรกิจรับอุ้มบุญว่า “เหมือนฝันร้าย” นอกจากนี้ยังย้ำว่า ได้ดูภาพภัทรมนผู้รับเป็นแม่อุ้มบุญผ่านทางภาพข่าวโทรทัศน์แต่เขายืนยันว่า หญิงชาวไทยที่รับจ้างอุ้มบุญให้กับเขาไม่ใช่ภัทรมนแน่นอน และผู้สื่อข่าวช่อง 9 นิวส์ได้ตรวจเอกสารสูติบัตรของบุตรสาวของชายผู้นี้ และพบว่าวันเกิดของเด็กทารกหญิงและแกมมีเป็นวันเดียวกัน และยังพบว่าชื่สกุลอของแม่ผู้ให้กำเนิดในไทยและชื่อสกุลบนสูติบัตรนั้นเป็นคนละชื่อกัน แต่ชื่อสกุลของแม่บนสูติบัตรนั้นเป็นชื่อก่อนแต่งงาน

แต่การให้สัมภาษณ์กลับขัดแย้งกับภัทรมนที่เป็นผู้รับจ้างการตั้งครรภ์ที่ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวแฟร์แฟกซ์ว่า สองสามีภรรยาชาวออสเตรเลียนั้นพักอยู่ในไทยเป็นเดือนหลังจากที่เธอได้คลอดฝาแฝดที่โรงพยาบาล และฝาแฝดหญิงนั้นนอนเคียงข้างกับน้องแกมมี และพ่อชาวออสเตรเลียในวัย 50ปีของแกมมีไม่เคยมองแกมมีและไม่เคยอุ้มแกมมีแม้เพียงแค่ครั้งเดียวในช่วงเวลาที่เขาและภรรยาที่มีเชื้อสายเอเชียพักอยู่ในเมืองไทย และคนทั้งคู่ได้บอกเธอว่า พวกเขาสูงวัยเกินกว่าที่จะดูแลแกมมีได้

GoFundMe เว็บไซต์ที่เป็นตัวกลางขอรับบริจาคจากโลกออนไลน์เพื่อช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลให้กับน้องแกมมีหลังจากเรื่องได้ถูกเปิดเผยในสัปดาห์ก่อนหน้านี้สามารถระดมทุนได้มากกว่า 200,000 ดอลลาร์ ทั้งนี้ผู้จัดการระดมทุนได้ขอให้องค์กรที่ไม่หวังผลกำไร Hands Across the Water  เป็นผู้จัดการเรื่องเงินบริจาค ซึ่งปีเตอร์ เบเนส (Peter Baines) ผู้ก่อตั้ง Hands Across the Water กล่าวว่า การจัดการของทางมูลนิธิจะไม่ใช่เสมือนแค่จ่ายเช็คเงินสดให้กับครอบครัวชาวไทยที่เป็นผู้อุ้มบุญ "เราพิจารณาถึงค่ารักษาพยาบาลเร่งด่วนที่แกมมีต้องเข้ารับรักษา และต่อจากนั้นในอีก 2-3 สัปดาห์ข้างหน้าจะมีการวางแผนการรับมือในระยะยาวต่อไป" เบเนสแถลงกับการ์เดียน ออสเตรเลีย

เบเนสจะพบกับครอบครัวของภัทรมนที่เป็นผู้รับผิดชอบแกมมีจากการการนัดหมายล่วงหน้ามภายในเดือนนี้ เพื่อจะหารือถึงแผนการจัดการรักษาพยาบาลและการศึกษาของน้องแกมมีในอนาคต และคาดว่าจะมีการเปิดบัญชีกองทุนของแกมมีเพื่อรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของแกมมีที่จะเกิดขึ้นในอนาคต “มันจะเป็นการสมควรหรือที่จะยื่นเช็คเงินสดมูลค่า 10,000 ดอลลาร์ให้กับครอบครัวคนไทยของแกมมี แต่ผมไม่คิดเช่นนั้น” เบเนสกล่าว และเปิดเผยต่อว่า เขารู้ว่าใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง GoFundMe แต่ไม่สามารถเปิดเผยต่อสู่สาธารณะได้ “เนื่องจากเหตุผลด้านตำแหน่งหน้าที่การงานของผู้อยู่เบื้องหลังเว็บไซต์นี้ทำให้ต้องเก็บเป็นความลับ และในครั้งแรกบุคคลกลุ่มนี้สามารถระดมทุนในไทยได้ถึง 6,000 ดอลลาร์ และร้องขอให้ทางเราสานต่อ” เบเนสกล่าว และให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมถึงยอดบริจาคล่าสุดว่า “สามารถระดมทุนได้สูงกว่า 200,000 ดอลลาร์ ซึ่งสูงกว่าที่เราคาดไว้มาก โดย GoFundMe ได้โพสต์ข้อความในวันนี้(4)ว่า “ยอดบริจาคนั้นได้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้แล้วด้วยตัวเลขจำนวน 6 หลัก นี่ถือเป็นโปรเจกต์ที่ทำให้พวกเราทีมงานมีความสุขมาก และเราอยากจะรู้ว่าตัวเลขยอดสุดท้ายของจำนวนเงินบริจาคทั้งหมดที่เข้ามาจะสูงแค่ไหน นี่ถือเป็นพลังของผู้คนที่พยายามอย่างสูงสุด! เพราะเราไม่ได้ตั้งเป้าว่านี่เป็นเพียงโปรเจกต์ระยะสั้น จากการที่เราและท่านร่วมมือกันทำให้ทางทีมงานตั้งความหวังว่าจะสามารถทำให้ชีวิตของแกมมีเติบโตขึ้นมาด้วยความรัก ความเอาใจใส่ และการยอมรับ”

อย่างไรก็ตามเบเนสให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า เขาไม่ทราบถึงข่าวรายงานว่า บิดามารดาชาวออสเตรเลียไม่เคยทราบถึง "น้องแกมมี” ที่เป็นฝาแฝดอีกคนว่าได้ถือกำเนิดพร้อมกับบุตรสาวฝาแฝดที่คนทั้งคู่รับกลับไป “จากมุมมองของเรา นี่เป็นเรื่องของแต่ละฝ่ายที่ทางเราไม่สนใจที่จะติดตาม” เบเนสกล่าว และให้รายละเอียดเพิ่มเติมถึงโครงสร้างการบริหารจัดการทุนบริจาคที่รับมาว่า จะมีการตั้งอนุกรรมการขึ้นที่ประกอบไปด้วยผู้ระดมทุนและตัวแทนจากกลุ่มโรคดาวน์ซินโดรมเพื่อขอคำแนะนำในการใช้จ่ายเพื่อความเหมาะสมต่อไป

ด้านภัทรมน คุณแม่อุ้มบุญน้องแกมมีให้สัมภาษณ์ว่า เธอคาดหวังว่าจะนำเรื่องสำนักงานจัดการอุ้มบุญแจ้งต่อตำรวจในวันจันทร์(4) แต่ทว่าจนกระทั่งถึงวินาทีนี้เธอยังไม่ได้ติดต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยแต่อย่างใด ภัทรมนต้องการหาทนายความเพื่อขอคำปรึกษาด้านกฎหมายเสียก่อน

ด้านสื่อออสเตรเลีย news.com.au รายงานวันนี้(4)ว่า สกอตต์ มอร์ริสัน รัฐมนตรีกระทรวงคนเข้าเมืองออสเตรเลียให้สัมภาษณ์กับสถานีวิทยุเรดิโอ 2จีบีในวันจันทร์(4)ว่า ภัทรมนถือเป็นวีรสตรีและนักบุญในเรื่องนี้ ซึ่งกฎหมายที่เกี่ยวข้องในคดรอุ้มบุญนั้นมีความสลับซับซ้อนมาก “เรากำลังเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมของอีกประเทศหนึ่ง แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องบุคคลที่เราต้องให้ความเคารพในสิทธิส่วนตัวมาก ดังนั้นในรายละเอียดปลีกย่อยจึงไม่อาจเปิดเผยต่อสาธารณะได้” มอร์ริสันกล่าว และภายหลังกระทรวงคนเข้าเมืองของออสเตรเลียออกแถลงการณ์ว่า “แกมมีอาจเข้าข่ายได้รับสัญชาติออสเตรเลีย” ซึ่งพลเมืองออสเตรเลียจะได้รับการรักษาพยาบาลฟรีในประเทศ

ภัทรมน จันทร์บัว วัย 21 ปี คุณแม่อุ้มบุญในไทยพร้อมทั้งบุตรชายและน้องแกมมี




ครอบครัวคนไทยที่ต้องการรับอุปการะน้องแกมมี
 GoFundMe เว็บไซต์ที่เป็นตัวกลางขอรับบริจาคจากโลกออนไลน์เพื่อช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลให้กับน้องแกมมีหลังจากเรื่องได้ถูกเปิดเผยในสัปดาห์ก่อนหน้านี้สามารถระดมทุนได้ถึง 200,000ดอลลาร์ ซึ่งผู้ที่อยู่เบื้องหลังGoFundMe  ไม่ต้องการเปิดเผยตัวสู่สาธารณะ ทั้งนี้ผู้จัดการระดมทุนได้ขอให้องค์กรที่ไม่หวังผลกำไร Hands Across the Water  เป็นผู้จัดการเรื่องเงินบริจาค
ธุรกิจการรับอุ้มบุญในอินเดียที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น